“เทพมนตรี” ร่ายยาว ปี 41 ไทยออกกฤษฎีกาเขาวิหาร เขมรรู้ดีได้สิทธิเฉพาะตัวปราสาท ปี 51 “รบ.ชวน” ทำเอ็มโอยู เขมรรุกคืบล้ำแดน ปี46 ผุดแนวคิดพัฒนาร่วมกัน นายทหารไทยจัดพื้นที่ให้เช่าบล็อกละ 30,000 บาท จนเกิดชุมชนเขมร วัด ปี 51เกิดจอยส์คอมมูนิเก้ แต่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามใช้ ถึงยุค “รบ.มาร์ค” มีโอกาสใช้เวทีอาเซียนให้ไทยหลุดพ้นความอัปยศ แต่ไม่ใช้จนนำไปสู่การเจรพหุภาคี
วันที่ 4 เม.ย. 2554 บนเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ กล่าวถึงวิวัฒนาการความขัดแย้งปราสาทเขาวิหาร ว่า หลังจากศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พูดเราสูญเสียเฉพาะตัวปราสาทชั่วคราว เพราะเรายังสงวนสิทธิไว้ ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็รู้ขอบเขตตัวเองดี ทำให้เห็นภาพนโรดมสีหนุเข้าชมเขาวิหารด้วยการไต่ขึ้นทางหน้าผา ต่อมา พ.ศ. 2541 พรรคประชาธิปัตย์ออกพระราชกฤษฏีกาเขาวิหาร โดยทำแผนที่แนบท้ายบอกชัดเจนเขตอุทยานแห่งชาติเขาวิหาร อยู่รอบพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เหลือไว้เพียงพื้นที่ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กันรั้วลวดหนามเอาไว้ประมาณไร่กว่าๆ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ย่อมรู้ดีถึงขอบเขต และไม่มีวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ถึงได้กล้าเอาพระราชกฤษฎีกาไปให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ต่อมา พ.ศ. 2543 นายชวน และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เดินทางไปเซ็นเอ็มโอยู 43 ที่ประเทศกัมพูชา จนเกิดวิกฤตกัมพูชารุกคืบ ชาวเขมรที่เคยอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองจานเลยอยู่ยาว จนกระทั่งนายวาร์ คิมฮง เริ่มคิดเมื่อมีเอ็มโอยู 43 ต้องเจรจาหลักเขตแดนใหม่ ก็ส่งกำลังทหารขึ้นไปยึดปราสาทตาเมือนธม ตาควาย จนไทยต้องส่งกำลังสุรนารีผลักดันให้ทหารเขมรลงมา
จากนั้นปลายปี 46 เกิดโครงการแผนพัฒนาปราสาทเขาวิหารร่วมกัน เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เปิดให้มีการทองเที่ยวอย่างถาวร กัมพูชาเริ่มคิดว่าเขาควรได้ครอบครองเขาวิหารเสียที ทำให้ สีหนุ ปรากาศพระราชกฤษฏีกาครองเขาวิหาร ระบุใช้ แผนที่ 1 : 200,000 กำหนดขอบเขตกินพื้นที่ทับอุทยานแห่งชาติ ทำให้กัมพูชาอพยพผู้คนขึ้นมาเรื่อยๆ
เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มบูม ประกอบกับการพยายามผลักดันให้เป็นโปรเจกต์ร่วมกันในการบริหาร นายทหารไทยกลุ่มหนึ่งหัวใสแบ่งพื้นที่บริเวณตลาดเป็นบล็อก บล็อกละ 30,000 บาท ทำให้กัมพูชาอยู่ยาว ทั้งนี้เมื่อชาวกัมพูชาขึ้นมาอยู่เยอะขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ปลายปี 46 จึงริเริ่มสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมา ชื่อวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ หากถามว่าพระมาจากไหน ก็เขมรแถวนั้นแหละ ส่วนเป็นวัดจริงหรือไม่ขอตั้งข้อสังเกต หากเรียกว่าวัดต้องมีใบอนุญาตให้สร้างวัด แต่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระไม่มี ด้วยเหตุนี้ทำให้เมื่อเหตุการณ์ขึ้นไทยจึงตกอยู่ภาวะน้ำท่วมปาก
