ศาลแพ่งสั่ง “จำลอง-แกนนำ พธม.” ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 522 ล้านบาท ให้บริษัท การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรณีชุมนุมสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ศาลชี้กระทำผิดฐานละเมิดทำให้เสียหายทั้งกายภาพและทางพาณิชย์
วันนี้ (25 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณคดี 403 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 6453/2551 ที่บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.โดย นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกสัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายนรัณยู วงศ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิ ใจดี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยที่ 1-13 ในความผิดเรื่องละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีร่วมกันนำผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯหลายหมื่นคนไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เมื่อเดือน พ.ย.51
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 จำเลยทั้ง 13 ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรนำผู้ชุมนุมไปบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ทำให้การให้บริการต่างๆ ภายในท่าอากาศยานทั้งสองต้องหยุดลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้ง 13 นำกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากท่าอากาศยานทั้งสอง และทำให้อยู่ในสภาพเดิม และขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้ง 13 ให้การไปในทำนองเดียวกัน ว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จำเลยทั้ง 13 มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การชุมนุมของจำเลยทั้ง 13 กับพวกได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย
ในชั้นพิจารณาโจทก์นำพยานเข้าสืบ 24 ปาก และอ้างส่งเอกสารรวม 164 ฉบับ วัตถุพยาน 9 อันดับ ส่วนจำเลยทั้ง 13 นำพยานเข้าสืบ 15 ปาก และอ้างส่งเอกสารรวม 28 ฉบับ
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลปกครอง ที่จำเลยอ้างโจทก์ไม่มีเจตนาฟ้อง แต่คดีนี้โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำละเมิด โจทก์ใช้สิทธิที่พึงมี ฟ้องศาลได้ จึงเป็นการฟ้องโดยสุจริต
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าผู้ชุมนุมมาโดยสมัครใจ และใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ท่าอากาศยานเป็นสถานที่สาธารณะ และ นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เป็นผู้ออกคำสั่งให้หยุดให้บริการสนามบินเอง เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีภาพถ่ายและเทปบันทึกภาพการชุมนุมที่สนามบินทั้งสองแห่งเมื่อวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 ซึ่งเป็นภาพแกนนำทั้ง 13 ขึ้นเวทีชุมนุมกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง และถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมออกมาให้มาเพื่อกดดันรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่เรียกว่ากลุ่มพันธมิตรฯเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก แม้เป็นการเข้าชุมนุมโดยสมัครใจ แต่เกิดจากการเรียกร้องปราศรัยของพวกจำเลย และเมื่อปรากฏว่า กลุ่มพันธมิตรฯเข้าไปในท่าอากาศยานทั้งสองแห่งของโจทก์ แม้จะเป็นพื้นที่สาธารณะที่จะต้องเข้าไปใช้บริการอย่างหนึ่งอย่างใดเยี่ยงประชาชนทั่วไป แต่กลับใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมกดดันรัฐบาล อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรฯชุดแรกที่เข้าไปในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนมากสวมหมวก หรือผ้าปิดบังใบหน้า บางคนถือไม้ บางคนถือท่อนเหล็ก บางคนถือมีดดาบ และบางคนมีหน้าไม้ ส่งเสียงโห่ร้องอื้ออึง มีการปิดกั้นถนนสาธารณะทางเข้าออกของท่าอากาศยานทั้งสองแห่ง ตรวจค้นรถยนต์ทุกคันที่จะผ่านก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อบุคคลอื่นว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย
