นายกฯ ชมการท่องเที่ยวไทย สามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์บ้านเมืองมาได้ ย้ำยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัฐของประเทศ เชื่อ หากเติบโตต่อเนื่องคาดอีก 10 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัว และรายได้จะเพิ่มขึ้น
วันนี้ (2 มี.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น.ที่โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “การท่องเที่ยวไทย...ในทศวรรษหน้า” พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตการท่องเที่ยวไทย...ในทศวรรษหน้า” เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับทราบ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคต จัดโดยสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (สสทท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเจริญเติบโต และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนไทย เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดธุรกิจที่ต่อเนื่อง ที่อิงอยู่กับชุมชน และประชาชน ในการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย ทั้งนี้ การที่การท่องเที่ยวได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและพื้นฐานที่ดีของสังคมไทย ที่ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวโลก ทั้งความงดงามในเรื่องของธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมที่ได้มีการสืบทอด สืบสานกันมาเป็นเวลานานและมีความหลากหลาย ตลอดจนอัธยาศัยไมตรีของคนไทย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งในประเทศ แต่การท่องเที่ยวยังสามารถที่จะฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาได้ และยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยจะเห็นได้ในปัจจุบันเงินตราต่างประเทศที่ไทยได้ มาจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยปีทีผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสูงถึง 15,800,000 กว่าคน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงถึง 5.85 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เป็นสถิติสูงสุดเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน การเติบโตของการท่องเที่ยวก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วปีละประมาณร้อยละ 7.5 ขณะที่การทำรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 หรืออาจจะสูงกว่านั้น ซึ่งหากอัตราการเติบโตยังเป็นในลักษณะเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในอีก 10 ข้างหน้า การขยายตัวจำนวนนักท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นเท่าตัว รวมถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป และในภูมิภาคอาเซียนในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยจะได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของการดึงดูดการท่องเที่ยว ที่อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศในประชาคมอาเซียนด้วยกัน ในการที่จะจัดทำแนวทางของการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยงในภูมิภาคของอาเซียนในภาพรวม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวเลขที่ยืนยันถึงความแข็งแกร่งและความสำเร็จในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็อย่าประมาทหรือชะล่าใจ แต่ควรจะต้องคิดถึงการที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ไม่เป็นภาระกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจนเกินไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วง 10 ปี ข้างหน้าว่า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีทิศทางของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องมีการมาทบทวนถึงจุดแข็งที่ไทยมีอยู่ รวมไปถึงในเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีงามในแง่ของอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาที่ยังคงเป็นจุดอ่อนข้อจำกัดในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจากเชิงรับเป็นเชิงรุกให้มากขึ้น และคิดหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับกับการท่องเที่ยวและทำให้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการในขณะนี้ของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนงานด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบหลักการของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งจะใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2559 โดยมียุทธศาสตร์สำคัญอยู่ 5 ประการ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน การพัฒนาสินค้า บริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว และการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญและทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันส่งเสริมและดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในด้านต่างๆ ดังกล่าวต่อไป
นายรัฐมนตรี กล่าวว่า ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความสนับสนุนของประชาชนในชุมชน ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเกิดความขัดแย้งขึ้น ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากสามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้าใจที่ดี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น รวมไปถึงภาคประชาชนแล้ว ก็จะเป็นหลักประกันที่ดีในความต่อเนื่องและความยั่งยืนของการพัฒนาการท่องเที่ยวต่อไป
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความหวังว่า การสัมมนาในวันนี้ ที่มีทั้งผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติ ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดจะได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงในเรื่องของแนวนโยบายมาตรการ และการทำงานของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ ภาคการท่องเที่ยวมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป