xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตผู้ว่าฯ ธปท.ป้องเงินบาทลอยตัวปี 40

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง “เริงชัย” อดีตผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ผิดสั่งสวอปป้องค่าเงินบาทลอยตัวปี 40 พ้นภาระชดใช้เงินคืน ธปท.1.8 แสนล้าน ทนายเผยสิ้นเดือน ก.พ.รอยื่นคำแก้ฎีกาสู้คดีอีกรอบ หลังอัยการยื่นฎีกา 170 หน้าปลายปี 53

วันนี้ (30 ม.ค.) นายนพดล หลาวทอง ทนายความของนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.53 ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนรักษาระดับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง นายเริงชัย อดีตผู้ว่าฯ ธปท.เป็นจำเลย เรื่องละเมิด จากกรณีออกคำสั่งทำธุรกรรมใช้เงินทุนสำรองไปปกป้องค่าเงินบาท (สวอป) เพื่อปกป้องค่าเงินบาท เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจค่าเงินบาทลอยตัว ปี 2540 อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

นายนพดล ทนายความของนายเริงชัยกล่าวว่า โดยผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีความหนาประมาณ 160-170 หน้า ได้พิพากษากลับให้ยกฟ้องนายเริงชัย ทำให้นายเริงชัย พ้นภาระการรับผิดชดใช้เงินให้ ธปท. โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2548 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่า การกระทำของนายเริงชัย ขณะนั้นไม่ได้เป็นการกระทำโดยประมาท แต่เป็นไปตามวิสัยที่เกิดขึ้นขณะนั้นตามความเหมาะสม และการพิจารณาถึงมาตรการใดๆ ก็ได้หารือในคณะ ไมใช่การตัดสินใจด้วยความประมาทเลินเล่อเพียงลำพัง

อย่างไรก็ดี ขณะนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีแพ่ง ซึ่งรับผิดชอบคดีให้ ธปท.และกองทุนฯ ได้ยื่นฎีกาแล้วเมื่อปลายปี 2553 โดยในส่วนของตนก็ได้รับสำเนาคำฎีกาของโจทก์มาแล้ว มีความหนาประมาณ 170 หน้า ซึ่งตนจะตรวจดูรายละเอียดเพื่อเขียนคำแก้ฎีกายื่นต่อศาลในการสู้คดีต่อไป โดยคาดว่าจะยื่นฎีกาได้ช่วงสิ้นเดือน ก.พ.นี้ หากไม่ทันก็ต้องขอขยายเวลายื่นคำแก้ฎีกาออกไปก่อน ทั้งนี้การฎีกาเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเพราะได้เห็นแนวทางการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นสูงมาบ้างโดยเชื่อว่าชั้นฎีกาจะไม่มีความแตกต่าง จึงยังมั่นใจว่าจะชนะคดีได้เหมือนในชั้นอุทธรณ์

เมื่อถามว่าหากคดีถึงที่สุดแล้วผลให้ยกฟ้อง นายเริงชัยได้ปรึกษาถึงการฟ้องคดีกลับหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่า หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องก็ได้พูดคุยกัน แต่ยังไม่ได้คิดถึงการฟ้องกลับหน่วยงานใด ตอนนี้ขอใช้เวลาสู้คดีในชั้นฎีกาก่อนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุทำให้สังคมมองว่านายเริงชัยเป็นคนผิดเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกรณีฟ้องผู้ว่าฯ ธปท.มาก่อน ซึ่งช่วงที่นายเริงชัย เข้าปฏิบัติหน้าที่เหมือนช่วงที่ปัญหาค่าเงินบาทเหมือนแผลที่เป็นหนอง แล้วหนองก็มาแตกที่นายเริงชัยพอดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อ 12 ธ.ค.44 ระบุว่า ขณะนายเริงชัยเป็นผู้ว่าการ ธปท. และกรรมการกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในปี 2539-2540 ได้อนุมัติให้นำเงินทุนสำรองทางการ แทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาททำให้ ธปท.ต้องรับภาระส่งมอบเงินดอลลาร์ จากการทำธุรกรรมขายดอลลาร์ในตลาดเงินตราคิดเป็นเงินบาทถึง 193,812.59 ล้านบาท แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สวอป) ในช่วงวันที่ 1 พ.ย.39 - 30 มิ.ย.40 มีผลกำไร 7,298.771 ล้านบาท หักออกจากความเสียหายทั้งหมดแล้ว จำเลยต้องรับผิดชดใช้ในส่วนขาดทุน ในการทำธุรกรรมดังกล่าว ให้โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 185,953,740,000 บาทนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 62,090,720 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นเงิน 186,015,830,720 บาท ขอให้ศาลออกหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาพิพากษา พร้อมทั้งให้จำเลยชำระเงินจำนวน 186,015,830,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.48 ให้นายเริงชัยจำเลยใช้เงิน 185,953,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2541 แก่ ธปท. โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องกองทุนฯ โจทก์ที่ 2 เนื่องจากไม่มีหน้าที่ทำธุรกรรมค่าเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น