xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 13-19 มี.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ผลโหวตซักฟอก รบ. ผ่านฉลุย ผิดคาด “ชวรัตน์-พรทิวา” น่าไว้วางใจกว่านายกฯ ด้าน “ภท.-ชทพ.”จับมือตั้ง รบ.สมัยหน้าแล้ว!
 บรรยากาศการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีระหว่างถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ
บรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 15-18 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่พรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ,นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ,นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ,นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ,นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ปรากฏว่า ไฮไลต์ที่น่าสนใจ ได้แก่ การเปิดอภิปรายของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ที่ชี้ว่าการบริหารประเทศของนายอภิสิทธิ์ล้มเหลว มีการทุจริตเรียกหัวคิวใต้โต๊ะ เช่น น้ำมันปาล์ม แต่นายอภิสิทธิ์ ก็ชี้แจงตอบโต้ว่า ข้อมูลของนายมิ่งขวัญมีการตกแต่งตัดต่อ โดยเฉพาะที่กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้กู้มากที่สุด ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าไม่จริง พร้อมชี้ว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับจีดีพีสมัยรัฐบาลนี้ยังน้อยกว่าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสียอีก ไม่เท่านั้นนายอภิสิทธิ์ ยังสวนกลับนายมิ่งขวัญด้วยว่าเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมาก เพราะมีการเก็บข้าวไว้ในสต๊อกกว่า 2 ล้านตัน แต่สุดท้ายเก็งตลาดผิด ทำให้ข้าวราคาตก

ทั้งนี้ การพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณของนายอภิสิทธิ์ ก็ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ โดยชี้ว่า ได้ฟังนายอภิสิทธิ์ตอบในสภาแล้ว รู้สึกว่าน้องยังเด็กเหลือเกิน นักการเมืองที่ดีต้องพูดความจริงต่อประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณ ยังสวนกลับนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า สมัยตนเป็นรัฐบาลต้องรับหนี้มาจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ 2 ก้อนใหญ่ๆ คือหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงินร่วม 7 แสนล้านบาท และหนี้ที่กู้มาจากมิยาซาว่า เอดีบี เวิลด์แบงก์ และไอเอ็มเอฟ 6 แสนล้าน ซึ่งสมัยตนได้ใช้หนี้ไอเอ็มเอฟไปหมดแล้ว

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ที่ถูก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาด และอาจมีการแสวงประโยชน์จากปัญหาดังกล่าว พร้อมแฉว่า มีผู้ประกอบการรายหนึ่งมีความสนิทสนมกับนายสุเทพ คือ “มิสเตอร์พีเค” โดยนายสุเทพ ยอมรับว่า รู้จักบริษัทพีเค แต่ไม่ได้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมประกาศโดยเอาอนาคตทางการเมืองของตัวเองเป็นเดิมพัน “ที่บอกว่าผมเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ถ้า น.อ.อนุดิษฐ์และนายมิ่งขวัญอยากมีอนาคตทางการเมืองก็เดิมพันกันได้เลย ตั้งกรรมการทุกส่วนไปสอบเลย ถ้าผมมีรายได้จากปาล์มน้ำมันในกรณีนี้แม้แต่บาทเดียวละก็ ผมก็เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิตเลย ถ้าคุณ 2 คนพร้อมที่จะรับท้า ผมก็เริ่มลงมือได้ตั้งแต่วันนี้”

ขณะที่นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยอภิปรายว่าแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำไม่ได้ และมีการทุจริตในกระทรวงพาณิชย์ โดยเครือญาติได้ประโยชน์นั้น นางพรทิวา ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่า ไม่ได้มีการเอื้อประโยชน์ใดใดให้คนใกล้ชิด พร้อมชี้ว่า นายสุนัยเอาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มาตัดแปะ

ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถูกนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าทำให้กระทรวงมหาดไทยอยู่ในยุคตกต่ำสุด เช่น โยกย้ายข้าราชการโดยไร้ธรรมาธิบาล ฯลฯ ปรากฏว่า นายชวรัตน์ได้ท้าให้นายชวลิตนำพยานมา ถ้ามีใครจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่งกับตน พร้อมจะรับผิดชอบ