นายเทพมนตรีกล่าวต่อว่า หลังจานั้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ไปกอดกับฮุนเซน มีแผนร่วมกันจะพัฒนาบริเวณปราสาท ทำให้มีบริษัทรับเหมาโบราณสถานของไทย เสนอตัวจะบูรณะปราสาทให้ แต่ฮุนเซนบอกไม่เอาทำให้โครงการระงับไป อย่างไรก็ดี ต่อมาฮุนเซน เห็นว่าเมื่อสีหนุประกาศกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้วน่าจะไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะองค์กรอัปสรา เป็นองค์กรระดับโลกซึ่งจัดตั้งในนามไอซีซีอังกอร์ โดยรัฐบาลไทยก็สนับสนุน ยูเนสโกจึงทำหนังสือขอให้ไทยเสนอผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมมือกับรัฐบาลฮุนเซนในการจัดตั้งไอซีซีอังกอร์ ทำให้ปัจุบันเรามีผู้แทนไทยอยู่ในไอซีซีอังกอร์ แล้วไอซีซีอังกอร์ก็ดูแลโดยองค์กรอัปสรา ด้วยเหตุนี้ทำให้สีหนุแต่งตั้งฮุนเซนเป็นสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซน
นายเทพมนตรีกล่าวว่า เพราะความโลภมากของกัมพูชา หลังจากนายทหารไทย แบ่งพื้นที่เป็นบล๊อกให้เขมรเช่า ทำให้ผลักดันชาวเขมรออกไปไม่ได้ ทหารในระยะแรกจึงสนับสนุนนายนพดลอย่างสุดลิ่มให้ไปขึ้นทะเบียนปราสาทเขาวิหารร่วมกันกับเขมร โดยการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 มิ.ย. 2551 อย่างไรก็ดี เมื่อกัมพูชาได้เสนอไปยังศูนย์กลางมรดกโลกว่าจะขึ้นทะเบียนปราสาทให้เป็นมรดกโลกเพียงผู้เดียว ได้มีการคัดค้านเกิดขึ้น ทำให้เขมรปรับแผนชวนไทยไปขึ้นทะเบียนร่วม จนเกิดจอยต์คอมมูนิเก โดยนายนพดล ปัทมะ ต่อมา นายปองพล อดิเรกสาร แถลงในปี 2551 ว่าอาจมีมรดกโลกไร้พรมเแดนบริเวณปราสาทเขาวิหาร โดยการเอาอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง ไปเป็นภาพผนวกของเขาวิหาร
นายเทพมนตรีกล่าวว่า ตนมองเห็นการกระทำรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ว่าไม่ยุติธรรมต่อแผ่นดินไทย ที่ไปเห็นดีเห็นงามกับจอยต์คอมมูนิเก เมื่อพันธมิตรฯ ร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว จนกระทั่งศาลสั่งคุ้มครองห้ามใช้จอยต์คอมมูนิเก ถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เรายังยืนยันพื้นที่รอบเขาวิหารเป็นของไทย เห็นได้จากมีหนังสือข้อปฎิบัติที่ยูเนสโกจะขึ้นมาสำรวจ ไทยส่งทหารติดตามยูเนสโกตลอดเวลา
“สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย รู้ทั้งรู้ว่าพื้นที่โดยรอบประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว ก็ยังไปลงนามเอ็มโอยู 43 อีก พอมาถึงสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดแผนพัฒนาร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลนายสมัครเกิดจอยส์คอมมูนิเก้ ทำให้นายนพดล เข้าใจผิดว่าพื้นที่โดยรอบเป็นของคนไทยก็จริงแต่เป็นพื้นที่พิพาท ดังนั้น สำนวนคำว่าพื้นที่พิพาท จึงเกิดในสมัยนายสมัคร เมื่อพิพาทแล้วทำให้นายนพดลบอกออกแผนที่ให้มาเป็นแผนผัง แล้วกันพื้นที่รอบปราสาทไว้ ให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท จึงมีมติครั้งที่ 32 ในการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แต่มีข้อแม้ว่าไทยจะต้องเอาพื้นที่ ทิศเหนือและทิศตะวันตกมาเข้าร่วมกับเขมร”
