xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ธปท.บอกรัฐอย่ากระตุ้นเศรษฐกิจจนเกินเขต ระวังมาตรการอุ้มสินค้า-น้ำมันขัดแย้งกลไกตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติปาฐกถาพิเศษ ชี้ไทยผ่านพ้นช่วงฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติประเทศไม่ต้องพึ่งมาตรการกระตุ้นพิเศษอีก ปีนี้มุ่งควบคุมเงินเฟ้อและต้นทุนการเงิน จับตาแนวโน้มโลกความไม่สมดุลอันเกิดจากยักษ์ใหญ่จีน-ตะวันตกมีผลต่อไทยทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน ระบุตอนท้าย รัฐบาลไม่ควรอุ้มราคาสินค้าบางตัวเช่นน้ำมัน หรือโภคภัณฑ์จนขัดแย้งกลไกตลาดและเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ถ้าจะทำต้องทำระยะสั้น

เมื่อเช้าวันนี้ (2 มี.ค.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปาฐกถาเรื่อง “รับมือเศรษฐกิจไทยกับนโยบายการเงินปี 2554” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเนื้อหาหลัก 3 ส่วน คือ 1.ทิศทางนโยบายการเงิน 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินโลกและนัยต่อเศรษฐกิจไทย 3.ปัญหาเศรษฐกิจที่ธุรกิจในภาคเหนือประสบอยู่ (อ่านรายละเอียดเอกสารประกอบปาฐกถาท้ายข่าว)

ในส่วนแรกมีจุดเน้นว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการกระตุ้นจากนโยบายการเงินและการคลังอีกต่อไป

ผู้ว่าการ ธปท.มองว่าหากรัฐบาลยังคงใช้มาตรการพิเศษกระตุ้นเศรษฐกิจต่อทั้ง ๆ ที่หมดความจำเป็นแล้วอาจจะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่มาจากการใช้จ่ายมากเกินไป หรือภาวะ demand pull ในปีนี้ ธปท.จะยังรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ซึ่งภายหลังในการแถลงข่าวผู้ว่าธปท.ระบุเพิ่มเติมเป้าหมายดังกล่าวว่าอยู่ที่ 0.5-3.0%

ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินโลกและนัยต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ว่าฯธปท.มองภาพเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ 3 แนวทางที่จะเกิดจากข้อตกลงของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก G20 ที่กำลังหาทางแก้ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเรื่องที่จีนเกินดุลการค้าเกินไป โจทย์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจก็ คือ การการจัดระเบียบการเงินโลกใหม่ เวลานี้ผ่านการประชุมที่เกาหลีใต้ ไปที่ปารีสและกำลังจะมาที่จีนซึ่งผลของการเจรจาจะมีผลต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน แม้จะยังไม่มีผลสรุปการเจรจาแต่การเปลี่ยนแปลงระดับโลกกำลังเกิดขึ้นประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวตามไปเรื่อยๆ จะหยุดนิ่งรอผลสรุปสุดท้ายไม่ได้ คือ แบบแรกกลุ่มประเทศเอเชียสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตหันมาพึ่งพาการบริการและบริโภคกันเองภายในภูมิภาค แบบสองประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดโดยเฉพาะจีนยอมให้ค่าเงินของตัวเองแข็งขึ้น และแบบสามคือการเจรจาตกลงระหว่างมหาอำนาจล้มเหลว

นายประสารให้ทัศนะผ่านการแถลงข่าวภายหลังว่า ความเห็นของตนแนวโน้มจะเป็นแบบแรกกับแบบที่สองผสมผสานกัน โดยแบบแรกประเทศในเอเชียจะยกระดับการผลิตแบบ Supply Chain ไปสู่แบบการผลิตขั้นสุดท้ายเพื่อส่งออกกันเองภายในกลุ่ม หากเป็นไปตามแบบแรกประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตต้องปรับตัวจากเดิมที่โครงสร้างสินค้าส่งออกเป็นแบบกลางคืออยู่ใน Supply Chain ไม่ใช่ Final Demand ผู้ประกอบการต้องปรับตัวสู่ระดับขั้นสุดท้ายแข่งกับประเทศอื่นๆ “นี่เป็นโอกาสของการยกระดับตนเองขึ้นมา”

สำหรับความเป็นไปได้แบบที่สองที่ นายประสารมองว่าจะเป็นแนวโน้มที่ผสมผสานกับกับแบบแรกก็คือ ประเทศจีนและประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดยอมปรับค่าเงินทำให้เงินแข็งค่าขึ้น แนวโน้มดังกล่าวผู้ประกอบการไทยเคยกังวลว่า จีนจะปรับค่าเร็วทำให้เกิดผลกระทบกับเราเร็ว แต่หากแนวโน้มนี้เกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด สำหรับประเทศไทยนั้นมีผลกระทบอย่างแน่นอนเพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain สกุลเงินของเราก็จะแข็งขึ้นตามตัว

“สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการสำหรับแนวโน้มแบบที่สอง จะอยู่ที่ผู้ประกอบการที่เน้นราคา แต่สำหรับผู้ประกอบการที่เน้นคุณภาพจะได้ประโยชน์จากค่าเงินที่แข็งขึ้น” ผู้ว่าการธปท.ให้ทัศนะ

ในส่วนสุดท้ายตามหัวข้อปาฐกถาคือผลกระทบต่อภาคเหนือ นายประสารกล่าวว่า ผู้บริหารของธปท.ได้เดินสายพูดคุยสำรวจกับผู้ประกอบการ และพบปัญหาหลักที่กังวลจะต้องแก้ไขสามประการคือ 1.ความไม่เพียงพอของสินเชื่อและสภาพคล่อง 2.ปัญหาต้นทุนสูงขึ้น 3.การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งธปท.มีนโยบายส่งผ่านเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ โดยส่วนสุดท้ายคือผู้ประกอบการอาจจะต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิต พึ่งพิงแรงงานน้อยลงหรือยกระดับแรงงานคุณภาพขึ้น

จุดที่น่าสนใจในการปาฐกถาครั้งนี้ อยู่ที่ส่วนที่ไม่ได้ปรากฏในเอกสารประกอบการปาฐกถา โดยนายประสารได้กล่าวตอนท้ายว่า แรงกดดันการค้าจากปัจจัยต่างประเทศมีอยู่ต่อเนื่องประเทศไทยจะหยุดรอผลการเจรจาสุดท้ายไม่ได้ต้องปรับตัวเองพร้อมๆ กันไปเพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันและรักษาสมดุลเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ (จากปัจจัยกระทบต่างประเทศ)

นายประสารได้อธิบายเพิ่มในการแถลงข่าวว่า ธปท.กำหนดกรอบการขยายตัวและดัชนีต่างๆ เอาไว้ เช่นหากน้ำมันดิบเบรนท์เกิน 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล ก็จะทำให้ดุลการค้าติดลบแต่ปัจจุบันเกิดดุลอยู่ ดังนั้นจะต้องดูการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะกระทบต่อเราตลอดเวลา

นอกจากนั้น ผู้ว่าฯการธปท.ยังกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อราคาสินค้าบางตัว ไม่ควรจะเข้าไปแทรกแซงจนทำให้กลไกราคาเสียไป มาตรการกระตุ้นหรือพยุงราคาควรทำระยะสั้นเท่านั้นไม่ควรทำระยะยาว เพราะนอกจากจะเปลืองเงินภาษีอากรแล้วยังส่งผลต่อโครงสร้างของสินค้านั้นๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น