xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุ ศก.ไทยเข้าภาวะขยายตัวปกติ ชี้ ศก.ภาคเหนือศักยภาพสูงแม้มีปัญหาสินเชื่อ-ต้นทุน-แรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมสัมมนาวิชาการประจำปีสำนักงานภาคเหนือประจำปี 2554 ปาฐกถาพิเศษ “จับทิศเศรษฐกิจปีกระต่าย บนความท้าทายสู่ความยั่งยืน” ชี้ เศรษฐกิจไทยกลับสู่ภาวะขยายตัวตามปกติแล้ว แนะเอกชนเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมระบุเศรษฐกิจภาคเหนือยังคงมีศักยภาพสูง แม้มีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องสินเชื่อ ต้นทุนสูง และขาดแคลนแรงงาน แต่สามารถหาทางออกได้ ขณะเดียวกันหวังทุกฝ่ายเคารพกฎกติกาในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

วันนี้ (2 มี.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “รับมือเศรษฐกิจไทยกับนโยบายการเงินปี2554” ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 เรื่อง “จับทิศเศรษฐกิจปีกระต่าย บนความท้าทายสู่ความยั่งยืน” ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จัดขึ้น โดยมีนักธุรกิจ ผู้ประกอบการและผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

โดย ดร.ประสาร กล่าวในการปาฐกถาว่า สัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประการในเวลานี้บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกลับเข้าสู่ภาวะการขยายตัวตามปกติที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลังอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ภาคธุรกิจเอกชนของไทยยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ และจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของตัวเองในลักษณะที่ยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การเร่งลงทุน ที่ไม่ใช่เพื่อการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะต่อไป

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดการพบปะกับผู้ประกอบการในภาคเหนือครั้งล่าสุดช่วง ก.พ.54 ที่ผ่านมา ภาพรวมพบว่าผู้ประกอบการต่างยืนยันถึงศักยภาพที่ยังมีอยู่มากของภาคธุรกิจเอกชนในภาคเหนือ จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และการเชื่อมโยงทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ส่วนในด้านความท้าทายพบว่า มีปัญหาอยู่ 3 ด้านหลักๆ ที่ผู้ประกอบการแสดงความกังวล ได้แก่ ปัญหาความไม่เพียงพอของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ส่งผลต่อสภาพคล่อง ปัญหาราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ ในด้านปัญหาเรื่องความไม่เพียงพอของสินเชื่อนั้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่มีนโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อโดยตรง อย่างไรก็ตาม การดูแลให้ระบบสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินทุนที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งจะดูแลให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โดยรวมมีความเหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั่วถึง และเป็นธรรมต่อธุรกิจและประชาชน โดยอยากขอความร่วมมือจากทั้งภาคธุรกิจ และธนาคารพาณิชย์ให้ปรึกษาและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีผ่านความเข้าใจร่วมกันว่าสินเชื่อที่ให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพนั้น จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนปัญหาราคาต้นทุนที่แพงขึ้นนั้น ดร.ประสาร กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะผู้ประกอบการในภาคเหนือเท่านั้น แต่เป็นปัญหาทั้งประเทศและของโลกในปัจจุบัน โดยเห็นได้ชัดว่าสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากปัจจัยภายนอกประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางในการลดความรุนแรงของปัญหานี้ คือ การใช้นโยบายทางการเงินเพื่อลดความร้อนแรงของอุปสงค์และลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นทุนของสินค้าบางประเภทนำไปสู่การปรับตัวของราคาสินค้าประเภทอื่นๆ ไปด้วย ซึ่งการแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการของรัฐในรูปแบบอื่น เช่น การควบคุมราคานั้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยทางออกที่ยั่งยืนและดีที่สุดน่าเป็นการที่เอกชนเร่งปรับตัวพัฒนาประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านอื่นๆ ลงแต่เนิ่นๆ

สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น นับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะสั้นอาจพึ่งพาแรงงานต่างด้าวซึ่งยังมีข้อจำกัด ส่วนข้อเสนอที่ให้ภาครัฐวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมต่อความต้องการของตลาดแรงงานนั้น ต้องใช้เวลานานและอาจไม่ทันท่วงทีต่อโครงสร้างทางธุรกิจและการผลิตที่เปลี่ยนไปด้วย

รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในอนาคตอาจรุนแรงขึ้นด้วย ทั้งนี้ มองว่า ทางออกที่สามารถทำได้เร็วและไม่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวคือการเร่งปรับโครงสร้างการผลิต โดยอาศัยการพึ่งพาแรงงานให้น้อยลงและอาศัยเครื่องจักรและแรงงานที่มีคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ดร.ประสาร กล่าวถึงปัจจัยทางการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจว่า ในปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง คาดหวังว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความเคารพกฎกติกาและยอมรับผลที่ออกมา ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้คนในประเทศนี้ให้ความเคารพกฎกติกา ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วคงจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เกิดความปั่นป่วนตามมาและคงจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

ส่วนการขึ้นค่าแรงนั้น มองว่า ในด้านหนึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะทำให้ภาคแรงงานได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่เพิ่มมขึ้นนั้นควรจะต้องเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับประสิทธิภาพในการผลิตด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น