นายกฯ จัดประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์สอบถามถึงจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยและแผ่นดินไหว โดยสามารถขอเบิกจ่ายงบประมาณช่วยเหลือได้โดยตรงจาก รมต.สาทิตย์ วอนปชช.ติดตามข้อมูลใกล้ชิด – เตรียมพร้อมแผนอพยพ ขอบคุณ ส.ว. - ส.ส. ผ่านงบประมาณกลางปี -ให้ความร่วมมือในการผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ "รู้ทันประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์"
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะวันที่ 27 มี.ค.54 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 113 ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่า ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผ่นดินไหว เรื่องของน้ำท่วม ขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมากก็มีความกังวลใจ โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น ที่มีทั้งเรื่องของแผ่นดินไหว และมีทั้งเรื่องของสึนามิ แต่อยากจะเริ่มต้นวันนี้ไปที่ทางภาคใต้ก่อน เพราะว่าขณะนี้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป แต่ว่าที่หนักที่สุดคือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งวันนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ปลัดกระทรวง, ผู้อำนวยการศูนย์ฯ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมอุตุนิยมวิทยานะ ร่วมรายการด้วย
นายธีระ มินทราศักดิ์ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัย และการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยสรุป คือ จังหวัดนครศรีธรรมราชมี 23 อำเภอ 165 ตำบล 1,551 หมู่บ้าน ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 54 ทำให้เกิดอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มในหลายพื้นที่ ทางจังหวัดได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วรวมทั้งสิ้น 21 อำเภอ 115 ตำบล 722 หมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำบริเวณเขาหลวง ซึ่งมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น และเพิ่มกระจายเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ราบ สำหรับวันนี้สถานการณ์ ฝนได้หยุดบางช่วงและตกบางช่วง กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศให้ถึงวันที่ 28 ว่าจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้จากการสำรวจเบื้องต้นทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำที่บริเวณลาด เชิงเขา และที่ลุ่มต่ำได้รับความเดือดร้อนประมาณ 30,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 80,000 คน และได้เสียชีวิตไปจำนวน 3 ราย มีราษฎรที่อำเภอลานสกา ซึ่งจมน้ำ 1 ราย และเป็นพระธุดงค์จากสำนักสงฆ์บ้านในเพลา หมู่ที่ 8 ตำบลขนอม อำเภอขนอม มรณภาพ 2 รูปเนื่องจากดินและหินสไลด์ลงมา เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนั้นสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นถนนอีก 345 สาย พื้นที่การเกษตรขณะนี้ได้ประมาณการว่าประมาณ 150,000 ไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำปากพนัง 30,000 - 40,000 ไร่ได้จมน้ำอยู่ขณะนี้ และความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม รวมมูลค่าเสียหายเบื้องต้นขณะนี้ประมาณ 300 ล้านบาท
ในด้านความเสียหายของปศุสัตว์ ประมง และพืชผลทางการเกษตร และฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหาย ก็กำลังดำเนินการสำรวจและจะให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป กำชับทั้งในเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ในพื้นที่เฝ้าระวังตลอด เพื่อการเตรียมการอพยพในการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที สำหรับการช่วยเหลือต่าง ๆ นั้นทางจังหวัดได้มีความพร้อมในการบูรณาการทุกภาคส่วนอยู่แล้ว
ในส่วนของเส้นทางก็เป็นอุปสรรคคือน้ำท่วมขังบนถนน แต่ระดับของสายเอเชียก็ยังสามารถที่จะผ่านไปได้ สาย 408 ของถนนเส้นเก่าก็ยังมีน้ำท่วมขังเช่นที่ท่าศาลา แต่อย่างไรก็ตามเราก็สามารถวิ่งผ่านได้รถใหญ่ เกี่ยวกับเรื่องสนามบินก็ได้ประสานกับทางผู้อำนวยการท่าอากาศยาน วันนี้เครื่องบินงดหมด เนื่องจากรันเวย์มีน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 1 ฟุตโดยประมาณ และได้คุยกันในเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้สนามบินเห็นได้ทุกฤดูกาล จริง ๆ แล้วสนามบินเรามีแก้มลิง ก็คงจะได้มีการปรับปรุงในระบบของการที่ระบายน้ำลงไปสู่แก้มลิงให้เพิ่มขึ้น ในระดับต่อไป อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ติดตามสถานการณ์นี้ก็ทราบว่าฝนยังตกอยู่ แม้ว่าจะหยุดเป็นบางช่วง และเมื่อเช้านี้ก็ทราบว่าทางสนามบินก็ต้องปิด เพราะว่าเครื่องบินลงไม่ได้ อุปสรรคปัญหาที่ได้รับทราบมาก็คือปัญหาเรื่องที่ว่าเรือที่จะไปช่วยประชาชน ถ้าไม่มีเครื่องจะไม่สามารถทานกระแสน้ำได้ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดินถล่ม อ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีความห่วงใยกันอยู่นี้ ได้มีการดำเนินการเรื่องของการอพยพแจ้งเตือนกันเรียบร้อยแล้ว ประชาชนจะได้อุ่นใจ ว่าไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียอะไรขึ้น ส่วนเรื่องของการช่วยเหลือ ถ้าหากว่าวงเงินสำรองของทางจังหวัดไม่เพียงพอ ขณะนี้ท่านรัฐมนตรีสาทิตย์ฯ ได้รับมอบหมายให้เข้าไปประสานงาน เพื่อที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติม อยากให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด และสามารถที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้
ด้านนายพิสิษฐ บุญช่วงผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า รายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดพัทลุงคือ พื้นที่จากแนวเทือกเขาบรรทัด จนถึงบริเวณทะเลสาบสงขลา มีความกว้างหลายกิโลเมตร ดังนั้นเมื่อมีฝนตกในระยะวันที่ 23 - 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดถึง 220 มิลลิเมตร ก็ทำให้เกิดน้ำล้นอ่างจากน้ำที่เรามีอยู่ 2 แห่ง มีคลองสำคัญ 7 แห่ง มีลักษณะน้ำล้นเอ่อท่วมขึ้นมาบริเวณที่ราบลุ่ม เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน 8 อำเภอ 41 ตำบล 347 หมู่บ้าน ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วน การช่วยเหลือเบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.เป็นต้นมา หน่วยงานและบุคลากรในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ และข้าราชการในอำเภอ ต่างระดมกำลังช่วยเหลือประชาชน อย่างเต็มความสามารถ ในการอพยพพี่น้องประชาชนขึ้นไปอยู่บนที่สูงบางส่วน รวมทั้งสิ่งของและสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ
นอกจากนนี้ เหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง ได้ระดมกำลังออกไปเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจประชาชน ศูนย์กาชาดสิรินธร ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่อำเภอทุ่งสง ก็จะจัดข้าวสารอาหารแห้งมาช่วยเหลือประชาชนอีกประมาณ 1,000 ถุง ด้านหน่วยทหารในพื้น กองพันทหารช่างที่ 402 ก็ได้จัดกำลังออกไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย และได้รับความเดือดร้อนโดยทั่วถึงกัน ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อรวบรวมความสูญเสีย ความเสียหาย และช่วยเหลือประชาชน ส่วน ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อยู่ประมาณร้อยละ 50 ทางจังหวัดทดรองจ่ายที่มีอยู่ หรือส่วนทั้งบุคลากรที่มีอยู่ก็ยังเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ยังไม่ร้ายแรงไปกว่านี้
ด้าน นายต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. มีตัวการสองตัวการซึ่งทำให้ภาคเหนือส่วนนั้นมีฝนตกมาก แต่หลังจากนั้นมาวันที่ 23 ก็มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีน มวลอากาศเย็นแผ่ตัวลงมาอีกระลอกหนึ่ง ทำให้กรุงเทพฯเองก็เริ่มมีฝนตกตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. และเคลื่อนตัวลงไปทางใต้ตั้งแต่วันที่ 24-25 ซึ่งมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นในอ่าวไทย 2 ตัวนี้มันก็คล้าย ๆ กับดีเปรสชั่นซึ่งเข้าสงขลามีฝนตกหนัก แต่ตัวนี้ถึงแม้จะอ่อนกว่าดีเปรสชั่น มันไม่ได้เคลื่อนที่เร็ว ทำให้ฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 25มี.ค. เป็นต้นมา ทั้งที่สุราษฎร์ฯ ลงไปถึงพัทลุง ฝนตกแต่ละวันนี้มากกว่า 200 มิลลิเมตรขึ้นไปทั้งนั้น โดยเฉพาะสุราษฎร์ฯ เองก็ 300 กว่ามิลลิเมตร ถึงวันพรุ่งนี้คือวันที่ 28 หย่อมความกดอากาศต่ำตัวนี้จะเคลื่อนตัวไปทางอันดามัน ซึ่งจะทำให้ฝนทางด้านภาคใต้ของเราลดน้อยลง ในวันนี้เองที่พัทลุงถึงแม้ว่าจะอ่อนกำลังลง แต่ว่ายังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนทางด้านเหนือหรือทางด้านสุราษฎร์ฯ นั้นก็ยังมีฝนตกต่อเนื่องไปอีกถึงวันที่ 28 มี.ค. และจะเริ่มเบาลงในวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งจะทำให้ฝนทางด้านระนองเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เรื่องของฝนที่จะต้องติดตามระมัดระวัง ส่วน เรื่องน้ำท่วม จะต้องติดตามต่อไปถึงประมาณสิ้นเดือนหรือวันที่ 1 เม.ย.
