xs
xsm
sm
md
lg

แทรกแซงคดีบริษัทบุหรี่โกงภาษี “มาร์ค” อาจถูกน็อก !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ไม่น่าเชื่อว่าทำไปทำมาคำพูดที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยนำมายืนยันอยู่เสมอว่า “ไม่โกง” หรือ “ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน” ดูจะใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว เพราะทันทีที่เกิดเรื่องอื้อฉาวกรณีบริษัทฟิลิป มอร์ริส(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทบุหรี่นำเข้าชื่อดังจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทย โดยบริษัทดังกล่าวมีบริษัทแม่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ถูกระบุความผิดว่าหลีกเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาที่เคยดู “ขาวสะอาด” ต้องหมองมัวลงไปทันที
 
กรณีดังกล่าวกำลังจะถูกพรรคฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทยนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้อีกด้วย

หากพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งทางตรงและทางอ้อมล้วนเห็นได้ชัดว่า เป็นความผิดที่เกิดขึ้นลักษณะที่เรียกว่าเป็น “กระบวนการ” มีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปชี้นำ บีบบังคับให้ “กระบวนการยุติธรรม” ชั้น “ต้นน้ำ” ต้องเบี่ยงเบนไปอีกแบบอย่างน่าเกลียดที่สุด และที่สำคัญมีการเชื่อมโยงไปถึงคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างดิ้นไม่หลุด

อย่างไรก็ดีแม้ว่าในขณะนี้ยังไม่อาจระบุได้ว่า นายกรัฐมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าใครก็ตามก็น่าจะสามารถใช้สามัญสำนึกพิจารณาตัดสินใจได้อยู่แล้ว
 
ที่ผ่านมาฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ยังใช้วิธีการแบบเดิมๆที่เคยใช้ได้ผล นั่นคืออาศัยภาพลักษณ์ที่เป็นลบของฝ่ายตรงข้ามมาลดทอนความน่าเชื่อถือ นั่นคือระบุว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องเก่านำมาเล่าใหม่ อีกทั้งคนที่นำมาเล่าก็ “ต้นทุนต่ำ” เชื่อถือไม่ได้อะไรประมาณนั้น
 
อย่างไรก็ตามในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามมันขึ้นอยู่กับความจริง และหลักฐานว่าแน่นหนาพอหรือไม่เป็นสำคัญ แม้ว่าในเบื้องต้นคนที่ไม่น่าเชื่อถือกับ คนที่ภาพลักษณ์ดี อาจจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้าง แต่ในที่สุดแล้ว ความจริงเท่านั้นจะเป็นตัวกำหนดชี้ขาด

เมื่อวกกลับมาที่ความผิดของ บริษัทฟิลิป มอร์ริสฯ ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเก่าจริงๆ อย่างที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ระบุนั่นแหละ เพราะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2552 นั่นคือเกิดขึ้นในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอน และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นแม่งาน ซึ่งยุคนั้นอยู่ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดี มีการตั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม เช่นรองอธิบดีกรมสรรพสามิตร จากกรมศุลกากร รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนการค้าไทย รวมทั้งหมด 7 หน่วยงาน จนมีการสรุปว่า “มีความผิด” มีความเห็นสั่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหารวม 14 คน มีทั้งคนไทยและต่างชาติ
 
โดยความผิดก็คือ แสดงราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง นั่นคือ แจ้งราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็มแค่ 5.88 บาทต่อ 1 ซอง และบุหรี่มาร์ลโบโร แค่ 7.76 บาทต่อ 1 ซอง เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่นำเข้าและแสดงราคา นั่นคือ เอ็มแอนด์เอ็มราคา 16.81 ต่อ 1 ซอง มาร์ลโบโร 27.46 ต่อ 1 ซอง ทั้งที่ราคานำเข้าต้องขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย

การกระทำของบริษัทฟิลิปฯในลักษณะเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เป็นการตั้งราคาลวงขึ้นมาเพื่อสำแดงเท็จมาตั้งแต่ปี 25546-2550 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ทางภาษีเป็นจำนวนเงิน 68,881,394,278.69 บาท

