xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการอุ้มผู้ใช้น้ำมันดีเซล ทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อต้นปี พ.ศ. 2546 เกิดสงครามสหรัฐฯ บุกอิรัก ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลในขณะนั้น ที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด โดยตรึงราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ ลิตรละ 16.99 บาท น้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 15.99 บาท และน้ำมันดีเซลลิตรละ 14.59 บาท โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ราคาขายปลีกหน้าปั๊ม กับราคาแท้จริงที่ขึ้นลงตามราคาตลาดโลก

การตรึงราคาครั้งนั้น นาน 101 วันตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ถึง 20 พฤษภาคม 2546 ใช้เงินไป ประมาณ 3,900 ล้านบาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องกู้เงินมา 6,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินชดเชยครั้งนี้

อีกหนึ่งปีต่อมา โอเปกประกาศลดกำลังการผลิตลงวันละ 1 ล้านบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปรับสูงขึ้น รัฐบาลต้องตรึงราคาน้ำมันเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งยาวนานข้ามปี ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 - 13 กรกฎาคม 2548 โดย เป็นการตรึงราคาน้ำมันเบนซิน 286 วัน และน้ำมันดีเซล 551 วัน ใช้เงินไปทั้งสิ้น 92,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลงต้องไปกู้มา และเพิ่งจะชำระหนี้หมด เมื่อปลายปี 2550 ในรัฐบาลพลเอกสรุยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมีนายปิยะสวัสดิ์ อมระนันท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยอาศัยจังหวะที่ราคาน้ำมันในตลาดดลกลดลงมา เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสูงถึงลิตรละ 4 บาท

การตรึงราคาน้ำมันในรัฐบาลนี้ เริ่ม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปีที่แล้ว โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร มีกำหนดจะตรึงไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน เฉลี่ยแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจ่ายเงินวันละ 300 กว่าล้านบาท เพื่อตรึงราคาดีเซล

ในทางทฤษฎีแบบทุนนิยมเสรีเพียวๆ นโยบายตรึงราคา เป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะ เป็นการ บิดเบือนกลไกราคาตลาด แทนที่จะให้ราคาน้ำมันขึ้นลงตามกลไกตลาด รัฐบาลก็กลับยื่นมือเข้าไปแทรกแซง

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ทุกประเทศในโลกนี้ รัฐบาลล้วนเข้าไปแทรกแซง อุดหนุนราคาด้วยกันทั้งนั้น จะต่างกันก็ที่รูปแบบ และระดับของการอุดหนุนเท่านั้น จะเรียกว่า เป็นการซื้อเสียง เพื่อไม่ให้โดนด่า และสร้างคะแนนนิยมก็ได้ แต่มองในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลช่วยเหลือประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง ไม่มีกำลังที่จะสู้กับทุน ภายใต้กติกาของตลาดเสรีได้ และการซื้อเสียงแบบนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยก้จับต้องได้มากกว่า การสร้างโครงการที่เป้นถาวรวัตถุ หรือ โครงการสร้าภาพลักษณ์ทั้งหลาย

เอาเฉพาะในบ้านเรา การแทรกแซงด้วยการอุดหนุนราคา การโอบอุ้มภาคส่วนต่างๆในสังคมมีมาทุกยุคทุกสมัย ในรูปแบบ และชื่อเรียกต่างๆกัน แต่ปฏิกิริยาของสังคมต่อการแทรกแซงมักจะออกมาแบบเลือกปฏิบัติ ถ้ารัฐบาลให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออก เพราะค่าเงินบาทแข็ง ก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ เพราะผู้ส่งออก สร้างรายได้ให้ประเทศ ถ้าเจียดงบประมาณครั้งละ พันล้าน สองพันล้านให้กับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมักจะอ้าปาก ยื่นมือขอความชข่วยเหลือทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็จะได้รับคำชมเชย หรือล่าสุดคือ การอุ้มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ สยามสควร์ ที่ได้รับผลกระททบจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ทั้งๆที่ถ้าจะยึดต่ากหลักทุนนิยม ตลาดเสรีแล้ว ผู้ประกอบการเหล่านี้ถือว่า บกพร่อง ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง สมควรที่จะต้องรับภาระความเสียหายเอง

