xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 20-26 มี.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “เฉลิม” ไขก๊อกพ้น ส.ส.เพื่อไทยแล้ว ด้าน “จตุพร” ปูด ทหารเตรียมแผนช่วย “ปชป.”จัดตั้ง รบ.หลังเลือกตั้ง!
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ให้นายสงวน แก้วกล้า มายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร กับเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวรัฐสภา โดยไม่มีการชี้แจงและแถลงข่าวแต่อย่างใด ที่รัฐสภา
หลังรัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านไปได้ไม่มีปัญหา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงได้ออกมาย้ำอีกครั้งถึงกำหนดวันยุบสภาว่า จะมีขึ้นไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.อย่างแน่นอน โดยต้องรอให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับผ่านสภาก่อน ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ,ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้เสนอเข้าสภาแล้ว และรัฐบาลได้เสนอให้ที่ประชุมสภาเลื่อนวาระพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนเรื่องอื่นๆ

ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมสภา(24 มี.ค.) ใช้เวลาพิจารณาและอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับนานประมาณ 8 ชั่วโมง ก็ได้มีมติเอกฉันท์ 336 เสียงรับหลักการวาระ 1 จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 36 คน เพื่อแปรญัตติใน 7 วัน ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จะนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับกลับเข้าสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พูดถึงกำหนดวันยุบสภาว่า คิดว่าอย่างช้าจะยุบได้ในวันที่ 7-10 พ.ค. เพราะต้องรอทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จก่อน จากนั้น กกต.จะกำหนดว่าให้เลือกตั้งภายในกี่วัน โดยต้องเว้นอย่างน้อย 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ดังนั้นแนวโน้มจึงน่าจะเลือกตั้งช่วงต้นเดือน ก.ค. คือวันที่ 1-2 ก.ค.

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของหลายพรรคการเมืองเพื่อเตรียมรับศึกเลือกตั้งหากมีการยุบสภา โดยในส่วนของพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ถึงกับบอกลูกพรรคกลางที่ประชุมสามัญประจำปี(22 มี.ค.) ว่า ถึงเวลาต้องทุบหม้อข้าวเพื่อออกไปรบ แล้วเอาชัยชนะกลับมา ไม่เช่นนั้นไม่มีข้าวกิน

ขณะที่พรรคเพื่อไทย จู่ๆ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ยื่นหนังสือลาออกจาก ส.ส.สัดส่วน ซึ่งนายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนนำหนังสือลาออกของ ร.ต.อ.เฉลิมไปยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า เหตุที่ ร.ต.อ.เฉลิมลาออก เพราะต้องการเอาเวลาไปช่วย ส.ส.ของพรรคหาเสียง ไม่ได้น้อยใจที่ไม่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด พร้อมย้ำ ร.ต.อ.เฉลิมยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ไม่ได้วางมือทางการเมือง และไม่มีแนวโน้มจะไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่นหรือตั้งพรรคใหม่แต่อย่างใด

ด้านนายสุชาติ ลายน้ำเงิน รองโฆษกพรรคเพื่อไทย พูดไปอีกทาง โดยบอกว่า เหตุที่ ร.ต.อ.เฉลิมลาออก เป็นเพราะระหว่างกำลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกรณีล้มคดีภาษีบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) ได้มี ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยเขียนโน้ตบอกให้ ร.ต.อ.เฉลิมเตรียมสรุปข้อมูล เพราะกำลังจะหมดเวลาแล้ว ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมไม่พอใจ

ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณรับทราบการลาออกของ ร.ต.อ.เฉลิมแล้ว ไม่ได้ตกใจอะไร แต่แปลกใจเล็กน้อย นายนพดล เผยด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ข้อสรุปแล้วว่า คนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคนที่พรรคจะชูเป็นนายกฯ นั้นจะเป็นคนละคนกัน เพื่อป้องกันการถูกยุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมือง และว่า พรรคจะเผยแคนดิเดตนายกฯ ให้สาธารณะได้ทราบหลังยุบสภาแล้ว พร้อมยอมรับว่า ตอนนี้มีหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ,ร.ต.อ.เฉลิม , น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ,พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 โดยจะมีความชัดเจนต้นเดือน พ.ค.นี้

