ในที่สุดนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้เผยตัวตนออกมาให้เห็นจนล่อนจ้อนอีกครั้งกรณีบันทึกการเจรจาของคณะกรรมาธิการเขตแดนไทย-กัมพูชา(เจบีซี) จำนวน 3 ฉบับ ยังไม่ผ่านรัฐสภา เนื่องจากสมาชิกไม่เล่นด้วย ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมจงใจให้องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถลงมติรับรองได้ ต้อง “ค้างเติ่ง” ออกไปอีก
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวานนี้(1 เมษายน) นายกรัฐมนตรีได้ออกมาระบุแล้วว่าในวันอังคารที่ 5 เมษายน จากเดิมมีกำหนดนัดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับทราบบันทึกดังกล่าวอีกครั้ง ก็จะไม่มีการพิจารณา โดยอ้างว่า ประธานรัฐสภา ชัย ชิดชอบ ไม่ได้แจ้งมาให้ทราบ
แม้ว่าพิจารณาเรื่องนี้กันโดยผิวเผินก็คงไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะในเมื่อองค์ประชุมล่ม ก็ต้องเลื่อนโหวต รอสัปดาห์ถัดไปหรือให้ประธานรัฐสภากำหนดวันประชุมใหม่เมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีบันทึกเจบีซี 3 ฉบับดังกล่าวมันย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะมันมีผลเกี่ยวพันตามมาหลายเรื่อง โดยเฉพาะในกรณีการสูญเสียอธิปไตยของชาติตามแนวชายแดนอย่างถาวร มีความผูกพันกับบันทึกความเข้าใจกรณีการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาปี 2543 (เอ็มโอยู43) ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบฝ่ายกัมพูชา สามารถใช้เอ็มโอยูฉบับนี้มาเป็นเครื่องมือไม่ให้ฝ่ายไทยผลักดันออกไปให้พ้นจากเขตแดนไทย เนื่องจากมีข้อตกลงว่าต้องแก้ปัญหาโดยสันติหรือเจรจาเท่านั้น ห้ามใช้กำลัง
ที่ผ่านมาปัญหาที่ลุกลามบานปลายจนถึงปัจจุบันนั้นยังมีเรื่องของผลประโยชน์ในพื้นที่ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ยอมทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ปัจจุบันฝ่ายกัมพูชารุกล้ำเข้ามายึดครองพื้นที่อย่างถาวร และกำลังมีทีท่าว่าจะรุกคืบเข้ามาอีก จากกรณีเอ็มโอยู 43
สำหรับบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับที่กำลังจะให้รัฐสภารับรองนั้น นั้นถือว่าได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จาก นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงขนาดเคยขู่สภาและคนไทยทั่วไปว่าหาก ส.ส.และ ส.ว.ไม่ให้การรับรองโหวตให้ผ่านจะทำให้ฝ่ายกัมพูชายกเอาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกการเจรจาปัญหาชายแดนแบบทวิภาคี โดยจะหันไปดึงเอาประเทศที่3 หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆเข้ามาแทรกแซง รวมไปถึงจะส่งผลกระทบกับการเจรจาเจบีซีครั้งต่อไปที่อินโดนีเซียในวันที่ 7-8 เมษายนนี้
แต่กลายเป็นว่าเวลานี้แม้ว่าบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับยังไม่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาก็ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคใดๆต่อการเจรจาเจบีซีที่กำหนดเอาไว้แล้วที่ประเทศอินโดนีเซียแต่อย่างใดไม่ การประชุมยังสามารถเดินต่อไปได้
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ทำให้มีเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตกันให้ละเอียดก็คือ “สภาล่ม” อันเนื่องมาจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่ง “บอยคอต” ไม่เอาด้วยจึงโดดประชุมทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ต้องเลิกการประชุมในกรณีนี้มาแล้วหลายครั้ง ขณะเดียวกันมีการถามหาความ “รับผิดชอบ” ทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากสภาไม่ให้การรับรองหรือทำให้บันทึกเจบีซีทั้งสามฉบับต้องตกไป ซึ่งหากดูตามแนวโน้มแล้วการประชุมในวันอังคารที่ 5 เมษายนก็มีความเป็นไปได้สูงที่สภาจะล่มซ้ำอีกหรือไม่ผ่าน
นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาบอกกว่า ในวันที่ 5 เมษายนจะไม่มีการพิจารณาบันทึกเจบีซีดังกล่าว แต่ก็ยังเดินหน้าประชุมเจบีซีที่อินโดนีเซียตามกำหนดในวันที่ 7-8 เมษายนต่อไป
ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้าก็จะเดินหน้าผลักดันให้กฎหมายลูกจำนวน 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้รับการเห็นชอบจากสภาให้เสร็จเรียบร้อยให้ได้ เพื่อให้การยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมดำเนินต่อไปได้
สิ่งที่นายกรัฐมนตรีกำลังทำอยู่นี้หากพิจารณาให้ดีมันก็เป็นเพียงแค่กันดันทุรัง และเอาตัวรอดเท่านั้นเอง เพราะเมื่อรู้ว่าไม่สามารถผลักดันบันทึกเจบีซี 3 ฉบับให้ผ่านสภาไปได้ และหากยังให้มีการโหวตซ้ำอีกครั้งในวันที่ 5 เมษายนอาจถูกสมาชิกโหวตสวนหรือองค์ประชุมล่มอีกทำให้ตัวเองต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองออกมา จึงกลับลำ แต่อีกด้านหนึ่งยังเดินหน้า “กลืนน้ำลาย” ถกเจบีซีที่อินโดฯต่อไป ขณะเดียวกันหันมาผลักดันกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับให้ผ่านสภาเพื่อให้ตัวเองได้เป็นคน “กำหนดเกม” ทั้งก่อนและหลังยุบสภาให้ได้
นี่คือตัวตนของ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือดันทุรังเพื่อปกป้องความผิดพลาดของตัวเอง และพวกพ้องเท่านั้น ไม่ได้สนใจถึงผลกระทบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นบ้านเมือง หรือประชาชนคนไทยที่อยู่ข้างหลัง
เพราะสิ่งที่เขาต้องการและเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นก็คือ การปกป้องเอ็มโอยู 43 และการออกกฎหมายลูก 3 ฉบับ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งความหมายก็คือเพื่อหนีสารพัดปัญหาที่รุมเร้า ที่สำคัญใช้การเลือกตั้งเพื่อ “ฟอกตัวเอง” จากความผิดพลาดและความล้มเหลวในอดีตเท่านั้น !!