ทั้งนี้หลังจากที่มีการสอบสวนอย่างมาราธอนนานกว่า 4 ปี เปลี่ยนอธิบดีอีเอสไอ เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายชุด จนมีผลสรุปของคดีดังกล่าวว่ามีความผิดและสั่งฟ้องมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 ซึ่งกระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่แล้วจู่ๆก็มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขที่ นร.0412/ว 9267 ลงวันที่ 6 กันยายน 2552 เรียกให้มาประชุมพร้อมกับแจ้งให้ทบทวนความถูกต้องในทุกประเด็นเสียใหม่ โดยอ้างเรื่องกลไกขององค์การการค้าโลก เกรงจะกระทบภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความหมายก็คือ ให้ “ทบทวน” ผลสรุปของคดีเสียใหม่นั่นแหละ

จากนั้นก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแบบกลับหลังหัน นั่นคืออัยการฝ่ายคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ในที่สุด
 
อย่างไรก็ดี คดีดังกล่าวกำลังมาถึงจุดชี้ขาดอีกครั้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “กรมผงซักฟอก” รัฐบาล ที่มีอธิบดีคนปัจจุบัน คือ ธาริต เพ็งดิษฐ์ หลังจากได้รับหนังสือสั่งไม่ฟ้องจากอัยการสูงสุดว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ซึ่ง ที่ผ่านมาได้ “อุบเรื่อง” เงียบมานาน จนกระทั่งฝ่ายค้านนำเรื่องมาเปิดโปง ซึ่งที่ผ่านมา ธาริต ก็ปฏิเสธพัลวันว่าไม่ได้เตะถ่วง แต่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาไม่น้อยกว่า 2-3 เดือนจึงจะสรุปได้

จากคำพูดดังกล่าวมันก็ทำให้ชาวบ้านทั่วไปก็พอมองออกแล้วว่าเจตนาทั้งวันนี้และในอนาคตจะเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดมากไปกว่านั้นก็คือ หากย้อนกลับไปดูการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงานตามที่หนังสือของสำนักเลขาธิการนายกฯแจ้งไปนั้น มี “เกียรติ สิทธิอมร” ประธานผู้แทนการค้าไทย คนใกล้ชิดนายกฯเข้าไปชี้แจงในลักษณะโน้มน้าวให้เห็นถึงผลกระทบตามมา โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับ สหรัฐอเมริกา
 
แต่คำถามก็คือ นี่คือการเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้กับภาคเอกชนหรือไม่ หรือ “รับงาน” มาจากใคร หรือ “รับ” จากใคร “เข้ากระเป๋า” ใครและจำนวนเท่าไหร่ ขณะเดียวกันต้องถามอีกว่านี่คือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดยตรงหรือไม่

ถ้าให้สรุปก็คือ กรณีความผิดของบริษัทฟิลิปฯนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร และเป็นเรื่องเก่าจริง แต่หลังจากที่ ทักษิณ พ้นจากเก้าอี้ไปแล้วและมีการสอบสวนต่อจนสรุปคดีสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 แต่หลังจากนั้น 4 วันคือวันที่ 6 กันยายน 2552 มีหนังสือแจ้งจากสำนักเลขาธิการนายกฯให้ตัวแทน 7 หน่วยงานมาประชุมเพื่อ “ทบทวนใหม่” จนสั่งไม่ฟ้องในที่สุด เกิดขึ้นในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชัดๆ

ดังนั้นนี่คือความผิดที่ชี้ให้เห็นภาพคร่าวๆว่า บางคนเราจะอาศัยเพียงแค่ภาพลักษณ์ดี มีต้นทุนที่สร้างเอาไว้สูง แล้วมองข้ามในเรื่องมิชอบไปแบบไม่พิจารณาในรายละเอียดหาได้ไม่ เพราะบางครั้ง “โจรในคราบพระเอก” มีให้เห็นถมเถไป

กรณีดังกล่าวนี้ เชื่อว่าหากฝ่ายค้านสามารถเรียบเรียงหลักฐานมาเปิดโปงในสภาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และชัดเจน ไม่แน่ว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ อาจถูกน็อกกลางสภาก็เป็นได้ !!

กำลังโหลดความคิดเห็น