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาอ้างว่า ขณะนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจพิเศษขึ้นมา เพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ กอ.รมน.ทำโพลออกมาแล้วพบว่า พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้พรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้ง จึงต้องการให้หน่วยเฉพาะกิจไปบล็อคแกนนำคนเสื้อแดงและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่จะเดินสายหาเสียง แต่หากบล็อคไม่สำเร็จ แล้วพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะให้มีการนับจำนวน ส.ส.ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล หากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่าพรรคเพื่อไทย จะยกตำแหน่งนายกฯ ให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแทน ส่วนพรรคเพื่อไทยก็กลายเป็นฝ่ายค้าน

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาสวนกลับนายจตุพรว่า พูดไปเรื่อย ไม่น่าเชื่อถือ พรรคเพื่อไทยพูดอย่างนี้ประจำ พร้อมยืนยัน พรรคประชาธิปัตย์จะหาเสียงตามกติกาของระบอบประชาธิปไตย ไม่มีตัวช่วยอะไร และจะไม่ไปรบกวนข้าราชการประจำฝ่ายไหนทั้งสิ้น

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยืนยันว่า กอ.รมน.ไม่เคยทำโพลตามที่นายจตุพรอ้าง มีแต่สรุปมาจากหนังสือพิมพ์ พร้อมย้ำ ทหารมีหน้าที่รักษากฎหมายและวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ได้ออกมาอ้างว่า ขณะนี้พบความเคลื่อนไหวของนายทหารใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในกองทัพ โดยได้มีการประชุมหารือกันเมื่อวันที่ 21-22 มี.ค.เกี่ยวกับผลเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะได้รับโจทย์สำคัญจากมือที่มองไม่เห็น โดยมีการเตรียมมาตรการสำหรับจัดการกับผลเลือกตั้งและกำหนดรูปแบบของรัฐบาลหลังเลือกตั้งแล้ว “ผมได้ส่งสัญญาณไปถึงคนเสื้อแดงและประชาชนทั่วประเทศให้เฝ้าระวังการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด...”

2. พันธมิตรฯ เฮ รัฐสภากลัวผิดอาญา เลื่อนลงมติรับรองเจบีซี ด้านศาลแพ่ง สั่ง 13 แกนนำ พธม.ชดใช้ ทอท. 522 ล้าน ฐานปิดสนามบิน!

 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ขอให้ไต่สวนเอาผิดนายกรัฐมนตรีและคณะ ฐานทำไทยเสียดินแดน(22มี.ค.)
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ศาลแพ่ง ได้นัดพิพากษาคดีที่การท่าอากาศยานไทย(ทอท.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวม 13 คนเป็นจำเลย กรณีร่วมกันนำผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนไปชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายพิภพ ธงไชย ,นายสุริยะใส กตะศิลา ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ,นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ,นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง ,นายสำราญ รอดเพชร ,นายศิริชัย ไม้งาม ,นางมาลีรัตน์ แก้วก่า ,นายเทิดภูมิ ใจดี และนายอมร อมรรัตนานนท์ โดย ทอท.ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 13 คน เป็นเงิน 522 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2551

ทั้งนี้ คำฟ้องโจทก์ ระบุว่า ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 จำเลยทั้ง 13 คนได้นำผู้ชุมนุมบุกเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในสนามบินทั้งสองต้องยุติลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 13 คน ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลยุติธรรม พร้อมยืนยันว่า จำเลยทั้ง 13 คนไม่ได้ละเมิดโจทก์ อีกทั้งการชุมนุมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย

ด้านศาลแพ่ง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลปกครอง ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยทั้ง 13 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ที่จำเลยต่อสู้ว่า ผู้ชุมนุมมาโดยสมัครใจและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับสนามบินเป็นที่สาธารณะ และนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นผู้ออกคำสั่งให้หยุดให้บริการสนามบินเองนั้น ฝ่ายโจทก์มีภาพถ่ายและเทปบันทึกภาพการชุมนุมทั้ง 2 สนามบิน ซึ่งเป็นภาพแกนนำทั้ง 13 ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงและถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์เรียกร้องและระดมให้ผู้ชุมนุมออกมาให้มากเพื่อกดดันรัฐบาล ทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ศาลจึงเห็นว่า แม้เป็นการเข้าร่วมชุมนุมโดยสมัครใจ แต่เกิดจากการเรียกร้องปราศรัยของพวกจำเลย อีกทั้งการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชุดแรกที่เข้าไปในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนมากสวมหมวกหรือผ้าปิดบังใบหน้า บางคนถือไม้ บางคนถือท่อนเหล็ก บางคนถือมีดดาบ ส่งเสียงร้องอื้ออึง มีการปิดถนนสาธารณะทางเข้า-ออกสนามบินทั้งสองแห่ง ตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่จะผ่าน ทำให้บุคคลอื่นเกิดความกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้โจทก์ยังมีหลักฐานภาพถ่ายว่า ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 1 ในผู้ชุมนุมเข้ายึดหอบังคับการบิน ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม อันเป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้การบินและการพาณิชย์หยุดชะงักลง จึงถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำจำกัดความของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่ระบุว่า หมายถึงการใช้กำลังบุกรุกอากาศยานที่กำลังจะทำการบินหรือบริเวณที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการบิน การกระทำของจำเลยทั้ง 13 และกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้โจทก์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ จนเป็นเหตุให้นายเสรีรัตน์ออกคำสั่งหยุดให้บริการสนามบิน เนื่องจากเกรงว่าพนักงานและประชาชนจะไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า การชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 จะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมของพวกจำเลย ไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว และยังส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งละเมิดสิทธิและเสรีภาพการประกอบอาชีพและการคมนาคมของประชาชน ทำให้สนามบินทั้งสองแห่งไม่สามารถให้บริการได้ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายทั้งในหมู่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง การกระทำของจำเลยทั้ง 13 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหายที่ได้รับทั้งทางกายภาพ เช่น อุปกรณ์ต่างๆ เสียหาย และค่าเสียหายเชิงพาณิชย์จากการหยุดให้บริการการบิน จึงเห็นควรให้จำเลยทั้ง 13 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จากการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 510 ล้านบาทเศษ และจากการบุกยึดสนามบินดอนเมืองจำนวน 12 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งให้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ด้วยเป็นเงิน 80,000 บาท

ด้านนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา พูดถึงคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีดังกล่าวว่า เป็นประโยชน์ต่อคดีอาญาเป็นอย่างมาก ทำให้การร่างคำฟ้องของอัยการทำได้ง่ายขึ้น และว่า หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะไปคัดคำพิพากษาดังกล่าวมาประกอบสำนวนคดีอาญาที่มีการฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ พูดถึงคำพิพากษาของศาลแพ่งว่า พันธมิตรฯ ยอมรับในคำตัดสินของศาล แต่ยืนยันว่า ไม่ได้บุกสนามบินทั้ง 2 แห่ง และจะยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) 3 ฉบับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งเดิมรัฐบาลมีกำหนดประชุมในวันที่ 29 มี.ค. แต่จู่ๆ ก็เลื่อนวันประชุมให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 25 มี.ค. โดยก่อนถึงวันประชุม กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้สมาชิกวุฒิสภาไม่รับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เพราะจะส่งผลต่ออธิปไตยเหนือดินแดนของไทย นอกจากนี้พันธมิตรฯ ยังได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ด้วย เพื่อให้ดำเนินการกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพวก ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณียึดแนวทางตามเอ็มโอยู 2543 ทั้งที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ขณะที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ บอกว่า หากรัฐสภาผ่านกรอบเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ทางเครือข่ายฯ จะยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระเพื่อไต่สวนสมาชิกรัฐสภาที่ยกมือผ่านเจบีซีในข้อหากบฏ

ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ยังไม่สามารถลงมติรับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับได้ โดยนอกจากประสบปัญหาองค์ประชุมไม่ครบในบางช่วงแล้ว ยังมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง สุดท้ายจึงได้เลื่อนการลงมติรับรองบันทึกเจบีซีไปเป็นวันที่ 29 มี.ค.แทน

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ พูดถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาเลื่อนการลงมติรับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับเป็นวันที่ 29 มี.ค.ว่า “หลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านรัฐสภาถึง 2 ครั้ง มั่นใจว่า ส.ส.และ ส.ว.เริ่มมีความเคลือบแคลงสงสัยแล้วว่า หากรัฐบาลชงร่างบันทึกเจบีซีเข้าสู่การประชุมรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบจากสมาชิก ย่อมกระทบต่ออธิปไตยไทยแน่ ส.ส.-ส.ว.ที่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องของพันธมิตรฯ จึงไม่ยอมเข้าร่วมประชุม เพราะเกรงว่าจะมีความผิดทางอาญา ที่เราได้ยื่นดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว”

3. แผ่นดินไหวในพม่า 6.7 ริกเตอร์ สะเทือนไกลถึงไทย-ลาว มีผู้สังเวยชีวิตแล้ว 75 ศพ!

ถนนสายแม่สาย-เชียงแสน ทางไปหมู่บ้านป่าซางงาม ต.เกาะช้าง จ.เชียงราย เกิดรอยร้าวเป็นทางยาวร่วม 1.5 กิโลเมตร จากเหตุแผ่นดินไหวในพม่า
เมื่อค่ำวันที่ 24 มี.ค.ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ใกล้กับ อ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ห่างจาก จ.เชียงราย 56 กม. โดยแรงสั่นสะเทือนนอกจากรู้สึกได้ทั่วพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของไทยแล้ว ยังรู้สึกได้ไกลถึงกรุงเทพฯ รวมทั้งประเทศลาวและเวียดนามด้วย

ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในพม่าหลายสิบคน โดยยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 75 คนแล้ว (ณ วันที่ 25 มี.ค.) ขณะที่อาคารบ้านเรือนพังเสียหายกว่า 240 หลัง ทั้งในเมืองทาร์เลย์ มินลิน และท่าขี้เหล็ก ซึ่งมีผู้บาดเจ็บประมาณ 110 คน

ส่วนผลกระทบที่เกิดกับไทยจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว นอกจากทำให้อาคารบ้านเรือน โรงพยาบาล และโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีชาวบ้านเสียชีวิตด้วย 1 ราย คือ นางหงส์ คำปิง อายุ 55 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยถูกผนังบ้านที่พังลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวทับจนเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยอีก 5 ราย ไม่เท่านั้นแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวยังทำให้ถนนบางสายใน จ.เชียงรายเกิดการแยกตัวด้วย

รายงานแจ้งว่า หลังเกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ที่ อ.ท่าขี้เหล็ก ของพม่าเมื่อวันที่ 24 มี.ค.แล้ว ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกหลายสิบครั้ง ขนาด 3.0-6.2 ริกเตอร์ ขณะที่ล่าสุด วันนี้(26 มี.ค.) ยังคงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริกเตอร์ในพม่า ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย 60 กม. นอกจากนี้ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์ในประเทศลาว อยู่ห่างจาก จ.เชียงราย 102 กม. แต่ไม่มีรายงานความเสียหายจากแผ่นดินไหวดังกล่าว

ด้านนางพรทิพย์ ปั่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ได้นำทีมแถลง(25 มี.ค.)ถึงเหตุแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ในพม่า ซึ่งรู้สึกได้ถึงประเทศไทยและลาวว่า สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นผลจากการเลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนน้ำมาวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ระนาบเหลื่ยมซ้าย มีความยาว 150 กม. อยู่ในพม่ายาวต่อเนื่องไปในประเทศลาว โดยขนานกับกลุ่มรอยเลื่อนแม่จันใน จ.เชียงใหม่และเชียงราย ส่วนสาเหตุที่ กทม.รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าที่ จ.พิษณุโลก เนื่องจาก กทม.ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน

ขณะที่นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย เปรียบเทียบให้ฟังว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ มีความรุนแรงเท่ากับระเบิดปรมาณู 6 ลูก หากเกิดแผ่นดินไหว 7.5 ริกเตอร์ จะเท่ากับระเบิดปรมาณู 30 ลูก แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในไทย

ด้านนายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) เผยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7-8 ริกเตอร์ในรอยเลื่อนที่ใกล้ กทม. โดยเฉพาะรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจาก กทม.เพียง 200 กม. หรือรอยเลื่อนสะแกรง ที่พาดผ่านประเทศพม่าและทะเลอันดามัน ก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 8 ริกเตอร์ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง กทม.ก็จะเกิดความเสียหาย แต่อาจจะไม่มากเท่าประเทศเม็กซิโกที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.1 ริกเตอร์ แล้วทำให้อาคารสูงกว่า 20% พังลงมา จนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 หมื่นคน

4. โยกย้ายนายทหารกลางปี 132 นาย “คณิต” พ้น ทบ.จ่อปลัดกลาโหม ด้าน “วลิต” ขึ้น ผบ.พล 2 คาด จากผลงานปราบเสื้อแดง!
พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ได้ขึ้นเป็น ปธ.ที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหาร 132 ตำแหน่ง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวเป็นการโยกย้ายกลางปี โดยตำแหน่งที่ถูกจับตามากที่สุด คือ พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก(ทบ.) ซึ่งโยกไปเป็นประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม ขณะที่ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพันทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(ผบ.พล.ร.2 รอ.) ได้ขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ส่วนผู้ที่มารั้งตำแหน่ง ผบ.พล.ร.2 รอ. แทน พล.ต.วลิต ก็คือ พ.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร นายทหารวงศ์เทวัญ ที่ข้ามห้วยมาจากตำแหน่ง รอง ผบ.พล.1 รอ.

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การปรับย้าย พล.อ.คณิตนั้น เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ต้องการผลักดันให้ พล.อ.คณิตข้ามห้วยมารอตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม จึงให้มานั่งประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหมเพื่อชิงความอาวุโสไว้ก่อน นอกจากนี้ยังเป็นการปลอบใจ พล.อ.คณิต ที่อกหักจากการปรับย้ายเมื่อเดือน ต.ค.2553 เนื่องจากขณะนั้น พล.อ.คณิตถูกมองว่าไม่เต็มที่กับการปราบม็อบเสื้อแดง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่พอใจ จึงดัน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ จากรองเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบกแทน เพราะมีผลงานในการปราบม็อบเสื้อแดง ทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) กับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย หลังจากนั้น พล.อ.คณิตจึงลดบทบาทตัวเองลง

ส่วนการปรับ พล.ต.วลิต ขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 นั้น มีรายงานว่า เป็นการปูนบำเหน็จให้ พล.ต.วลิตที่มีบทบาทในการขอคืนพื้นที่จากคนเสื้อแดงบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2533 ซึ่ง พล.ต.วลิตถูกยิงด้วยเอ็ม 79 บริเวณสี่แยกคอกวัว

สำหรับตำแหน่งอื่นที่น่าสนใจในการโยกย้ายครั้งนี้ ได้แก่ พล.ท.ธนดล เผ่าจินดา ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (น้องชาย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก) โยกไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก , พล.ท.ธงชัย เทพารักษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 โยกไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย , พล.ต.นพดล โชติศิริ รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร ขึ้นเป็นเจ้ากรมแผนที่ทหาร ฯลฯ ขณะที่นายพลหญิงใหม่มีเพียงคนเดียว คือ พ.อ.หญิง จินตนา เกิดผล บุตรสาว พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก อัตราพลตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น