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นฤดูฝนปีที่แล้ว ได้มีการเตรียมความพร้อมร่วมกับจังหวัดและภาคส่วนในส่วนของพื้นที่ ทั้งในเรื่องของระบบการเตือนภัย การระวัง การอพยพ การเฝ้าติดตามข่าวสารของทางราชการ การแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดภัยขึ้นในช่วงนี้ที่จังหวัดภาคใต้ เราก็ได้ประสานกับทางจังหวัดและหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทางจังหวัดได้ประกาศภัยแล้วก็สามารถใช้เงินทดรองราชการในเบื้องต้น ในวงเงิน 50 ล้านบาท ก็สามารถช่วยเหลือได้ และหากมีข้อขัดข้องอย่างไร เช่น จะต้องขยายวงเงินหรือยกเว้นระเบียบปฏิบัตินี้ก็จะได้ประสานกับทางจังหวัด เพื่อติดต่อกับกระทรวงการคลังตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ข้อแนะนำ
ใน ส่วนของการดำเนินการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ทางจังหวัดได้ประสานกับหน่วยต่าง ๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนอยู่แล้ว แต่ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนี้เรามีศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัย เขต ไม่ว่าจะอยู่ที่สุราษฎร์ฯ หรือว่าที่สงขลา ที่ภูเก็ต รวมทั้งทางตอนต้น เครื่องมือที่เราส่งไปไม่ว่าจะเป็นเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ เรือพาย หรือว่าเครื่องยนต์แบบหางยาว เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว เช่น ดีอาร์ที ซึ่งครั้งล่าสุด เมื่อครึ่งเดือนที่แล้วทางรัฐบาลได้อนุมัติให้ชุดเผชิญเหตุการณ์วิกฤตเพิ่ม ขึ้น ในส่วนนี้เราได้ส่งให้จังหวัดต่าง ๆ ในทั้ง 4-5 จังหวัดที่ประสบภัย เพื่อเป็นการเสริมเข้าไป ในขณะนี้จะได้ประสานกับทางจังหวัดว่า ในที่จังหวัดร้องขอเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรือท้องแบนในพื้นที่ที่น้ำยังเชี่ยวแรง หรือว่าต้องการเรือยาง เรือท้องแบนเพิ่มเติม ก็จะเสริมจากศูนย์เขตอื่นเข้าไป เช่น จากสงขลา เป็นต้น ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยหรือ คชอ. ของรัฐบาลด้วย ในส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยก็ได้ติดตามมาโดยตลอด มีศูนย์อยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ติดตามสถานการณ์ตลอด ทางจังหวัดก็สามารถประสานในเรื่องการช่วยเหลือต่าง ๆ เข้ามาได้
ด้าน นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ความเสียหายเบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต เป็นหญิงชาวไทยใหญ่ ตำบลเวียงภาคำ อำเภอแม่สายอายุ 55 ปี นอกนั้นก็มีผู้บาดเจ็บ 2 แห่งที่หนักคืออำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน แม่สายบาดเจ็บ 13 ราย เป็นคนไทย 5 ต่างด้าว 8 อำเภอเชียงแสน 8 เป็นคนจีน 5 คนไทย 1 นอกนั้นก็เป็นสิ่งสาธารณูปโภค อาคารต่าง ๆ บ้านเรือนประชาชนเสียหายบางส่วน 519 หลังคาเรือน อาคารตึกสูง 23 หลังคาเรือน สถานที่ทางศาสนา สถานประติมากรรมโบราณสถาน 39 แห่ง ส่วนราชการคืออาคาร เช่น ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอแม่สาย ที่ว่าการอำเภอเชียงแสน โรงพยาบาลแม่สาย โรงพยาบาลเชียงแสน 66 แห่ง รวมทั้งหมด 15 อำเภอ 42 ตำบล 162 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือน 89,186 คน ทั้งหมด 34,650 ครัวเรือน
สำหรับมาตรการการดำเนินการแผนงานต่าง ๆ คือ เมื่อเกิดเหตุ ได้แจ้งให้ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ดำเนินการตามแผนกู้ภัย หรือแผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้ดำเนินการในห้วงนั้น ซึ่งมีเหตุขัดข้องคือโทรศัพท์ไม่สามารถใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ไฟฟ้าที่อำเภอแม่สายดับในห้วงนั้น แล้วเราแจ้งให้อำเภอทุกอำเภอ ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ และได้จัดตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือที่ศาลากลางจังหวัด ระดมอาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็น อปพร. อส. ทหาร ตำรวจ ประจำที่ศูนย์ และได้เรียนเชิญหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนราชการมาที่ศูนย์ จากนั้นได้สนธิกำลังของหน่วยอาสาสมัครทุกหน่วย เพื่อพร้อมที่ออกช่วยเหลือในพื้นที่ที่อำเภอที่หนักที่สุด คืออำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน ได้แจ้งสถานีวิทยุทุกสถานีของจังหวัดเชียงราย ให้ประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนอย่าให้ตื่นตระหนก และก็ให้ปฏิบัติตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าดำเนินการ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะออกสำรวจความเสียหาย และช่วยเหลือเพื่อรายงานกลับมาที่ศูนย์อย่างทันท่วงที และเราได้แจ้งให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมการกู้ภัยชุดกู้ภัย ไปสนธิกำลังกับองค์กรการกุศลต่าง ๆ ว่า พร้อมที่จะออกร่วมกับศูนย์ต่าง ๆ ของจังหวัด และของอำเภอ ซึ่งจากนั้นเราได้ให้อำเภออีก 15 อำเภอที่ไม่ประสบเหตุ ซึ่งประสบเหตุเล็กน้อยนั้น จัดตั้งกำลังไว้เพื่อรองรับ รวมทั้งโรงพยาบาลด้วย ที่จะมาสนับสนุนอำเภอที่หนักก็คืออำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสนและอำเภอเมือง หลังจากนั้นจะดำเนินการเมื่อเหตุ ทั้งหมดได้รับรายงานบางส่วนแล้ว และได้แจ้งให้โยธาธิการจังหวัด อปท. ทุกแห่ง กำนันทุกแห่ง ออกสำรวจความเสียหายบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน ออกเตือน และออกสำรวจอาคารสถานที่ทำการว่ามีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ หากเกิดอาฟเตอร์ช็อคอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ก็เร่งดำเนินการ
จากนั้นก็ได้ดำเนินการสั่งการให้ อบจ. ออกสำรวจความเสียหายของราษฎรทันที ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานได้ระดมช่างต่าง ๆ นานาเพื่อจะออกซ่อมแซมช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชน ซึ่งไม่สามารถอยู่ในอาคารบ้านเรือนได้ ออกมานอนข้างนอกทั้งหมดในพื้นที่อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน และได้จัดสถานที่ที่มีความปลอดภัยตามแผนเผชิญเหตุก็คือ 1. หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย และ 2. ทางร่วมด้านหลังของโรงพยาบาลแม่สาย และบริเวณ อบต. บ้านเวียง ของอำเภอเชียงแสน และพื้นที่ที่เป็นพื้นที่โล่ง และได้สั่งให้ทหารและตำรวจออกดูแลคุ้มครอง และอาสาสมัคร อปพร. ได้เตรียมชุดตลอดเวลา จากนั้นได้ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นชลประทาน แขวงการทางทั้ง 2 แขวง ทางหลวงชนบท และหน่วยงานที่เกี่ยวกับโครงสร้างทั้งหมด ออกดำเนินการสำรวจความเสียหายว่า จะกระทบกระเทือนสิ่งใดอื่นใดหรือไม่ ซึ่งในวันรุ่งขึ้นวันที่ 25 มี.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เดินทางมาจังหวัดเชียงราย แจกสิ่งของต่าง ๆ ให้กับชาวบ้าน และได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของพัฒนาสังคมให้จำนวน 1,000 บาท ทั้งหมด 20 ครอบครัว จากนั้นได้มอบของช่วยเหลือชาวประเทศพม่า โดยมอบของทั้งหมด 6 คันรถ เพื่อส่งไปช่วยเหลือที่ท่าขี้เหล็ก ที่ตรงข้ามอำเภอแม่สาย ซึ่งได้เตรียมการศูนย์ไว้ทั้งหมดทุกอำเภอ เป็นศูนย์สนับสนุน 15 อำเภอ ศูนย์กลางก็คือศาลากลางจังหวัด 1 จุด และศูนย์ที่หนักที่สุดก็คืออำเภอแม่สายและอำเภอเชียงแสน