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี ได้อภิปรายรัฐบาลเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง โดยแฉว่าคนที่บงการสั่งฆ่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ไม่ใช่คนธรรมดา พร้อมถามว่านายสุเทพจะตั้งกรรมการสอบหรือไม่ ถ้าบอกให้ว่า มี สิบเอก “พ.” เป็นมือสไนเปอร์ เสธ.แดง นายวิเชียร ยังพูดทำนองเตือนนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า ผลจากการสังหาร เสธ.แดง ทำให้ลูกน้อง เสธ.แดงแค้นและรอคิดบัญชีอยู่ แม้วันนี้นายอภิสิทธิ์ไปไหนจะมี รปภ.นับพันคอยดูแล แต่วันที่ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว จะอยู่อย่างไร

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ มีคู่ที่ปะทะกันค่อนข้างดุเดือด เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ที่อภิปรายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และการสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งนายจตุพร อ้างว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่นายสุเทพ ก็ชี้ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากการปลุกระดมของแกนนำ นปช.และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ปลุกให้เผาบ้านเผาเมือง นายสุเทพ ยังบอกด้วยว่า นายจตุพรเป็นฆาตกรฆ่าประชาชน เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นฝีมือกองกำลังของคนเสื้อแดง “อยากให้ดูหน้าว่าใครหน้าตาคล้ายฆาตกรมากกว่ากัน” ด้านนายจตุพร รีบสวนกลับว่า “อย่าว่าแต่ฆ่าคนเลย แค่คิดแย่งเมียเพื่อนยังไม่กล้าเลย และดูแล้วหน้าตารองนายกฯ เหมือนฆาตกรฆ่าต่อเนื่องมากกว่า”

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ก็ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเช่นกัน โดยเป็นตัวหลักในการอภิปรายเรื่องภาษีบุหรี่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด โดยอ้างว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจนเป็นเหตุให้อัยการสั่งไม่ฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ที่สำแดงราคานำเข้าบุหรี่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีที่ควรได้รับ 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ชี้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ 6.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพราะเมื่อคิดภาษีอีก 4 ตัว โดยเฉพาะภาษีบาป(ภาษีสรรพสามิต)นั้น ประเทศต้องสูญเสียไปถึง 1.11 แสนล้านบาท

ด้านนายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องไปอ่านว่าที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะอะไร ส่วนราคาที่ต้องสำแดงนั้น มีแต่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดราคา ตนหรือใครก็กำหนดไม่ได้ “ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรเรื่องนี้เลย และรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ส่งเสริมบุหรี่ กลับเป็นรัฐบาลเดียวที่บอกว่า จะเพิ่มภาษีบุหรี่และภาษีบาป คิดหรือว่าผมไม่ต้องการภาษีเพิ่มอีกเป็นแสนล้านบาท ผมทำทุกอย่างโดยยึดถือประโยชน์ประเทศและสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมต้องมาโทษพวกผม ก็ทำมาตั้งแต่รัฐบาลพวกท่าน”

ทั้งนี้ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น มีข่าวว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะงดออกเสียงให้รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากเห็นว่าชี้แจงได้ไม่ดี เช่น นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้สื่อข่าวจึงได้ไปถามนายชวรัตน์ ถึงเรื่องนี้ ซึ่งแม้นายชวรัตน์ จะยืนยันว่า ไม่กังวลใจ แต่นายชวรัตน์ก็ไม่วายพูดทำนองขู่พรรคประชาธิปัตย์ว่า “หากไม่รักษาน้ำใจกัน เท่ากับว่าไม่ได้คำนึงถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ หลังการเลือกตั้งเราก็คงไม่เป็นแนวร่วมกับเขาเช่นกัน”

สำหรับผลการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 9 คนซึ่งมีขึ้นเมื่อเช้าวันนี้(19 มี.ค.) ปรากฏว่า ทุกคนผ่านฉลุย แต่มีสิ่งที่ผิดคาดเล็กน้อย เพราะคนที่คาดว่าน่าจะได้รับเสียงไว้วางใจน้อยที่สุดคือนางพรทิวา เนื่องจากถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่าชี้แจงในสภาน้อยเกินไป กลับได้รับเสียงไว้วางใจมากที่สุด โดยได้รับเสียงไว้วางใจ 251 เสียง ไม่ไว้วางใจ 186 เสียง ส่วนผู้ที่ได้รับเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด คือนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยได้รับเสียงไว้วางใจเพียง 243 เสียง ไม่ไว้วางใจ 188 ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ได้รับเสียงไว้วางใจ 249 เสียง ไม่ไว้วางใจ 184 ,นายสุเทพ ได้รับเสียงไว้วางใจ 249 ไม่ไว้วางใจ 185 ,นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีคลัง ได้รับเสียงไว้วางใจ 245 ไม่ไว้วางใจ 185 ,นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีไอซีที ได้รับเสียงไว้วางใจ 247 ไม่ไว้วางใจ 185 ,นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้รับเสียงไว้วางใจ 246 ไม่ไว้วางใจ 182 ,นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย ได้รับเสียงไว้วางใจ 250 ไม่ไว้วางใจ 188 ,นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม ได้รับเสียงไว้วางใจ 248 ไม่ไว้วางใจ 188 ส่วนนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับเสียงไว้วางใจ 247 ไม่ไว้วางใจ 188