นอกจากนี้ ฝ่ายโจทก์ยังมีพยานและภาพถ่ายเป็นหลักฐาน ว่า เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ หนึ่งในผู้ชุมนุมได้นำกลุ่มพันธมิตรฯเข้ายึดหอบังคับการบิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่การบินและเป็นเขตหวงห้ามบุคคลภายนอกเข้า อันเป็นการแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าประสงค์จะให้การให้บริการการบินและการพาณิชย์หยุดชะงักลง ถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำจำกัดความของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า หมายถึงการใช้กำลังบุกรุกอากาศยานที่กำลังจะทำการบิน บุกรุกท่าอากาศยานหรือบริเวณที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการบิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนั้น ยังกำหนดให้โจทก์ต้องยึดถือความปลอดภัยของผู้โดยสาร ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินและสาธารณชนเป็นอันดับแรก การกระทำของจำเลยทั้ง 13 และกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้โจทก์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าวได้ จนเป็นเหตุให้ นายเสรีรัตน์ ออกคำสั่งหยุดให้บริการสนามบิน เนื่องจากเกรงว่าพนักงานและประชาชนจะไม่ได้รับความปลอดภัย
การชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม.63 นั้น ศาลแพ่งเห็นว่าหมายถึงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตาม ม.63 วรรคหนึ่ง แต่การชุมนุมของพวกจำเลย มิได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว และยังส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประโยชน์สาธารณะ ละเมิดสิทธิและเสรีภาพการประกอบอาชีพและการคมนาคมของประชาชน ซึ่งการชุมนุมจะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีตาม ม.28 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชุมนุมจะต้องตั้งอยู่บนหลักแห่งความสมดุลกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และมิใช้สิทธิเด็ดขาดที่พวกจำเลยทั้ง 13 เป็นผู้จัดการชุมนุม หรือผู้เข้าร่วมชุมนุมจะสามารถกระทำการใดๆก็ได้โดยไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น คดีนี้การเข้าไปชุมนุมในพื้นที่สนามบินทั้งสองแห่งของจำเลยกับพวกมีวัตถุประสงค์ปิดท่าอากาศยานทั้งสองแห่งให้หยุดให้บริการ เพื่อยกระดับการกดดันรัฐบาลนายสมชาย ให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เป็นผลให้ท่าอากาศยานทั้งสองแห่งไม่สามารถให้บริการได้ ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในหมู่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง จึงเป็นวัตถุประสงค์ให้เกิดความไม่สงบภายในบ้านเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้วยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินสัดส่วน จำเลยทั้ง 13 จะอ้างความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ม.63 ย่อมมิได้ การกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 13 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามมูลค่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับทางกายภาพ เช่น ประตู กระจก เครื่องสุขภัณฑ์ กล้องวงจรปิด เครื่องหมายบอกทางจราจร อุปกรณ์ต่างๆ และค่าเสียหายเชิงพาณิชย์ อาทิ ค่าเสียหายจากการหยุดให้บริการการบิน ค่าธรรมเนียมการใช้เส้นทาง ค่าเช่าพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น เห็นควรให้จำเลยทั้ง 13 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จากการบุกยึดสนามบินดอนเมืองรวม 12 ล้านบาทเศษ และชดใช้ค่าเสียหายจากการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิรวมจำนวน 510 ล้านบาทเศษ เมื่อคำนวณความเสียหายของสนามบินทั้งสองแห่งแล้วเป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งให้จ่ายค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาทด้วย
ส่วนที่โจทก์ยื่นฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากการชุมนุม ซึ่งโจทก์นำสืบว่ายังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และได้รับความเสียหายจำนวนมากจนถึงช่วงปี 2552 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้องและไม่ได้ขอให้จำเลยทั้ง 13 ชดใช้ในคำขอบังคับคดีนี้ ศาลจึงไม่อาจบังคบตามคำขอของโจทก์ได้ เพราะถือว่าเกินคำขอของโจทก์ตาม ป.วิธี แพ่ง ม.412 วรรคแรก
“สนธิ” ให้การศาลคดีปิดสนามบิน ยัน “เสรีรัตน์” เป็นคนสั่งการ
“เสรีรัตน์” เบิกความรับสั่งปิดสนามบิน อ้างพนักงานตื่นตระหนก
“การบินไทย” ฟ้องพันธมิตรฯ เรียก 575 ล้าน!