xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ สมาชิกรัฐสภาคว่ำ-วางเฉย-ยื้อบันทึกเจบีซี!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

วันนี้ (29 มีนาคม) เป็นวันสำคัญอีกครั้ง เนื่องจากเป็นวันที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างบันทึกของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ หลังจากเลื่อนการพิจารณามาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีเสียงคัดค้านทั้งจากภายในและภายนอกสภา

ภายในสภามีฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาหลายคนที่ไม่เห็นด้วย โดยมีความคิดเห็นที่หลากหลาย อยากให้เลื่อนการพิจารณาโดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ บางคนก็อยากให้รอผลการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับประเด็นกฎหมายหลังจากมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งยื่นเรื่องให้ศาลได้ตีความไปแล้วว่าบันทึกเจบีซี 3 ฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองที่รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่

สิ่งที่ต้องจับตากันก็คือ การประชุมรัฐสภาในวันนี้ผลจะออกมาอย่างไร จะออกมาในแบบให้ที่ประชุม “รับทราบ” ตามข้อเสนอของประธานคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา เจริญ คัญธวงศ์ หรือแม้แต่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) วิทยา แก้วภราดัย ที่เคยกล่าวสอดคล้องกัน

หรือจะเห็นตามคำพูดของ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เสนอแบบ “ดึงดัน” ให้สมาชิกรัฐสภา “ลงมติ” ให้ความเห็นชอบ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามกฎหมายก็ต้องบอกว่าสมาชิกรัฐสภาก็มีทางเลือกอยู่สองสามทางเท่านั้น นั่นคือ ลงมติให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบหรือยื้อออกไปอีกหรือไม่เท่านั้น

เพราะหากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 บันทึกการประชุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาประเภทมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตราชอาณาจักรตามมาตรา 190 วรรคสอง และตามนัยคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงจะต้องพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่โดยการลงมติเท่านั้น จะ “รับทราบ” เฉยๆ โดยไม่ลงมติไม่ได้

อย่างไรก็ดี คำถามที่ตามมาก็คือ หากลงมติไปแล้วก็จะเกิดอะไรขึ้นตามมา โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติที่ลงมติเห็นชอบ เพราะนั่นเท่ากับการสนับสนุนการเสียอธิปไตย สร้างความเสียเปรียบให้กับประเทศของตัวเองเหมือนยกดินแดนให้กับกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญเป็นเครื่องมือให้กับนายกรัฐมนตรีในการการันตีและร่วมปกป้องความผิดพลาดจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาปี 2543 (เอ็มโอยู 43)

นอกจากนี้ยังร่วมกันลดทอนศักดิ์ศรีของชาติด้วยการเอาอกเอาใจ “ฮุนเซน” ผู้นำกัมพูชาที่ประกาศข่มขู่เอาไว้ล่วงหน้ามานานแล้วว่า หากรัฐสภาไทยไม่เห็นชอบบันทึก 3 ฉบับของเจบีซี กัมพูชาก็จะไม่เข้าร่วมประชุมครั้งต่อไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งล่าสุดมีการกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะมีการประชุมขึ้นที่อินโดนีเซียในวันที่ 7-8 เมษายน ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังเป็นประเด็นขัดแย้งอันน่า “หวาดเสียว” อีกด้วย

ที่ว่าหวาดเสียวก็คือ หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนออกมาเป็นครั้งแรกแล้วว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีการประชุมทวิภาคีไทย-กัมพูชากันในประเทศที่สาม รวมทั้งไม่ยอมให้อินโดฯเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นท่าทีที่สวนทางกับนายกรัฐมนตรีอย่างชีดเจน

หากพิจารณากันโดยภาพรวมๆก็คือถ้าสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับก็เท่ากับเป็นเครื่องมือให้กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องการปกป้องความผิดพลาดเอ็มโอยู 43 และต้องการเอาใจฮุนเซนเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยและร่วมทำผิดกฎหมายกรณีเปลี่ยนแปลงสภาพอาณาเขต

นั่นเป็นความขัดแย้งและความเคลื่อนไหวภายในสภา!!

ส่วนความเคลื่อนไหวภายนอกสภายังมีกลุ่มคนไทยรักชาติที่ปักหลักชุมนุมคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหากรัฐสภาพิจารณาหรือลงมติเห็น ชอบก็อาจ “เกิดเรื่อง” ขึ้นมาได้ เพราะสาเหตุสำคัญที่สุดเพียงประการเดียวที่คนกลุ่มนี้ต้องออกมาก็เพื่อ “ปกป้องอธิปไตย” ของชาติเท่านั้น

การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาในวันนี้ (29 มีนาคม) ถือว่าเป็นเรื่องการกำหนดอนาคตที่สำคัญทั้งของตัวเอง และของบ้านเมืองว่าจะเป็นเครื่องมือให้กับนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องอธิปไตยของชาติ เพราะต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายขั้นร้ายแรง เนื่องจากทางกลุ่มคนไทยรักชาติได้ส่งหนังสือเตือนพร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้เห็นถึงผลเสียเป็นข้อๆ มาแล้วถึง 3 ครั้ง

ดังนั้นก็ต้องมาจับตาดูกันต่อไปว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นไปทางไหน จะลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรือยื้อโดยการเลื่อนพิจารณาออกไปไม่มีกำหนด!!

กำลังโหลดความคิดเห็น