“พล.อ.ปรีชา” แจงกระบวนการหมกเม็ดบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ระบุหาก รบ.เอาผลประโยชน์ชาติเป็นหลักต้องเอา 3 ข้อเสนอของพันธมิตรฯ ไปปฏิบัติ ชม “พล.อ.ประยุทธ” เด็ดเดี่ยวเอาชาติเป็นหลักบอก “จะไม่ไปประชุมประเทศที่ 3” และ “กำลังทหารอินโดนีเซียถ้าจะเข้ามาไม่มีสิทธิเข้าไปยืนอยู่บนพื้นที่ที่มีปัญหาหรือพื้นที่ที่ยังขัดแย้งกันอยู่”
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ปราศรัยโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
วันที่ 27 มี.ค. 2554 บนเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ คณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อไปที่อินโดนีเซีย การส่งกำลังทหารอินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือนักการเมือง และกองทัพในนามผู้บัญชาการทหารบก เป็นตัวละครมีผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ
นักการเมืองไทยเสียทีกัมพูชา ตามทีโออาร์ 2546 ไปกำหนดให้ใช้แผนที่ 1 : 200,000 ในการสำรวจและจัดทำเขตแดนของเจบีซี ดังนั้นหากสภารับรองเจบีซี จะส่งผลกระทบตามข้อตกลงในเอ็มโอยู 43 ข้อ 1 ค. ที่กำหนดให้ใช้แผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฎิเสธของว่าไม่ใช่ ขณะที่ฮุนเซนบอกว่าใช่ พร้อมกับออกเป็นแถลงการกระทรวงต่างประเทศว่า อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ1907 ล้วนเป็นผลงานการปักปันร่วมซึ่งไทยต้องปฏิบัติตาม
พล.อ.ปรีชากล่าวถึงรายละเอียดในเจบีซีฉบับแรกว่า มีการลงนามที่ประเทศกัมพูชา ใจความทีเด่นชัด “ทั้งสองฝ่ายแสดงความคาดหวังว่าการสำรวจและจัดทำพื้นที่ตอน 6 จะเริ่มต้นได้ในเดือน ธ.ค. 2008” ตรงนี้พื้นที่ตอนที่6 คือ ที่ตั้งของปราสาทเขาวิหาร หากมีการับรองเท่ากับเราสละหลักสันปันน้ำในการกำหนดเส้นเขตแดนที่เคยกำหนดมาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1904 และ ค.ศ. 1907
เจบีซีฉบับสอง ทำที่กรุงเทพฯ สาระสำคัญของบันทึกนี้ บอกว่า “ทั้งสองฝ่ายตกลงให้จัดชุดสำรวจจัดทำหลักเขตแดนตั้งแต่หลักที่หนึ่งไปถึงเขาสัตาโสม” กล่าวคือให้สำรวจพื้นที่ตอนที่6 ซึ่งก็เป็นพื้นที่เขาวิหารอีก นอกจากนี้ยังระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าการประชุมสมัยสามัญครั้งที่1เพื่อหารือประเด็นกฎหมายพื้นที่ตอน 6” นั่นคือ จะมาพิจาณาระหว่างหลักสันปันน้ำที่เรายึดถือ กับแผนที่ 1 : 200,000 ว่าอะไรควรยึดเป็นข้อกฎหมาย ทั้งนี้ หากยึดแผนที่ 1 : 200,000 ก็หมายความว่าพื้นที่รอบปราสาทเขาวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของกัมพูชา อีกทั้งยังกำหนดให้ไปร่างคำแนะนำเพื่อให้คณะกรรมการฝ่ายเทคนิคไปสำรวจและปักปันหลักเขตแดนต่อไป
ส่วนเจบีซีฉบับที่ 3 ทำที่พนมเปญ เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา ก็เป็นการตอกย้ำซ้ำทั้งสามประเด็นเหมือนฉบับที่สอง
พล.อ.ปรีชากล่าวว่า บันทึกเจบีซีนี้ หากสภารับรอง เท่ากับทำลายหลักสันปันน้ำที่เราเคยตกลงมาแล้ว ยอมรับเอาแผนที่ 1 : 200,000 เป็นแผนที่หลักในการจัดทำหลักเขตแดนพื้นที่ตอน 6 นายอภิสิทธิ์ บอกยังไม่เสียดินแดนเพราะยังจัดทำหลักเขตไม่เสร็จ ตนก็บอกหากปล่อยให้ผ่านเจบีซี จนนำไปสู่การจัดทำหลักเขตแดนเสร็จไทยต้องเสียดินแดนแน่นอน
“6 เดือนของการทำเจบีซี รัฐบาลมัวเตะถ่วงไม่กล้าหักหาญน้ำใจ ฮุนเซน เพราะหากเอาผลประโยชน์ชาติเป็นหลักต้องเอา 3 ข้อเสนอของพันธมิตรฯไปปฎิบัติ ไม่ต้องรอให้จัดทำหลักเขตเสร็จ”
พล.อ.ปรีชากล่าวว่า สถานการบ้านเมืองขณะนี้ ขึ้นอยู่กับ สถาบันองค์มนตรี ตุลาการ กองทัพ และประชาชน ภายใต้สี่สถาบันนี้จะสั่นคลอนไม่มั่นคงก็ในนามนักการเมือง ที่ผ่านมาในส่วนของกองทัพบางครั้งก็สิ้นหวัง บางครั้งก็มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ อย่างไรก็ดี ขณะนี้เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว จากคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “จะไม่ไปประชุมประเทศที่ 3” และ “กำลังทหารอินโดนีเซียถ้าจะเข้ามาไม่มีสิทธิเข้าไปยืนอยู่บนพื้นที่ที่มีปัญหาหรือพื้นที่ที่ยังขัดแย้งกันอยู่” ตนดีใจที่กองทัพเข้าใจ ความมั่นคงของชาติอยู่เหนือรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ เพราะหากความมั่นคงของชาติล้มเหลวชาติก็ล้มเหลว
พล.อ.ปรีชากล่าวอีกว่า นักการเมืองไปสร้างทวิภาคีจอมปลอม เพราะปกติตามหลักสากลอินโดนีเซียทำได้เพียงเป็นเจ้าภาพจัดสถานที่และนัดหมายการประชุมเท่านั้น เรื่องนี้ต้องโทษนักการเมืองไทยที่ไปร้องขอเขาให้ส่งกำลังทหารอินโดนีเซียเข้ามา ทั้งนี้ตนเคยเป็นเลขาประชุมข้อพิพาทไทย-มาเลเซีย เขามีทำเนียมปฎิบัติ การเจรจาทวิภาคีให้แต่ละประเทศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ดังนั้น ขอยืนยันว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์