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากกระแสการเมืองจะอยู่ที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว ยังมีกรณีที่พรรคภูมิใจไทย(ภท)จับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ด้วย ซึ่งแกนนำของทั้งสองพรรคได้นัดหารือกันเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ก่อนออกแถลงการณ์ร่วมกัน 3 ข้อ คือ 1.ทั้งสองพรรคจะมุ่งมั่นทำการเมืองเพื่อปกป้องสถาบันสูงสุดของชาติ และสร้างความปรองดองให้แก่คนในชาติ 2.ทั้งสองพรรคให้สัจวาจาว่าต่อไปนี้จะทำงานการเมืองร่วมกันและมีจุดยืนร่วมกัน และ 3.หลังการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทั้งสองพรรคจะตัดสินใจทางการเมืองร่วมกัน

ทั้งนี้ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า การที่พรรคจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้ต้องการเป็นตัวแปรหรือเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง แต่เพื่อสร้างความเชื่อมมั่นแก่สังคมว่าต่อไปนี้ทั้งสองพรรคจะรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ได้ปิดทางหากพรรคอื่นจะเข้ามาร่วม ขณะที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย พูดทีเล่นทีจริงว่า พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาอาจได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป “ทำไมทุกคนถามแต่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 1 เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำไมไม่มีใครคิดว่า สองพรรคนี้จะเป็นพรรคอันดับ 1 บ้าง และหากเป็นจริง อะไรจะเกิดขึ้น เห็นไหมว่าที่นี่เขาตั้งรัฐบาลกันเสร็จแล้ว”

2. “พันธมิตรฯ - เครือข่ายคนไทยฯ” ยัน ไม่ย้ายที่ชุมนุม ด้าน “ผบ.ตร.” เตรียมเสนอต่ออายุ พ.ร.บ.มั่นคงฯ อีก 30 วัน!
เจ้าหน้าที่ตำรวจ เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ
ความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ หลังจากศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ขีดเส้นให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุมภายในวันที่ 15 มี.ค. โดยอ้างว่าต้องเปิดพื้นที่เพื่อเตรียมจัดงานกาชาดในวันที่ 30 มี.ค. หากไม่ยุติชุมนุม คงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันจะไม่ยุติชุมนุมจนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือยกเลิกเอ็มโอยู ปี 2543 ,ให้ถอนตัวออกจากกรรมการมรดกโลก และผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ปรากฏว่า ยังไม่ทันถึงกำหนด 15 มี.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลประมาณ 7 กองร้อย ก็ได้พยายามเข้าพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 14 มี.ค. แต่ผู้ชุมนุมได้ตั้งแถวป้องกันไม่ให้ตำรวจเข้าพื้นที่ จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ส่งผลให้ตำรวจต้องกลับที่ตั้งในที่สุด

ด้าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) พูดถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่จากกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่สำเร็จว่า ไม่ถือว่าตำรวจเสียหน้า เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นถึงความพยายามของเจ้าหน้าที่แล้ว และว่า หลังจากนี้จะเจรจากับแกนนำต่อไปจนกว่าจะยอมเปิดพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอดทน

ขณะที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 อ้างว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเช้ามืดวันที่ 14 มี.ค.ไม่ใช่การขอคืนพื้นที่ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.เข้ารื้อส้วมของกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวน 48 ห้อง เพราะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้สัญจรไปมานานแล้ว