การช่วยเหลือภาคธุรกิจในกรณีเหล่านี้ ก็ไม่ต่างไปจากการเพิ่มราคารับประกันข้าวเปลือกจาก ตันละ 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท หรือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้น เป็นเหตุปัจจัยจากภายนอก แต่ทำไม การช่วยเหลือที่ให้กับประชาชนโดยตรง จึงถูกมองอย่างตำหนิติเตียนว่า เป็นความล้มเหลว เป็นการบิดเบือนตลาด

ในกรณีของการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน ลิตรละ 30 บาทนั้น ถ้าจะต่างจากการช่วยเหลือผู้ส่งออก ธุรกิจท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า โรงแรมย่านราชประสงค์อยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นเรื่อง ของเงินที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ มันเป็นเงินของ ผู้ที่ใช้น้ำมันดีเซลเอง ไม่ได้ใช้เงินภาษีประชาชน เหมือนการช่วยเหลือในกรณีอื่นเลย

ส่วนข้ออ้างที่ว่า การนำเงินกองทุนน้ำมันมาตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นการบังคับให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน มาอุ้มผู้ใช้น้ำมันดีเซล เพราะเงินของกงอทุนน้ำมัน มีเงินที่เก็บจากผุ้ใช้น้ำมันเบนซินลิตรละ 50 สตางค์อยู่ด้วยนั้น สมมติว่า ไม่มีการตรึงราคาดีเซล กองทุนน้ำมันก็ไม่ได้ลดเงินที่เก็บจากผู้ใช้เบนซินอยู่ดี เงินที่ผู้ใช้เบนซินจ่ายออกไปแล้ว ก็ไม่ได้กลับคืนมา ถูกเก็บเอาไว้ในกองทุนน้ำมันเหมือนเดิม

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น มีหน้าที่แทรกแซงราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวน หรือเพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลเป็นการชั่วคราว โดยใช้เงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมัน ในยามปกติ ถ้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ช่วยตรึงราคาน้ำมันในช่วงที่น้ำมันแพง ก็ไม่มีสิทธิที่จะเก็บเงินจากผุ้ใช้น้ำมัน เพราะเก็บไปแล้วไม่ใช้ จะเก็บไปทำไม

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลในขณะนี้ จึงไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเสียภาษีให้รัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยง นานๆ ครั้งจึงจะได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐสักที เงินที่นำมาใช้ ก็เป็นเงินของพวกเขา

สมมติว่า ต้องตรึงราคาต่อไปอีกนาน จนกองทุนน้ำมันหมดเงิน ต้องไปกู้ธนาคารมา เมื่อถึงเวลาใช้คืน ก็เป็นพวกเขานี่แหละที่ต้องเป็นผู้รับภาระเอง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นสมัยที่กองทุนน้ำมัน ตรึงราคาจนเป็นหนี้ 92,000 ล้านบาท เงินที่นำมาใช้หนี้ ก็เป็นเงินที่เก็บมาจากผุ้ใช้น้ำมัน ไม่ได้ไปล้วงมาจากกระเป๋าของประชาชนอื่นๆ เหมือนการช่วยเหลือภาคธุรกิจเลย และ ผู้ใช้น้ำมันต่างก็รับรู้ว่า ราคาที่ถูกตรึงอยู่ในวันนี้ คือต้นทุนที่พวกเขาต้องรับภาระในวันข้างหน้า

หรือถ้ากองทุนน้ำมันหมดเงินจริงๆ จะถือโอกาสยกเลิกกองทุนน้ำมันไปเสียเลยก็ได้ จะได้ไม่มีการแทรกแซงราคา บิดเบือนตลาดอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น