“กษิต” ชี้เอ็มโอยูเป็นเหมือนคู่มือทำเขตแดนให้ชัดเจนเท่านั้น เนื่องจากกาลเวลาทำให้หลักฐานเลือนลาง ไม่ใช่ปักปันใหม่ เมื่อเจรจาแล้วเสร็จค่อยผลักดันชุมชนเขมรออกก็ไม่สายต้องใจเย็นๆ “เจริญ” ปัดคนรัฐบาลมีบ่อนในเขมร โวยไม่มีใครอยากเสียแผ่นดิน เหน็บเป็นการเอาการเมืองต่างประเทศมาเล่นในประเทศ แนะให้พรรคที่อยากรบกับเขมรกำหนดเป็นนโยบายไปเลย ด้าน “อธิบดีกรมสนธิสัญญา” บอกเจบีซีแค่ขั้นตอนเบื้องต้นมากๆ ไม่ใช่ผ่านแล้วจะทำเสียดินแดน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการพิเศษ "ไขปริศนา JBC ไทย - กัมพูชา"
เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. วันนี้ (28 มี.ค.) รัฐบาลได้จัดรายการ “ไขปริศนา JBC ไทย-กัมพูชา” ถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 โดย มีนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเจริญ คันธวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึกการประชุมร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี นายอิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และพล.ต.นพดล รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมในรายการ
นายกษิตเริ่มกล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา เนื่องจากไทยมีชายแดนติดกันในหลายประเทศ มีการปักปันเขตแดนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่กาลเวลาล่วงเลยเป็นร้อยปี มีการทำลายหลักฐานทางภูมิศาสตร์ หรือแม้แต่การสู้รบก็กระทบต่อหลักฐานการปักปันเช่นกัน
เมื่อมีสันติภาพเกิดขึ้น แต่ละประเทศก็มาเจรจากับไทยได้ และทั้ง 4 ประเทศ ลาว พม่า มาเลเซีย กัมพูชา มีการปฏิบัติคล้ายกันคือมีคณะกรรมการร่วม และก็มีเอ็มโอยู ซึ่งเอ็มโอยูก็คล้ายกับสมุดคู่มือ ว่าเมื่อมาเจอกันแล้วจะทำอย่างไร และใช้เอกสารอะไรบ้าง ซึ่งในกรณีกัมพูชาก็ใช้สนธิสัญญาที่ไทยเคยทำกับฝรั่งเศส ซึ่งมีการทำเสาเขตแดนทั้งหมด 73 เสา การเจรจา 3-4 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ค้นหาได้ 48 เสา เห็นพ้องต้องกันแน่ๆ 33 ไม่เห็นพ้องต้องกัน 15 เสา และต้องหาอีก 25 เสา และบางส่วนก็ใช้สันปันน้ำ ซึ่งสันปันน้ำไม่ได้อยู่ที่ขอบหน้าผา แต่ขึ้นอยู่กับทางน้ำไหล
เมื่อภูมิประเทศเปลี่ยนไปต้องมีการเดินบนพื้นดิน ถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อชี้ชัดเขตแดนและจะดำเนินการได้ก็ต้องให้บันทึกการประชุม 3 ฉบับนี้ให้รัฐสภาเห็นชอบ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากที่ทำกับประเทศอื่นเลย เอกสารก็คล้ายๆ กัน
“ยืนยันว่าไม่มีการเสียอธิปไตยและดินแดนใดทั้งสิ้น เพราะการเจรจาไม่แล้วเสร็จ ที่มีชาวบ้าน หมู่บ้านล้ำเข้ามา เราแช่แข็งไว้ก่อน เจรจาเรียบร้อยค่อยให้ประชาชนย้ายออก อยากให้พี่น้องสบายใจได้ว่ากับกัมพูชา เราไม่มีอะไรแตกต่างกับมาเลเซีย พม่า และลาว ส่วนแผนที่ที่เหลือ 6 ระวาง ในนั้นก็มีระวางดงรักอยู่ด้วย แต่เราก็ปฏิเสธมาตั้งแต่ตอนขึ้นศาลโลกปี 2505 และก็ยังเป็นท่าทีของรัฐบาลปัจจุบันนี้” นายกษิตกล่าว
นายกษิตกล่าวเพิ่มเติมว่า เอ็มโอยูเปรียบเหมือนคู่มือ 5 ประเด็น 1.หาเสาหลักที่เจอแล้ว 48 เสา หาอีก 25 เสา 2.ถ่ายภาพทางอากาศต้องคัดเลือกบริษัทซึ่งไทย-กัมพูชาต้องตกลงกัน 3.ต้องเอามาพล็อตกันบนกระดาษ 4.ส่งเจ้าหน้าที่เดินพื้นดิน 5.ทำแผนที่ถาวรอันนี้ผลงานขั้นสุดท้ายซึ่งก็ต้องกลับไปให้รัฐสภาเห็นชอบ ใครล้ำใครก็จะดำเนินการได้