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล อ้างว่า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำเจ้าหน้าที่เทศกิจจะเข้ารื้อส้วมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ถูกผู้ชุมนุมกั้นไม่ให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งมีการขว้างปาขวดใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส.ได้นำ ด.ต.ภคิน มีเพชร ผบ.หมู่งานจราจร สน.ทุ่งมหาเมฆ มาโชว์ตัว โดยอ้างว่า ได้รับบาดเจ็บถูกผู้ชุมนุมขว้างถุงพลาสติกเข้าใส่ขณะจะนำเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ารื้อส้วมของผู้ชุมนุม โดยถุงไปโดนกิ่งไม้ แต่น้ำในถุงกระเด็นเข้าตา จนรู้สึกแสบตาและแสบคอ และว่า กลิ่นของน้ำเหมือนน้ำยาล้างห้องน้ำ ทั้งนี้ พล.ต.อ.วิเชียร ย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

ทั้งนี้ เหตุการณ์เจ้าหน้าที่พยายามเข้ารื้อส้วมของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ไม่สำเร็จ จนมีการกระทบกระทั่งกัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้านำกำลังเข้าขอคืนพื้นที่ตามเส้นตายที่ ศอ.รส.ให้พันธมิตรฯ ยุติชุมนุมในวันที่ 15 มี.ค. โดยเลื่อนออกไปเป็นการเจรจากับแกนนำพันธมิตรฯ และแกนนำกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติในวันที่ 18 มี.ค.แทน โดยตำรวจได้เสนอให้ผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มย้ายสถานที่ชุมนุมไปเป็นบริเวณข้างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ข้างกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันจะไม่ยุติชุมนุมและไม่ย้ายสถานที่ชุมนุม ขณะที่แกนนำกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ก็มีมติว่าจะไม่ย้ายสถานที่ชุมนุมเช่นกัน โดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายคนไทยฯ บอกว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ทั้ง 2 แห่งที่ตำรวจเสนอมาแล้ว พบว่ามีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงต้องปฏิเสธ ส่วนที่ตำรวจต้องการให้เปิดการจราจร 2 ช่องทางบน ถ.พิษณุโลก นายไชยวัฒน์ ก็ยืนยันว่า ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะหากผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่ปลอดภัยหากมีรถสัญจรไปมา

นายไชยวัฒน์ ยังบอกด้วยว่า ทางกลุ่มเครือข่ายคนไทยฯ พร้อมจะยุติการชุมนุมทันที หากนายอภิสิทธิ์และรัฐบาลกล้าออกทีวีแถลงถึงมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ จนผู้ชุมนุมพอใจ และรับประกันด้วยว่าจะช่วยเหลือได้ในกี่วัน พร้อมทั้งยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่สูญเสียดินแดน หากนายกฯ กล้าทำเช่นนี้ ทางกลุ่มฯ ก็พร้อมจะยุติการชุมนุมก่อนงานกาชาดด้วยซ้ำ

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะประกาศยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลเตรียมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า คณะกรรมการปกป้องราชอาณาจักรไทยมีมติเอกฉันท์ว่า แม้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือประกาศยุบสภา พันธมิตรฯ ก็จะชุมนุมต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้อง

ด้าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยว่า วันจันทร์ที่ 21 มี.ค.นี้ ตนจะเสนอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) พิจารณาต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ออกไปอีก 30 วัน เนื่องจากเชื่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังมีผลกระทบต่อความมั่นคง และมีการชุมนุมหลายกลุ่ม โดยจะมีการเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่ 22 มี.ค.ต่อไป พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนการขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมนั้น พล.ต.อ.วิเชียร บอกว่า ขณะนี้ยังสามารถควบคุมได้ หากทำผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

3. “ก.พ.ค.” มีมติคืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองให้ “วงศ์ศักดิ์” ชี้ คำสั่งย้ายไม่ชอบด้วย กม. ด้าน “มท.” ยังยื้อ ไม่ยอมคืนเก้าอี้!
นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ซึ่งถูกสั่งย้ายจากอธิบดีกรมการปกครอง ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นางจรวยพร ธรนินทร์ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) เปิดแถลงกรณีนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ยื่นหนังสือถึง ก.พ.ค. เรียกร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกนายมานิต วัฒนเสน ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย โยกย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยว่า ก.พ.ค.ได้พิจารณาคำร้องแล้ว เห็นว่า การโยกย้ายนายวงศ์ศักดิ์เป็นการดำเนินการโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎ ก.พ.ค. โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การโยกย้ายดังกล่าวมีเหตุผลเนื่องมาจากนายวงศ์ศักดิ์ไม่ดำเนินการตามความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในโครงการจัดระบบให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ วงเงิน 3,490 ล้านบาท ที่มีการแก้ไขทีโออาร์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้างบางราย และโครงการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์หรือสมาร์ทการ์ด วงเงิน 900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ก.พ.ค.ยังเห็นว่า การโยกย้ายดังกล่าวไม่มีเหตุผลเพียงพอ เนื่องจากก่อนเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อเห็นชอบโยกย้ายนายวงศ์ศักดิ์นั้น ไม่มีตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยว่าง ประกอบกับนายวงศ์ศักดิ์ไม่มีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องการแก้ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองใน กทม.และต่างจังหวัดตามที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวอ้าง ดังนั้นคำสั่งย้ายจึงไม่มีเหตุผลพอให้รับฟังได้ อีกทั้งการให้นายมงคล สุรัจจะ มาเป็นอธิบดีกรมการปกครองแทนนั้น ก็ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงว่า นายมงคลมีความรู้ความสามารถมากกว่านายวงศ์ศักดิ์ ด้วยเหตุนี้ ก.พ.ค.จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่โยกย้ายนายวงศ์ศักดิ์ไปรักษาราชการตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และยกเลิกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้นายมงคลมารักษาราชการตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง รวมทั้งยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการให้นายวงศ์ศักดิ์พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองและให้นายมงคลเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ตลอดจนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยเรื่องการขาดจากอัตราเงินเดือนและได้รับเงินเดือนของนายวงศ์ศักดิ์และนายมงคล

นางจรวยพร บอกด้วยว่า ได้แจ้งคำวินิจฉัยให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีทราบตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. พร้อมยืนยันว่า ผลจากการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ทำให้นายวงศ์ศักดิ์ยังมีสถานะเป็นอธิบดีกรมการปกครองเช่นเดิม โดยมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.2553 ส่วนนายมงคล เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงมหาดไทยที่จะเยียวยาจัดหาตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสมให้ต่อไป

หลังทราบผลคำวินิจฉัย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เปิดแถลงว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความเป็นธรรม ความยุติธรรมยังคงมีอยู่ พร้อมย้ำว่า ที่ร้องเรื่องนี้ต่อ ก.พ.ค.ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้กลับสู่ตำแหน่งเดิม เพียงแต่ต้องการให้ ก.พ.ค.สอบสวนข้อเท็จจริง “ผลที่ออกมาเช่นนี้ถือเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชการทุกคนที่ถูกการเมืองรังแก ถือเป็นขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการ” ผู้สื่อข่าวถามว่า จะฟ้องนายมานิต วัฒนเสน อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นผู้เสนอให้มีการโยกย้ายหรือไม่ นายวงศ์ศักดิ์ บอกว่า “ดูก่อน ถ้าดูแล้วไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งกัน ก็ไม่ฟ้อง เพราะเวรต้องระงับด้วยการไม่จองเวร”

ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมหาดไทย รีบออกตัวเหมือนกับต้องการปัดเรื่องดังกล่าวให้พ้นตัวโดยบอกว่า ต้องสอบถามปลัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นผู้วินิจฉัย และเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งย้าย ส่วนตนมีอำนาจโยกย้ายตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น

ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกกระทรวงมหาดไทย บอกว่า โดยหลักการ เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองแล้ว หากมีคำสั่งให้นายวงศ์ศักดิ์กลับมา ย่อมเป็นไปไม่ได้ ตามระเบียบ ก.พ.2551 กระทรวงฯ ทำได้เพียงขอตำแหน่งที่เทียบเท่ากับอธิบดีให้นายวงศ์ศักดิ์เท่านั้น แต่ต้องมีการประชุมหารือด้านกฎหมายก่อน เพราะนายวงศ์ศักดิ์ยังถูกตั้งกรรมการสอบวินัยโดย ป.ป.ช.อยู่