ด้านพระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งทำให้ยอดพระเจดีย์ที่มีอายุกว่า 680 ปี ได้หักจากกัน หล่นลงมาถึงพื้นและกระแทกพระธาตุที่อยู่เป็นบริวาร ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ในตอนนี้อาตมาภาพมีความเป็นห่วงถึงสภาพขององค์พระธาตุซึ่งมีอายุนานนี้ ถ้าหากไม่ได้รับการบูรณะอย่างเร่งด่วน หากเกิดมีฝนตกและมีน้ำซึมเข้าไปในองค์พระธาตุ อาจทำให้องค์พระธาตุทั้งหมดทรุดและพังลง อาตมาภาพจึงขอเจริญพรไปยังท่านนายกฯ ช่วยพิจารณาให้หน่วยงานที่ดูแลและเกี่ยวข้องทางด้านนี้ช่วยดูแลเป็นกรณีเร่ง ด่วน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้รายงานมาเมื่อคืน ว่ามีสถานที่สำคัญทางศาสนาและโบราณสถานที่เสียหายหลายจุด 7 จุดทั้งหมดและกำลังที่จะเตรียมเสนอแนวทางในการที่จะบูรณะและให้เกิดความมั่น ใจว่าไม่มีความเสียหายต่าง ๆ เพิ่มเติม และฟื้นฟูบูรณะขึ้นมา ซึ่งทางรัฐบาลจะได้มีการพิจารณาต่อไป ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ แผ่นดินไหวไม่เหมือนกับเรื่องฝนตกน้ำท่วม เพราะว่าเราไม่ทราบล่วงหน้าแต่ว่าที่จะเตือนกันได้ก็คือ เมื่อเกิดเหตุแล้วและอาจจะมีอาฟเตอร์ช็อคที่ตามมา และวันนั้นก็ได้รับทราบว่า การอพยพคนโดยเฉพาะโรงพยาบาล ก็สามารถดำเนินการได้ด้วยความเรียบร้อย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่จะให้ประชาชน โดยเฉพาะในชุมชนมีความพร้อมในการที่จะรับมือเวลาที่เกิดภัยพิบัติขึ้น
ด้านนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 24 มีนาคม จังหวัดน่านอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 300 กิโลเมตร ได้แจ้งให้ทุกหน่วยงานได้มีการสำรวจความเสียหายไปแล้ว เท่าที่รับรายงานตอนนี้ยังไม่ปรากฏความเสียหายที่เป็นถนน สะพาน ที่เป็นสิ่งสาธารณประโยชน์ แต่ที่รับรายงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลกระทบก็คือโบราณสถานในวัด 2 แห่ง แห่งแรกคือวัดพระธาตุแช่แห้งครับ ที่วัดพระธาตุแช่แห้งนี้ บริเวณวิหารพระนอน จะมีรอยร้าวอยู่ตัวอาคาร ประตูหน้าต่าง หรือเสาทั้ง 4 จนขณะนี้ทางวิศวกร กรมศิลปากร อยู่ระหว่างการสำรวจตรวจสอบ แต่รอยร้าวไม่น่าวิตกกังวลเพราะว่าเป็นร้อยร้าวขนาดเล็กครับ ส่วนอีกที่หนึ่งของวัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นโบราณสถานภายในวัดคือวิหารหลวง ซึ่งวิหารหลวงของวัดพระธาตุแช่แห้งมีรอยร้าวเดิมจากแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 24 มีนาคมก็มีรอยร้าวเพิ่มเติม วิหารหลวงแห่งนี้เป็นลักษณะที่สร้างมานาน สภาพที่เสียหายก็เป็นปูนที่เสื่อมสภาพ แต่ไม่มีปัญหาในเรื่องโครงสร้าง เพราะว่าโครงสร้างของวิหารหลวงยังแข็งแรงอยู่ ส่วนตัวพระธาตุแช่แห้ง ขณะนี้ได้มีโครงการในการบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งคาดว่าการบูรณปฏิสังขรณ์จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่วนแห่งที่ 2 วัดภูมินทร์ จะมีวิหารจัตุรมุข ซึ่งจะมีรอยร้าวอยู่เหนือประตู ซึ่งประตูด้านทิศตะวันตก จะมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญคือภาพปู่ม่านย่าม่าน จะมีรอยร้าวเล็ก ๆ ขึ้นมาประมาณสัก 2 เมตร ซึ่งสภาพปู่ม่านย่าม่านนี้อยู่ด้านทิศตะวันตก ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือพระพุทธรูป ซึ่งปรากฏรอยร้าวอยู่ตรงวิหาร ขณะนี้เราได้มีการสำรวจที่จะบูรณะซ่อมแซมแล้วครับท่านนายกฯ ครับ และเกี่ยวกับเรื่องของภัยแผ่นดินไหวของประชาชน จังหวัดได้มีการแจกคู่มือครับ เป็นคู่มือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อันนี้ได้แจกไปทั่วทุกแห่ง ซึ่งอันนี้ก็เป็นคู่มือที่พวกเราได้ดำเนินการอยู่
ด้านนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ชาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า เราเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและต่างประเทศ นำมาวิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบอะไรกับประชาชน และแจ้งเตือนไปยังประชาชนอย่างทันท่วงที โดยผ่านระบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเอง และช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น SMS สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ระบบสื่อสารวิทยุ VHF ผ่านยังหน่วยงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานระดับอำเภอ โดยมีระบบฮอตไลน์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เราจะวิเคราะห์ให้ตรงกับพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จากที่หน่วยงานที่ทำอยู่เดิม ที่เป็นภาพกว้าง เราจะเจาะลึกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะมีแนวทางในการอพยพต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เราจะดำเนินการให้ไปเป็นตามแผน ซึ่งเราได้มีการฝึกซ้อมและมีการดำเนินการร่วมกันมา อยากให้ติดตามข้อมูลข่าวสารทางราชการ และปฏิบัติตามข้อแนะนำและแนวทางของทางราชการให้คำแนะนำ ท่านก็จะมีความปลอดภัย ยืนยันว่าศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยทั้งชีวิตและ ทรัพย์สิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบของเราขณะนี้ได้มีการจัดพื้นที่ ประเภทของภัยความรุนแรง และจะมีขั้นตอนมีแผนเรียบร้อยว่าความรุนแรงระดับไหน ใครจะต้องทำอะไร ก็ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสาร ในกรณีของแผ่นดินไหวมีประชาชนจำนวนมากที่ยังมีความเป็นห่วงใน เรื่องความปลอดภัยของอาคารต่าง ๆ ได้มีการดำเนินการให้มีการสำรวจ โดยเฉพาะอาคารเก่า ซึ่งอาจจะยังไม่ได้มีโครงสร้างที่รองรับกับความรุนแรงของแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในพื้นที่อย่างเช่นภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้ก็จะมีการสำรวจและจะมีการให้คำแนะนำเจ้าของอาคารจะต้องมีการเสริม ความเข้มแข็งอย่างไร ทั้งนี้ ขอย้ำในทุกจังหวัดว่า รัฐบาลจะเข้าไปดูแลในเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน โบราณสถาน และสถานที่สำคัญอย่างเต็มที่ เรากำลังจะรวบรวมเรื่องทั้งหมด มีอะไรที่หน่วยงานส่วนกลาง รัฐบาลที่จะดำเนินการได้ ก็จะได้เร่งให้มีการดำเนินการต่อไป
ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ วันที่ 27 มี.ค.54 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ว่า ขอขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้ผ่านงบประมาณกลางปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งจะช่วยทำให้รับหลักการในวาระที่ 1 กฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งจะได้เร่งรัด เพื่อที่จะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น เพื่อรองรับการยุบสภาฯ ที่จะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม