เจบีซีอัปยศทำสภาล่ม ส.ส.-ส.ว.โดดหนีที่ประชุม กลัวซวยไม่กล้าถกต่อ สภาฯเสียงแตกขอฟังคำชี้ขาดศาล รธน.ก่อนพิจารณาต่อ แต่รัฐบาลดันทุรังให้รับทราบข้อสังเกต กมธ. อ้างเพื่อให้กลไกเดินหน้า ส.ว.ฉะบริหารบ้านเมืองเหมือนเล่นไฮโล เชื่อมีการหมกเม็ดเอ็มโอยู 43 “ชัย” ลั่นระฆังนับองค์ประชุมไม่ครบ สั่งปิดฉากเลื่อนถกต่ออังคารหน้า
วันนี้ (29 มี.ค.) ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณารายการงานศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น.หลังจากมีสมาชิกมารายงานตัวครบองค์ประชุม 284 คน จากนั้นนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้แจ้งต่อสมาชิกว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.53 นายศิริโชค โสภา ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส.จำนวน 80 คน ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา รวม 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 190 หรือไม่ รับคำร้องไว้พิจารณาตามคำสั่งที่ 5/2554 จึงขอแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
จากนั้นสมาชิกได้ร่วมหารือ โดยมีบางส่วนเห็นควรให้ยุติการพิจารณาก่อนเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช ประธานวิปรัฐบาล เห็นด้วยกับการเลื่อนพิจารณาลงมติบันทึกเจบีซี 3 ฉบับไว้ก่อน แต่ควรพิจารณารับทราบงานข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปก่อน
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เห็นต่างว่าไม่ควรรับทราบไปก่อน เพราะเมื่อรับทราบแล้ว หากต่อไปเป็นความเสียหายขึ้นมา สมาชิกสามารถรับได้หรือไม่ ดังนั้น เราควรจะหยุดเรื่องนี้ ทักท้วงแล้วยังขืนพิจารณาต่อไปเกรงว่าจะเข้าข่ายการจงใจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เข้าสู่มาตรา 270 ถอดถอนได้ จึงควรยุติไปรอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาสู่ที่ว่าที่ประชุมร่วมเห็นชอบหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่มีปัญหาที่จะรับทราบแต่อย่างใด
ขณะที่ น.ส.สุมล สุตตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวว่า ตนคงไม่รับทราบและไม่ลงมติในเรื่องนี้ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าศาลรับเรื่องไว้ตีความก็ควรจะรอ เชื่อว่าทุกคนเห็นควรที่จะต้องให้รอ ข้อสังเกตทั้ง 5 ข้อใช้ได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกมารับทราบซึ่งจะมีผลย้อนหลัง ควรที่จะให้นายกฯ ออกเป็นมติ ครม.เพื่อเป็นแนวทางในทางปฏิบัติ เพื่อจะทำให้ผู้ที่กลัวเกรง ข้าราชการไม่กล้าทำงานจะได้กล้าทำเพราะมีมติ ครม.รองรับ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไมเจบีซีมีการประชุมถึง 3 ครั้งแล้วจึงค่อยนำบันทึกการประชุมมารายงานต่อสภา เพราะกลัวว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำไมไม่กลัวตั้งแต่แรก ถ้าผิดควรจะรู้ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก ดังนั้น ควรจะให้ กมธ.ทำให้ครบทั้ง 5 ขั้นตอนแล้วค่อยมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนการทำงานของ กมธ.วิสามัญร่วมรัฐสภา ถือว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้วตามข้อ 73 และ 74 ดังนั้น สภาไม่ควรสับสน ควรแยกเจบีซีกับผลการศึกษาของ กมธ.ออกจากกัน ดังนั้น ตนจึงเห็นควรให้พิจารณาต่อไป
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตเรายึดถือมาตลอดว่า หากหนังสือสัญญาใดเข้าข่ายมาตรา 190 วรรค 2 ก็ต้องนำเข้ามารัฐสภา เมื่อให้สภาเห็นชอบ แต่เมื่อเนื้อเรื่องมีความละเอียดอ่อน สมาชิกไม่ต้องการพิจารณาลงมติ จึงได้ตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษา และขณะนี้เรื่องที่ค้างอยู่ในสภา คือ กมธ.ได้มีการรายงานกลับมาแล้ว และตัวบันทึกรอการเห็นชอบ ทั้งนี้ โดยปกติที่ประชุมจะรับทราบรายงานของ กมธ. แต่เมื่อมีข้อสังเกตของ กมธ. สภาต้องมีมติว่าจะส่งไปให้รัฐบาลหรือไม่ ถ้ามีมติส่งไป รัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม แล้วแจ้งกลับมาให้สภาทราบว่าได้มีการดำเนินการตามข้อสังเกตอย่างไรหรือไม่ภายใน 60 วัน
นายอภิสิทธิ์เสนอว่า สภาควรรับทราบเรื่องของรายงานของ กมธ.ไปตามปกติ ว่าจะมีมติเห็นชอบกับข้อสังเกตดังกล่าวหรือไม่ เพื่อที่จะส่งต่อไปยังรัฐบาลให้มีมติ ครม.ต่อไป เพื่อเป็นการยืนยันให้เห็นว่าไทยยังให้ความสำคัญต่อกลไกทวิภาคี แต่ถ้าไม่พิจารณาอะไรเลยจะเป็นความไม่ชัดเจนที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ตนจึงอยากให้เดินหน้าต่อไป ส่วนเรื่องข้อบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับก็รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ถ้าวินิจฉัยว่าไม่เป็นสนธิสัญญาตามมาตรา 190 เรื่องนี้ก็จบไม่ต้องนำเข้าสู่สภาอีก แต่ถ้าเป็นตามมาตรา 190 รัฐบาลก็ต้องนำกลับมาเข้าสู่สภาใหม่
นายสุรจิต ชิระเวช ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตนเห็นว่าเรื่องนี้เข้าข่ายหนังสือสนธิสัญญา เพราะเป็นผลพวงมาจากเอ็มโอยู 43 เพื่อทำการปักปันเขตแดนซึ่งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และในหนังสือที่ กมธ.แจ้งมาก็ระบุชัดเจนว่า ตามที่ที่ประชุมร่วมกันของสนธิสัญญาเรื่องบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมกันไทย-กัมพูชา รวม 3 ฉบับที่ ครม.เป็นผู้เสนอและลงมติตั้ง กมธ.ขึ้นมา
“การที่จะมาพูดว่ารับทราบก็ได้รับรองก็ได้ แบบนี้เหมือนกับออกสูง ออกต่ำ เจ้ามือกินหมดหกสี่เอี่ยวกินหมด เหมือนเล่นไฮโล แต่เราจะบริหารบ้านเมืองกันแบบนี้หรือ ถ้าเข้า ม.190 สภาก็ต้องพิจารณาเท่านั้น ถ้าไม่เข้าก็เป็นเรื่องของข้าราชการไปทำงาน สภาไม่ต้องรับรู้อะไร แต่เนื้อในทางเทคนิคก็ยังมีการแตะเนื้อหาเรื่องการปักปัน การปักหมุดอยู่ดี เมื่อมีข้อขัดแย้งสู่ศาลแล้วก็สมควรจะรอ แต่รัฐบาลจะให้สภารับทราบอีก”
ส.ว.สมุทรสงครามกล่าวว่า ถ้ารัฐสภารับรองข้อสังเกตของกรรมาธิการไป แต่ในข้อ 2 ระบุว่า ส่วนพื้นที่พิพาทบริเวณรอบปราสาทเขาพระวิหาร ไม่ควรใช้คำว่าพื้นที่พิพาท แต่ควรใช้ว่าพื้นที่ประเทศไทยรอบปราสาทเขาพระวิหาร และข้อ 3 การเยียวยาผู้มีเอกสารสิทธิทางราชการ และผู้ได้รับผลกระทบ เท่ากับไทยยอมรับว่าเอกสารสิทธิของรัฐไทย โดยไม่สามารถปกป้องเขาได้ ซึ่งข้อความแบบนี้ใส่ลงไปไม่ได้ เพราะพฤติกรรมจะมีผลต่อเทคนิคทางกฎหมายในอนาคตหากเป็นคดี และผลที่สุดกัมพูชาจะเอาเรื่องนี้เข้าสู่ศาลโลกอีก เรามีความพร้อมหรือยัง และการที่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และประธานเจบีซีฝ่ายไทยไม่ได้โต้แย้งคำพูดของนายวาร์ คิมฮง รวมอยู่ในนี้จะให้สภารับไปทั้งพวงโดยไม่กังวลได้อย่างไร ส่วนที่ศาลรับไปก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เห็นว่ามีมูลเช่นกัน
“เราเข้าใจที่นายกฯ กังวลว่าจะนำไปสู่พหุพาคี แต่จะให้ทำอย่างไร เราส่งสัญญาณไม่ชัดมาตลอด เราเอาทุกอย่างขึ้นโต๊ะหมด ประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งก็ทราบหมด เรื่องนี้เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ หยุดอยู่ก็ไม่ได้ แต่ กมธ.ก็ไม่ชัดเจน ไม่มีการรายงานข้อขัดแย้งของ กมธ.เสียงข้างน้อยด้วย ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนควรจะถอยไปก่อน”
ด้าน นายชัยชี้แจงว่า ตนได้ศึกษากับฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาในส่วนของข้อบังคับการประชุมไม่พบว่า ให้ที่ประชุมร่วมต้องชะลอเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับไว้เพื่อรอคำวินิจฉัยแต่ประการใด แต่ไปโยงมาตรา 154 (1) ของรัฐธรรมนูญ ที่นายศิริโชคยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เราได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงแจ้งให้ที่ประชุมวินิจฉัย ส่วนใหญ่วิธีการปฏิบัติต่อกฎหมายที่รัฐบาลยับยังไม่โปรดเกล้าฯ ก็มีกรณีตัวอย่างเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีที่ไม่ถูกต้อง สภาส่งเรื่องไปให้นายกฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมูญตีความ และนายกฯ ก็หยุดการส่งกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเห็นควรให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนเพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน อีกฝ่ายซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลเห็นควรให้รับทราบข้อสังเกต 5 ข้อของกรรมาธิการวิสามัญไปก่อน เพื่อให้รัฐบาลได้นำข้อสังเกตไปปฏิบัติให้เกิดการเดินหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกใช้เวลาถกเถียงกันร่วมครึ่งวัน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ได้เสนอญัตติขอให้พักการพิจารณารายงานผลการศึกษาไว้ก่อนจนกว่ามีคำวินิจฉัยจนกว่านำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ตัวแทน กมธ.ยืนยันว่า รายงานของ กมธ.นั้นได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าไม่มีการพิจารณารับรองในตอนนี้ เพราะรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพียงแต่ต้องการให้ที่ประชุมรับทราบในข้อสังเกตของ กมธ. และยืนยันว่าในข้อสังเกตไม่มีส่วนใดรับรองบันทึกของคณะกรรมการร่วมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับแต่อย่างใด
ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติซ้อนให้พิจารณารายงานผลการศึกษาของ กมธ.ต่อไป ทำให้สร้างความสับสนระหว่างสมาชิกพอสมควร ดังนั้น นายชัยจึงได้ตัดบทให้มีการนับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ ปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องประชุมเพียง 262 คน ขาดไป 15 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ นายชัยจึงสั่งเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ออกไปเป็นวันที่ 5 เม.ย. ก่อนที่จะสั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 14.15 น.