นายอิทธิพรกล่าวว่า เป็นการทำให้เขตแดนชัดเจนไม่ได้เป็นการปักปันเขตแดนใหม่ แต่ครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องมาตกลงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เอ็มโอยูก็เป็นการทำให้ทั้งสองฝ่ายชี้ให้ชัดเจน ยุค 100 ปีที่ผ่านมาเรากำหนดเขตที่ชัดเจนตามแต่สนธิสัญญากำหนดไว้ ปัจจุบันความเจริญทางด้านเขตแดนและประชาชนได้เข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ทำให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต้องมาดูว่าเขตแดนที่ชัดเจนอยู่ที่ไหน เอ็มโอยูทำให้ต้องมาดูว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่ไหน และทางเทคนิคว่าจะเอาอะไรมาอ้างในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกัน เช่นมาดูว่าสันปันน้ำอยู่ที่ไหนกันแน่ ทำอย่างไรให้เส้นเขตแดนชัดเจนที่สุด
นายเจริญกล่าวว่า มีการกล่าวหาว่าเอ็มโอยูไม่ผ่านสภาก่อนใช้ไม่ได้ ตนขอบอกว่าเอ็มโอยูไม่ใช่สนธิสัญญา ไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น จึงไม่ต้องขอคำรับรองจากรัฐสภา เหมือนแค่คู่มือไม่ต้องขอความเห็นชอบ และที่บอกว่าทำให้ไทยเสียดินแดน 1.5 ล้านไร่ ไม่ใช่สักอย่าง เพราะเอ็มโอยูไม่ได้เขียนเลยว่าเรายอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ไม่มีข้อความเหล่านี้อยู่เลย
นายอิทธิพรกล่าวเสริมว่า การปักปันเขตแดน คือ มากำหนดบนโต๊ะว่าในพื้นที่จะแบ่งเขตแดนอย่างไร เราใช้คำว่าปักปัน และให้การปักปันบนโต๊ะชัดเจนก็ต้องลงพื้นที่ปักหลักให้ชัดเจน การที่ทำขณะนี้ก็เพื่อสร้างความชัดเจนให้เส้นเขตแดนที่ปักปันไว้แล้วโดยอาศัยสนธิสัญญาที่มีไว้กับฝรั่งเศส จึงต้องเข้าใจว่าปักปันทำบนโต๊ะ ปักหลักทำในพื้นที่ ไม่ได้กำหนดเขตแดนใหม่
พล.ต.นพดล กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าตนไม่ได้มาในนามของกองทัพ แต่มาตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศ แนวเขตแดนไทยกัมพูชาไม่ได้มีแค่สันปันน้ำอย่างเดียว ในส่วนที่จะมีการสำรวจหรือสำรวจไปแล้วทางเทคนิคจำเป็นต้องยึดกรอบเอ็มโอยู 43 และทีโออาร์ 2546 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการ
“สันปันน้ำคืออะไร โดยสากลใช้สิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ คือสันเขาหรือที่สูงที่แบ่งน้ำออกเป็น 2 ฟาก ถ้าฝนตกลงมาจะแบ่งเป็น 2 ฟาก ตรงนี้คือตัวตัดสินเป็นสันปันน้ำ สันเขาที่สูงที่สุดไม่จำเป็นต้องเป็นสันปันน้ำ และต้องมีความต่อเนื่องถึงใช้เป็นสันปันน้ำที่ใช้แบ่งเขตแดนประเทศ” รองเจ้ากรมแผนที่ทหารฯ กล่าว
นายกษิตกล่าวอีกว่า ตนขอกราบวิงวอนพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจว่ากระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ และเมื่อฝ่ายบริหารทำอะไรก็ต้องรายงานให้รัฐสภาทราบ กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลาพักใหญ่ แต่การผ่านเจบีซียังอยู่ในการเจรจา ไม่มีอะไรต้องปิดบัง ทุกอย่างโปร่งใสไม่มีนอกมีในทั้งสิ้น
นายอิทธิพรกล่าวเสริมอีกว่า อย่างที่บอกว่าการให้สภาเห็นชอบร่างการประชุมเจบีซี อยู่ในขั้นที่ 1 ซึ่งเบื้องต้นมากๆ ไม่ได้หมายความว่าดำเนินการอย่างไรกับเจบีซีจะนำไปสู่การเสียดินแดน เพราะการกำหนดเขตแดนได้ต้องพูดคุยหลายขั้นตอน
นายเจริญกล่าวว่า ที่บอกว่ามีหมกเม็ดขอเรียนว่ารัฐบาลไม่มีใครมีบ่อนในกัมพูชา และไม่มีใครที่จะยอมเสียแผ่นดิน การออกมาพูดเรื่องไม่จริงเอาการเมืองต่างประเทศมาเล่นในประเทศ ใกล้เลือกตั้งแล้วพรรคไหนต้องการรบกับเขมรก็เขียนลงไปในนโยบายพรรคเลยว่า หากได้รับเลือกตั้งจะรบกับเขมรทันที จะมาให้ประชาธิปัตย์ทำตามนโยบายพรรคอื่นได้อย่างไร