xs
xsm
sm
md
lg

ศึกน้ำลายอันน่ารำคาญ-ฟอกตัว ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

เริ่มต้นขึ้นแล้วเป็นวันแรกตั้งแต่เมื่อวานนี้ (15 มีนาคม) สำหรับศึก “น้ำลาย” ระหว่างฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย กับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะดำเนินไปต่อเนื่องจนถึงวันที่ 18 มีนาคม และหากไม่มีอะไรผิดพลาดโยกโย้ก็จะมีการลงมติกันในวันที่ 19 มีนาคม โดยสรุปก็คือมีการอภิปรายเป็นเวลา 4 วันเต็มๆ

สำหรับญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล รวมทั้งหมด 10 คน ซึ่งทบทวนให้จดจำอีกครั้ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี องอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศุภชัย โพธิ์สุ

ในจำนวนดังกล่าวมีจำนวน 8 รายที่ถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง ยกเว้นเพียง กษิต ภิรมย์ เท่านั้น

เมื่อพิจารณาตามรายชื่อที่ถูกยื่นญัตติซักฟอกในเที่ยวนี้ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า “สมควร” แล้ว เพราะส่วนใหญ่ถือว่าการบริหารงาน “ห่วยแตก” สร้างความเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า กลายเป็นยุคที่นอกจากเป็น “ยุคข้าวยากหมากแพง” แล้ว ยังเป็นยุคที่พิลึก แม้ว่าจะมีเงินแต่ใช่ว่าจะมีปัญญาหาซื้อสินค้ามาบริโภคได้โดยง่าย เพราะมัน “ขาดตลาด” ซึ่งเกิดขึ้นกรณีวิกฤติน้ำมันปาล์ม และกำลังทำท่าลุกลามเป็นสินค้าชนิดอื่น เช่น น้ำตาลทราย ที่มีการจำกัดโควตาการซื้อกันมาระยะหนึ่งแล้ว

แม้ว่าในความเป็นจริงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ถือว่าสมเหตุสมผล หากพิจารณาจากผลงานการบริหารของรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ถือว่า “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญมีแต่เรื่องทุจริตอื้อฉาวไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่การบริหารทางด้านนโยบายต่างประเทศก็ไม่ได้ทำให้ประเทศมีศักดิ์ศรีอย่างเช่นในอดีต ในทางตรงกันข้ามในยุคปัจจุบันกลายเป็นว่าประเทศไทยถูกย่ำยีจากประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า อย่างกัมพูชา จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีก็ถูกตำหนิติเตียนอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อพิจารณาจากอำนาจแท้จริงในการบริหารประเทศแล้ว มีลักษณะไม่ต่างจาก “หุ่นเชิด” อยู่ภายใต้การครอบงำของ “กลุ่มอำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจภายในและภายนอกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคต้นสังกัดของตัวเอง

การใช้อำนาจสั่งการในฐานะนายกรัฐมนตรีแทบจะไร้ความหมาย เพราะต้องฟังกลุ่มอำนาจที่กดดันอยู่ตลอดเวลา เห็นได้ชัดจากกรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ที่แสดงให้เห็นว่า นายกฯอภิสิทธิ์ ไร้อำนาจในการสั่งการให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำตามนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกัน พิสูจน์ให้เห็นกรณีแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุให้กัมพูชาต้องรื้อถอนวัดแก้วศิขาคีรีสวาระ และธงชาติกัมพูชาออกไปโดยทันที แต่ก็ถูกยับยั้งจาก พล.อ.ประวิตร ในทันควัน หรือกรณี 7 คนไทยถูกจับกุมตามแนวชายแดน แทนที่จะรอให้มีการพิสูจน์เสียก่อน เพื่อช่วยเหลือคนไทยดังกล่าว แต่กลายเป็นว่า พล.อ.ประวิตร ด่วนสรุปว่าเป็นดินแดนของกัมพูชา หน้าตาเฉย ทำราวกับว่ามีเจตนาให้คนเหล่านั้นบางคน เช่น วีระ สมความคิด ไปติดคุกที่นั่น

นั่นเป็นตัวอย่างที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆที่แสดงให้เห็นว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นแค่หุ่นเชิด ขาดภาวะผู้นำ บริหารประเทศล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

การบริหารประเทศกว่า 2 ปีมาจนถึงปัจจุบัน ที่สามารถอยู่ได้ก็เป็นเพราะ “ลอยตัว” เหนือปัญหา ที่สำคัญอาศัยภาพลักษณ์ที่ดูดี เป็นต้นทุนสำหรับ “สร้างภาพ” หลอกต้มชาวบ้านให้เข้าใจผิด

เมื่อหันมาทางฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย นาทีนี้ก็ยังไม่ได้เป็นที่พึ่งพิงได้เต็มร้อย เพราะหากพิจารณาในภาพรวมแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นแค่ต้องการอาศัยเวทีซักฟอกในครั้งนี้มุ่งไปที่การ “ฟอกตัว” ให้กับ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็น “เจ้าของ” พรรคและผู้อุปถัมภ์รายใหญ่เท่านั้น ขณะเดียวกันยังต้องการใช้จังหวะเพื่อแก้ต่างความผิดของตัวเองและ “หัวโจก” เสื้อแดงที่ก่อการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองในเหตุการณ์เดือนเมษายนต่อเนื่องมาถึงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมาเท่านั้น แทนที่จะใช้โอกาสนี้ทำหน้าที่ของตัวเองตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงแค่วันแรกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นแค่ “หัวม้วน” อาจยังไม่มี “หมัดเด็ด” สำหรับน็อกคู่ต่อสู้ เพราะจากการอภิปรายนำของหัวหน้าทีมฝ่ายค้าน คือ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ยังไม่คมพอ มิหนำซ้ำยังถูก นายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งเรียกว่าเป็น “นักโต้วาที” ตัวยงสวนเอาด้วยสำนวนโวหารเข้าจังๆ ทำให้ต้องติดตามกันต่อจนจบ เพื่อรอดูว่าทั้งสองฝ่ายจะทำได้ดีแค่ไหน

แต่ถ้าให้พิจารณาในภาพรวมและวัตถุประสงค์หลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจดังที่กล่าวมาก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นแค่การฉวยโอกาสใช้เวทีสภาเพื่อแก้ต่างความผิดพลาดของตัวเอง และ “เจ้านาย” ตัวเอง เท่านั้น ต้องการ “ฟอกดำ” ให้เป็นขาว ให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ผิด เป็นถูก เท่านั้น ทั้งที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ล้มเหลวและทุจริต แต่พึ่งพาใครไม่ได้

แม้ว่าการอภิปรายจะยังเป็นแค่เริ่มต้นวันแรก แต่ดูตามรูปการแล้วก็ต้องเดินไปแบบนี้แน่นอน ซึ่งก็ต้องบอกว่าเสียเวลาเปล่า เพราะนี่คือ “เวทีน้ำเน่า” ที่น่าสะอิดสะเอียนสำหรับชาวบ้านที่รู้ทัน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น