xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“มาร์ค” วอน ปชช.เห็นความสำคัญฝีมือแรงงาน เพราะทำประโยชน์ให้ ปท.ชาติ ย้ำนโยบาย รบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานทุกระดับ ผลักดันมาตรฐานให้สูงขึ้น นายกฯ เชื่อ การท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง คาด อีก 10 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว รายได้ เพิ่มขึ้น

วันนี้ (2 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในงานช่างหลายสาขา ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะสร้างสรรค์ผลงานด้านการช่าง และทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อันทรงคุณค่าต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นจำนวนมาก ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศของพสกนิกรในด้านงานช่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ว่า ช่างทุกประเภทมีความสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศและประชาชน เนื่องจากการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถของช่างหลากหลายสาขาในการผลิตและการบริการ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรในวัยแรงงานประมาณ 40 ล้านคน หากบุคคลเหล่านี้ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มผลผลิต สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาติบ้านเมืองได้อย่างมหาศาล รัฐบาลจึงถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานประเภทต่างๆ ทุกระดับ ให้มีทักษะและมาตรฐานสูงขึ้น สามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม ในพุทธศักราช 2558 กลุ่มความร่วมมือของภูมิภาคประชาชาติอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้ตลาดเป็นฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีที่มีมาตรฐานไปทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิกมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการช่าง เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการผลิต และการสร้างสรรค์ผลงาน ให้พร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติขึ้น เพื่อให้รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องเหล่านี้

“เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2554 นี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยพร้อมใจกันน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าด้านการช่างฝีมือและทรงเป็นแบบฉบับแก่ช่างฝีมือไทยตลอดมา ขอให้พี่น้องชาวไทยตระหนักในความสำคัญของช่างฝีมือแขนงต่างๆ และการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานของชาติ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย อำนาจสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล อีกทั้งพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดดลบันดาลประทานพรให้พี่น้องชาวไทยซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญของชาติทุกคน ประสบความสุข ความเจริญ และสัมฤทธิผลในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ โดยทั่วกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ที่โรงแรมเดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “การท่องเที่ยวไทย...ในทศวรรษหน้า” พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “อนาคตการท่องเที่ยวไทย...ในทศวรรษหน้า” เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับทราบและเตรียมความพร้อม สำหรับการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคต จัดโดยสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (สสทท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย 18 สมาคมในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า อุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเจริญเติบโต และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนไทย เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดธุรกิจที่ต่อเนื่อง ที่อิงอยู่กับชุมชน และประชาชน ในการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย ทั้งนี้การที่การท่องเที่ยวได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและพื้นฐานที่ดีของสังคมไทย ที่ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวโลก ทั้งความงดงามในเรื่องของธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมที่ได้มีการสืบทอด สืบสานกันมาเป็นเวลานานและมีความหลากหลาย ตลอดจนอัธยาศัยไมตรีของคนไทย

“แม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตหลายด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งในประเทศ แต่การท่องเที่ยวยังสามารถที่จะฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ และยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยจะเห็นได้ในปัจจุบันเงินตราต่างประเทศที่ไทยได้ มาจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยปีทีผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสูงถึง 15,800,000 กว่าคน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงถึง 5.85 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เป็นสถิติสูงสุดเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันการเติบโตของการท่องเที่ยวก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วปีละประมาณร้อยละ 7.5 ขณะที่การทำรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 หรืออาจจะสูงกว่านั้น ซึ่งหากอัตราการเติบโตยังเป็นในลักษณะเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในอีก 10 ข้างหน้า การขยายตัวจำนวนนักท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นเท่าตัว รวมถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน” นายกฯ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงไป และในภูมิภาคอาเซียนในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยจะได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในเรื่องของการดึงดูดการท่องเที่ยว ที่อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในประชาคมอาเซียนด้วยกัน ในการที่จะจัดทำแนวทางของการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยงในภูมิภาคของอาเซียนในภาพรวม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวเลขที่ยืนยันถึงความแข็งแกร่งและความสำเร็จในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็อย่าประมาทหรือชะล่าใจ แต่ควรจะต้องคิดถึงการที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ไม่เป็นภาระกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจนเกินไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วง 10 ปี ข้างหน้าว่า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีทิศทางของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีการมาทบทวนถึงจุดแข็งที่ไทยมีอยู่ รวมไปถึงในเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีงามในแง่ของอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาที่ยังคงเป็นจุดอ่อนข้อจำกัดในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจากเชิงรับเป็นเชิงรุกให้มากขึ้น และคิดหาทางเพิ่มมูลค่าให้กับกับการท่องเที่ยวและทำให้แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการในขณะนี้ของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนงานด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบหลักการของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งจะใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2559 โดยมียุทธศาสตร์สำคัญอยู่ 5 ประการ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน การพัฒนาสินค้า บริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว และการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญและทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันส่งเสริมและดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในด้านต่างๆ ดังกล่าวต่อไป

นายรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความสนับสนุนของประชาชนในชุมชน ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเกิดความขัดแย้งขึ้น ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากสามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้าใจที่ดี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคท้องถิ่น รวมไปถึงภาคประชาชนแล้ว ก็จะเป็นหลักประกันที่ดีในความต่อเนื่องและความยั่งยืนของการพัฒนาการท่องเที่ยวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น