นายเทพมนตรีกล่าวต่อว่า หลังจากเขมรขึ้นทะเบียนได้ 2 วัน นายธนิต จรุงวัฒน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นแถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศเห็นด้วยกับมรดกโลก ขอให้ไทยจัดตั้งองค์กรไอซีซีร่วมกับเขมร ตรงนี้มีข้อสังเกต ว่า ตลอดเวลาเมื่อขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทสำเร็จ กระทรวงการต่างประเทศคนนี้ ทำผิดคำสั่งศาลปกครองซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามลากนักการเมืองเข้าไปพัวพัน หวังให้นักการเมืองเมื่อรู้ตัวผิดด้วยจะตะแบงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเลยเหตุการณ์นี้ไป จะทำให้รอดจากโทษอาญา แล้วก็รอดจริงๆ เห็นได้จากกรณี คุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล ประธานอนุกรรมการ ป.ป.ช.รู้ว่าเรื่องนี้ผิดแต่ยกเว้นโทษให้กับข้าราชการประจำ โดยอ้างนักการเมืองมีนโยบายเช่นนี้ทำให้ข้าราชจำเป็นต้องสนองนโยบายนักการเมือง แล้วไปเอาผิดกับรัฐบาลนายสมัคร นายสมชาย เท่านั้น พฤติการของประธานอนุกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รักษาสิทธิอำนาจอธิปไตยของไทยเลย ตนจึงบอกว่าคนที่ควรจะผิดมากที่สุดคือข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะหากจะบอกว่าตัวเองจงรักภักดีเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำไมถึงปล่อยให้นักการเมืองจูงจมูกอยู่ได้
“ถ้าหากพวกเราเข้าใจผิด ทำไมสมาชิกรัฐสภาไม่ยอมมายกมือลงมติโหวตเจบีซี แสดงว่าข้อมูลเราถูกต้อง ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป เราไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน นายอภิสิทธิ์ต่างหากที่เปลี่ยนจุดยืน การอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงเป็นฝ่ายค้านก็เอาข้อมูลที่ตนพูดอยู่นี้ไปอภิปราย เวลาที่ไปคุยกับนายอภิสิทธิ์ เขามักพูดอยู่เสมอว่าเป็นความผิดพลาดในรัฐบาลยุคแล้วๆ มา ตนก็อยากบอกว่า เป็นความผิดของนายชวนคนแรก ต่อด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัคร นายสมชาย และนายอภิสิทธิ์ พัฒนาการเช่นนี้ นายอภิสิทธิ์รู้อยู่แก่ใจมาตลอด วันที่ไปเซ็นเอ็มโอยู43 ท่านก็เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่วิกฤติหนักสุดตอนที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ไปรับมติประชุมที่บราซิล โดยไม่เอาเอกสารที่แปลเป็น 3 ภาษาของเราแจกในที่ประชุม อ้างเอกสารไม่ได้แจ้งมรดกโลกล่วงหน้ากลัวเป็นการเสียมารยาท ขณะที่เขมรเพิ่งเขียนผังก่อนเข้าประชุมกลับไม่เสียมารยาท”
นายเทพมนตรีกล่าวต่อว่า การที่นายสุวิทย์เซ็นแผนบริหารจัดการว่ายอมรับแผนบริหารจัดการ แล้วจัดตั้งองค์กรไอซีซีร่วมกัน ส่งผลให้นายมัสสึอุระพยายามผลักดันเต็มที่เพราะเห็นว่าไทยคล้อยตามกัมพูชาที่บราซิลแล้ว เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ ปกปิดมาตลอดจนสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่คณะมนตรีความมั่นคง สู่อาเซียนกลายเป็นพหุภาคี หากถามว่าใครเป็นคนก่อเรื่องนี้ ก็นายอภิสิทธิ์นั่นแหละ ท่านมีโอกาสแก้ไขสองหน ทั้งที่สเปน และบราซิล แต่ไม่ใช้โอกาสนั้นเลย แล้วตอนนี้ท่านกำลังบีบ ผบ.ทบ.ให้ไปประชุมที่อินโดนีเซีย เช่นนั้นตนขอบอก ผบ.ทบ. ให้บอกนายอภิสิทธิ์ว่าจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะบริเวณรอบเขาวิหารมีพระราชกฤษฎีกาเขาวิหารแล้ว ไม่อยากเป็นทหารที่ทรยศประเทศ หากอยากทำก็เชิญไปทำคนเดียว