ด้านนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 หรือตำแหน่งอธิบดี ปลัดกระทรวงฯ ต้องเสนอชื่อต่อรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐมนตรีเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบ เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว นายกฯ จะเสนอชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก่อนจะมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่อยู่ดีดีจะมายกเลิกกันได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) พูดถึงคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ว่า เรื่องยังมาไม่ถึงตน แต่โดยหลักแล้ว ตนในฐานะประธาน ก.พ. เมื่อ ก.พ.ค.มีมติออกมา หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ปฏิบัติตามมติ ก.พ.ค.โดยได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามมติของ ก.พ.ค.ที่มีมติคืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองให้กับนายวงศ์ศักดิ์ โดยมีนายสุรพล พงศ์ทัดสิริกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการทำงานให้คณะกรรมการดังกล่าวแต่อย่างใด

4.แผ่นดินไหว ส่งผลญี่ปุ่นเผชิญวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่คนไทยยังสูญหายกว่า 800 คน!
กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นนำน้ำจากมหาสมุทรนอกชายฝั่งตะวันออกไปเทใส่เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา เพื่อป้องกันไม่ให้ระเบิด(17มี.ค.)
หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 8.9 ริกเตอร์ บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 4-10 เมตร ซึ่งนอกจากสร้างความเสียหายให้อาคารบ้านเรือนแล้ว ยังทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก โดยล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายทะลุ 1 หมื่นคนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากแผ่นดินไหว ไม่เพียงก่อให้เกิดสึนามิ แต่ยังทำให้อาคารที่เก็บเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไดอิจิ ของบริษัท โตเกียวอิเล็คทริคเพาเวอร์(เทปโก้) ในเมืองฟุคุชิมา ที่อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวราว 250 กม.ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง เกิดระเบิดขึ้นบางแห่ง เนื่องจากระบบหล่อเย็นมีปัญหาจากเหตุแผ่นดินไหว แรงระเบิดนอกจากทำให้เจ้าหน้าที่ในอาคารได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีด้วย ซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นต้องเร่งอพยพประชาชนให้อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และให้ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอยู่แต่ในบ้านพัก เพื่อป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตรังสี

ด้านนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงทางโทรทัศน์(13 มี.ค.)ก่อนที่อาคารเก็บเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 จะระเบิด โดยยอมรับว่า “เหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นเผชิญในรอบ 65 ปี นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2”

ขณะที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น ทรงมีพระราชดำรัสต่อพสกนิกรชาวญี่ปุ่น(16 มี.ค.) โดยทรงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหยื่อแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งนี้ พร้อมสวดภาวนาขอให้พสกนิกรปลอดภัย และขอให้ทุกคนอย่าได้ท้อถอย สิ้นหวัง พร้อมตรัสขอบคุณเจ้าหน้าที่กู้ภัยทั้งในญี่ปุ่นและจากต่างประเทศที่เข้าไปช่วยเหลือค้นหาผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัด

ทั้งนี้ บรรดาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวนับล้านคนต้องอยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ และขาดน้ำบริโภค ขณะที่อีกหลายแสนคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวจัดและมีหิมะตกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ขณะที่ทางการญี่ปุ่น ยังคงพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันไม่ให้โรงไฟฟ้าและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด โดยล่าสุด(18 มี.ค.) สำนักงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้ประกาศเพิ่มระดับความรุนแรงของวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา จากระดับ 4 เป็นระดับ 5 แล้ว จากทั้งหมด 7 ระดับ นั่นหมายความว่าได้เกิดผลกระทบในวงกว้างและรุนแรงเทียบเท่ากับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนเกาะทรีไมล์ ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ เมื่อปี 2522 แล้ว

ขณะที่ในส่วนของไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นจำนวน 200 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติจัดส่งข้าว 1.5 หมื่นตันให้ด้วย ส่วนคนไทยในญี่ปุ่นที่ยังสูญหายนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี บอกว่า ขณะนี้กำลังเร่งติดตามอยู่

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า ใน 11 จังหวัดของญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีคนไทยอยู่ราว 2 หมื่นคน โดยขณะนี้พบแล้ว 15,000 คน ส่วนที่เหลือยังเร่งติดต่ออยู่ ส่วนการช่วยเหลือของไทยต่อประเทศญี่ปุ่นนั้น นายกษิต เผยว่า จนถึงขณะนี้ยอดเงินบริจาคมายังบัญชีของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ที่ 20 กว่าล้านบาทแล้ว ด้านนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่า ล่าสุด(18 มี.ค.) เหลือยอดคนไทยในจังหวัดที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นที่ยังติดต่อไม่ได้จำนวน 832 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น