หวังว่า ถึงวันนี้ รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สายด่วนพิเศษ เอ็กซ์เพรสไลน์ คงจะสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ หลังจาก หยุดวิ่งมานานเกือบสัปดาห์ เพราะต้องถอดเอาอะไหล่บางชิ้น คือ “ แปรงถ่าน” ที่เป็นตัวรับกระแสไฟฟ้าเข้ามาในตัวรถ ไปใส่ให้กับขบวนรถธรรมดา หรือ ซิติ้ไลน์ ที่ แปรงถ่านเสีย และไม่มีอะไหล่สำรองไว้ในสต๊อกแลย ทั้งๆ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ ที่ใช้แล้วต้องสึกหรอ
ข่าวล่าสุดก็คือ ตัวแปรงถ่านที่สั่งซื้ออย่างเร่งด่วนได้มาถึงเมืองไทยแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา คาดว่า จะติดตั้งและเปิดบริการเดินรถตามปกติได้ในวันที่ 1 เมษายน
จากการให้สัมภาณ์ของนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รักษาการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่บริหารโครงการแอร์พอร์ต ลิงก์ ตามปกติรถไฟฟ้าจะต้องมีสต๊อกอะไหล่มูลค่าประมาณ 10% ของราคารถ ไว้รองรับการให้บริการ ซึ่งรถแอร์พอร์ตลิงก์ มีมูลค่าประมาณ 4,650 ล้านบาท จะต้องมีสต๊อกอะไหล่ประมาณ 460 ล้านบาท แต่เนื่องจากในช่วงเริ่มต้นโครงการมีปัญหางบประมาณจึงไม่ได้ทำสัญญาในส่วนนี้ไว้ทำให้ไม่มีสต๊อกอะไหล่ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ขณะนี้ได้ทำแผนเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อของบประมาณ 270 ล้านบาท ในการจัดซื้ออะไหล่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เฉพาะที่ต้องสั่งบริษัทซีเมนส์ ผลิต ซึ่งกระบวนการสั่งซื้อและผลิตใช้เวลาประมาณ 1 ปี
นอกจากปัญหาแปรงถ่านที่สึกหรอเร็วกว่ากำหนด ขณะนี้แอร์พอร์ตลิงก์ยังมีปัญหาที่น่าเป็นห่วง ซึ่งได้แจ้งให้ซีเมนส์เร่งแก้ไขแล้ว เช่น จานเบรกร้าว ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นปัญหาของการตั้งซอฟต์แวร์ระบบการเบรก, ผ้าเบรกมีการสึกในอัตราเร็วกกว่าปกติถึง 2 เท่า แต่ยืนยันว่า การเดินรถให้บริการยังคงมีความปลอดภัย 100% แม้จะมีการตรวจพบอาการผิดปกติต่างๆ เนื่องจากเมื่อมีปัญหาระบบจะแจ้งและทำการหยุดขบวนรถอัตโนมัติทันที
นับตั้งแต่เปิดบริการมาได้ 7 เดือน แม้ว่า แอร์พอร์ตลิงก์ จะทำให้ ผู้ที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงทพ ไม่ไกลจากทางรถไฟสายตะวันออกมากนัก ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่ต้องพบกับปัญหาการจราจรติดขัด แต่ ก็มีเสียงบ่นถึงคุณภาพการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ เรื่องป้ายบอกทางที่มีน้อย และไม่ชัดเจน สถานีปลายทางที่พญาไทและมักกะสัน ไม่มีบันไดเลื่อน และรถเข็นกระเป๋า สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะเดินทางไป หรือเดินทางมาจากสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ และสัมภาระติดตัวจำนวนมาก รวมทั้ง การไม่มีระบบเชื่อมต่อกับบริการรถสาธารณะโดยสะดวก ที่สถานที่ทั้งสองแห่งนี้
ปัญหาเหล่านี้ และปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด คือ ไม่มีอะไหล่สำรองไว้ แสดงให้เห็นว่า โครงการแอร์พอร์ตลิงก์มีปัญหาในการบริหารจัดการอย่างหนัก เพราะตลอดระยะเวลา 7 เดือนที้ผ่านมา ไม่มีหน่วย
งานที่รับผิดชอบโดยตรง เพิ่งจะมาตั้งบริษัท รถไฟ ร.ฟ.ท. ขึ้น เมื่อปลายปีที่แล้ว และจนถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีความพร้อมเลยในทุกๆ ด้าน
แม้กระทั้งเรื่องเงิน สำหรับซื้ออะไหล่มาเตรียมไว้ 270 ล้านบาท ก็ยังไม่รู้ว่าจะเอามาจากไหน เพราะ บรัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. มีทุนจดทะเบียนเพียง 140 ล้านบาท เท่านั้น จะขอจากการรถไฟฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ก็ยังไม่รู้ว่า จะได้หรือไม่ เพราะ การรถไฟฯ ก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เหมือนกัน
ปัจจุบัน แอร์พอร์ตลิงก์ สายด่วนพิเศษ หรือ เอ็กซ์เพรสไลน์ มีผู้โดยสารเพียงวันละ 700 คน ต่ำกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้วันละ 2,200 คนมาก ในขณะที่สายธรรมด หรือ ซิตี้ไลน์ มีผู้ใช้บริการวันละ 36,000 -40,000 คน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมาย
แต่ละเดือน แอร์พอร์ตลิงก์ มีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายถึงเดือนละ 77 ล้านบาท หรือขาดทุนเดือนละ 42 ล้านบาท ซึ่งยอดขาดทุนจะยิ่งสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เว้นเสียแต่แอร์พอร์ต ลิงก์จะสามารถเพิ่มผู้โดยสารสายเอ็กซเพรสไลน์ ซึ่งเก็บค่าโดยสารได้มาก คือคนละ 150 บาท แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากปัญหาความไม่สะดวกของผู้โดยสารที่ต้องแบกกระเป่าเดินทางขึ้นบันไดสูงๆ แล้ว สถานีปลายทางของสายเอ็กซเพรส คือ มักกะสัน ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน หรือระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆได้โดยสะดวกเลย
นอกจากนั้น แอร์พอร์ตลิงก์ เป็นเพียงทางเลือกหนึงในทางเลือกหลายๆ ทางในการเดินทางเข้าสู่ สนามบินสุวรรณภูมิ มีแต่ผู้ที่อยู่ใกล้กับแนวเส้นทางเท่านั้น จึงจะเลือกใช้แอร์พอร์ตลิงก์ โอกาสที่จะได้ผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังสนามบินโดยตรงจึงมีน้อย
ปัญหาเหล่านี้ ควรป็นเรื่องที่ กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องคิด และหาแนวทางแก้ไข เสียก่อนที่จะสร้าง หรือก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ แต่เมื่อไม่ได้คิด รอปัญหาเกิดขึ้นเสียก่อนจึงตามแก้ไข โดยไม่มีหลักประกันว่า จะสามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จหรือไม่ หรือว่า เพียงแต่ชะลอปัญหาออกไปก่อน โครงการแอร์พอร์ตลิงก์จึงเหมือนอยุ่ในภาวะลูกผีลูกคน มีอาการน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง