รมว.กต.เผยไปประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ยืนยันไทยต้องการถกทวิภาคีเขมรลากกลับมาคุยเจบีซี ปัด เสธ.ทบ.เจรจาหยุดยิงลูก “ฮุนเซน” ชี้แค่คุยเฉยๆ อ้างเพื่อสันติภาพไม่เกี่ยวเสียเปรียบแดน เล็งให้อินโดฯ มาอยู่ดูจุดปะทะ แต่ไม่ใช่ให้อาเซียนจุ้น รอหนังสือแจงภารกิจทูตยูเนสโกลงพระวิหาร พร้อมพาผู้ช่วยทูตดูชายแดนจันทร์นี้
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาประชุมร่วมกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดท่าทีของไทยต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนและสถานการณ์ที่ เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้เวลาในการหารือนานประมาณ 1 ชั่วโมง
นายกษิตได้แถลงภายหลังการประชุมว่า จากกรณีที่จะมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันอังคารที่ 22 ก.พ,นี้ ในหัวข้อ “สถานการณ์และความเป็นไปในภูมิภาค และเรื่องระหว่างประเทศ” ทั้งนี้ เรื่องที่จะมีการปรึกษาหารืออย่างแน่นอน คือ เรื่องเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้มีข้อเสนอว่าด้วยถ้อยแถลงของประธานอาเซียนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้มาเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับท่าทีของไทยในการไปเข้าร่วมประชุมที่เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา
นายกษิตกล่าวว่า ทั้งนี้ โดยสรุปสั้นๆ คือ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมติของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่ขอให้รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเจรจาทวิภาคีกันต่อไปในเรื่องประเด็นปัญหาของเขตแดน โดยมีอาเซียนเป็นพี่เลี้ยง ช่วยตะล่อมเพื่อให้การเจรจาดำเนินการไปได้ ฉะนั้นการไปประชุมที่กรุงจาการ์ตาร์ ตนจะไปยืนยันความพร้อมอย่างยิ่งของฝ่ายไทยในการที่จะใช้กลไกทวิภาคีทีมีอยู่ กับกัมพูชา โดยเฉพาะเจบีซีที่มีนายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และในระดับคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และในระดับคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (อาร์บีซี) ที่มีแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นหัวหน้า
“เราจะถือโอกาสนี้ชี้แจงต่อที่ประชุมอาเซียนด้วยว่า เรื่องของเจบีซี จีบีซี และอาร์บีซี โดยองค์รวมที่ผ่านมานั้น ไม่ได้นิ่งเฉยหรือคงที่ แต่มีความคืบหน้าต่างๆ มาโดยตลอด ฉะนั้น อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการต่อไปได้ตามเจตนารมณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติและเป็นความประสงค์ของประเทศไทยด้วย ซึ่งโอกาสนี้นายอัษฎาได้มีหนังสือไปถึงหัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายกัมพูชาแล้ว ขอเชิญให้มาร่วมประชุมเจบีซีที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการยืนยันที่กระผมได้แจ้งและได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศ และรองนายกรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ในการประชุมเจบีซีที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา” นายกษิตกล่าว
ส่วนในกรอบของจีบีซีนั้นจะมีหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไปถึง พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เพื่อขอให้ฝ่ายกัมพูชาจัดการประชุมจีบีซี เพราะถึงกำหนดที่เขาจะเป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว
นายกษิตกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับเขตแดนที่มีข่าวการพบปะของเสนาธิการทหารบกของไทยกับฝ่ายกัมพูชานั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการเจรจาแต่เป็นการพูดจาปรึกษาหารือ และความเป็นไปจะต้องเสนอขึ้นไปสู่ระดับสูง และหวังว่าจะได้มีการประชุมเจบีซี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งสองฝ่าย เพื่อดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้มีสันติภาพและไม่ให้มีการปะทะประปรายกันอีกเป็นอันขาด
“อย่างไรก็ตาม ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเสนอความพร้อมของฝ่ายไทยที่จะขอให้ทางรัฐบาลอินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์มาอยู่กับกองกำลังของฝ่ายไทยตรงบริเวณเขตแดนที่มีการปะทะประปรายกันอยู่ระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเราพร้อมเพื่อเขาจะได้มาเป็นสักขีพยานได้ว่าเราไม่เคยและไม่ได้มีความประสงค์ใดๆ ทั้งสิ้นที่จะก่อให้มีการสู้รบและไม่เคยเป็นฝ่ายที่จะยิงก่อน โดยเราหวังว่าทางฝ่ายกัมพูชา จะสามารถยืนยันได้เช่นกัน สำหรับการที่จะมีตัวแทนของรัฐบาลอินโดนีเซียเป็นผู้สังเกตการณ์ ทางด้านฝ่ายเขาเพื่อให้ความมั่นใจว่าการหยุดยิงนั้นจะเป็นการหยุดยิงที่จริงจัง มีความเป็นถาวร พร้อมกันนี้ จะยืนยันถึงความพร้อมของเราที่จะให้อาเซียน โดยประธานอาเซียนเป็นพี่เลี้ยง ในการที่จะให้ขบวนการเจรจาสองฝ่ายมีความคืบหน้าไปได้” นายกษิตกล่าว
นายกษิตกล่าวต่อว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีมีโอกาสสนทนาทางโทรศัพท์กับผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก และทูต โดยทั่วไปเห็นพ้องกับท่าทีของฝ่ายไทยที่ไม่ควรต้องมีกองกำลังทหารอยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร เพราะไม่ถูกต้องและขัดกับอนุสัญญากรุงเบิร์น และดำริของฝ่ายยูเนสโกที่จะส่งผู้แทนพิเศษมานั้นในหลักการเราสามารถตอบรับได้ ทั้งนี้จะรอหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเขามีภาระหน้าที่อย่างไร แต่การมาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก หากจะมีการตกลงกันได้ก็จะมาปรึกษาหารือกับทางฝ่ายไทยที่กรุงเทพฯ เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. ทางกระทรวงกลาโหมจะนำคณะผู้ช่วยทูตทหารไปยังชายแดน แต่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ทีมีการสู้รบ แต่จะเข้าไปดูพื้นที่โดยรอบบริเวณว่ามีอะไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะไปดูฝ่ายพลเรือน ประชาชนทั่วไปว่าได้รับความเสียหายอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอการลงนามหยุดยิงถาวรที่ไทยเสนอมีความจำเป็นหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะเรามีกลไกเจบีซี จีบีซี อยู่แล้ว ตกลงกันได้ หรือจะออกถ้อยแถลงก็ได้ ซึ่งมีหลายรูปแบบในการที่จะดำเนินการ หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในกรอบของเจบีซี เราก็สามารถที่จะมีหนังสือแจ้งไปที่ประธานอาเซียน และรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการ ส่วนกรณีที่เกรงกันว่าทางกัมพูชาอาจจะไม่รับข้อเสนอนั้นเรื่องนี้ไม่ทราบ เราไม่ไปคาดการณ์ล่วงหน้า เพราะถ้ามุ่งหวังในการที่จะมีสันติภาพและใช้กลไกของทวิภาคีที่มีกลไกอยู่แล้ว เราต้องมุ่งหวังในสิ่งที่ดี ถ้ามีความปรารถนาด้วยกันทั้งสองฝ่ายที่อยากให้มีสันติภาพและอยากให้ความ สัมพันธ์มีความคืบหน้าต่อไป
เมื่อถามว่า หวังว่าทางกัมพูชาจะไม่ล้มโต๊ะในการเจรจา นายกษิตกล่าวว่า ไม่ได้หวังอะไรทั้งสิ้น เราต้องมีความหวังที่ดี เพราะประกาศไปแล้ว อยากให้มีสันติภาพ อยากให้มีการหยุดยิง และเป็นเจตนารมย์ของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ เป็นเจตนารมณ์ของมิตรประเทศอาเซียนทั้งหมด ดังนั้น ควรจะดำเนินการไปตามนั้น การสู้รบไม่ได้แก้ปัญหา มันต้องกลับมาสู่การเจรจา ซึ่งเจบีซีเป็นการเจรจาว่าด้วยเรื่องเขตแดน โดยเราเสนอไว้ในวันที่ 27 ก.พ. โดยก่อนหน้านี้เขาเคยตอบปฏิเสธและเลื่อนออกไป แต่เขายังไม่ได้ตอบมา ส่วนจีบีซีเป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะการหยุดยิง ซึ่งอยู่ที่ฝ่ายเขา ทั้งหมดเราพร้อมและหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะพร้อม
เมื่อถามว่า การเจรจาของสองฝ่าย จะยอมรับได้แค่ไหนว่าประเทศที่สามจะไม่เข้ามา นายกษิตกล่าวว่า เมื่อเป็นทวิภาคีก็ต้องเป็นทวิภาคี ไม่ใช่เป็นไตรภาคี จะมีแค่สองฝ่ายเท่านั้น ไม่มีประเทศอื่น ผลเป็นอย่างไร เราสามารถที่จะชี้แจงและรายงานไปที่ประธานอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียได้ และเขาสามารถส่งต่อไปคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้
เมื่อถามว่า การที่จะขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียส่งผู้แทนมาอยู่กับกองกำลังไทยเพื่อสังเกตการณ์ นายกษิตกล่าวว่า ไม่ใช่ขอ แต่ส่วนหนึ่งอยู่ในกฏบัตรใหม่ของสหประชาชาติด้วยในเรื่องของการไกล่เกลี่ย เมื่อถามว่าจะกลายเป็นว่าประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซง หรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ไม่ใช่ เราอยู่ในครอบครัวอาเซียน เมื่อมีประเด็นปัญหา มิตรประเทศก็มีความห่วงใย และมันก็เริ่มขึ้นแล้ว ด้วยความริเริ่มของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเราได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือกันก่อนที่จะว่ากันอย่างเป็นทางการ
เมื่อถามว่า ทางฝ่ายกองทัพได้มีการตกลงกันระหว่างสองฝ่าย หรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการตกลง แต่ใช้คำว่า “ทอล์ก” พูดจากันก่อนในระดับเจ้าหน้าที่ และต้องมีการรายงานในระดับสูงต่อไป ทั้งนี้ สิ่งที่เรารออยู่และจะเป็นข้อเสนอของเรา คือให้มีการประชุมในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในกรอบของจีบีซี เมื่อถามย้ำว่า มีความเป็นห่วงในกรณีที่ส่งนายทหารเข้าไปเจรจา ในเรื่องการยุติยิงถาวรหรือการเคลื่อนกำลังทหาร นายกษิตกล่าวว่า “เปล่า เป็นเรื่องการปรึกษากัน เหมือนส่งลูกน้องไปทาบทามคุยกันแล้วกลับมารายงาน ส่วนอะไรที่เป็นทางการ อีกทีก็ต้องเป็นในกรอบที่เป็นทางการคือกรอบจีบีซี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการพูดคุยกันเหมือนกับเป็นการไปจีบสาว ก็ต้องมีการเริ่มต้นแบบนั้น”
เมื่อถามว่าจะถือเป็นสัญญาหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ไม่มี เป็นการพูดคุยกัน และผลการคุยกันก็ต้องรายงานไปที่เจ้านายของเขา ทุกอย่างมีขั้นตอน อย่าคาดคั้น ไม่มีอะไรแล้ว จะไปบอกว่ามีการตกลงกันไม่ใช่ เมื่อถามต่อว่า จากพฤติกรรมของกัมพูชาจะกลับมาคุยในกรอบทวิภาคีหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ต้องถามว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่าอย่างไร เมื่อกัมพูชาเป็นผู้เอาเรื่องไปที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ และมีถ้อยแถลงออกมาให้สองฝ่ายคุยกัน และเรากำลังจะไปยืนยันที่อินโดนีเซียจะว่ากันสองฝ่ายมันก็มีแค่นี้
เมื่อถามว่า แต่ในครั้งที่แล้วคณะมนตรีความมั่นคงให้มีการหยุดยิง แต่ทางกัมพูชาก็ยังยิงอีก นายกษิตกล่าวว่า อันนี้ต้องคุยกัน แต่มันก็ไม่ได้ลามปาม ก็อยู่ในขอบข่าย เสนาธิการทหารบกของเราถึงได้ไปคุยกับทางกัมพูชา มันก็มีการติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาทั้งในที่แจ้งและที่ลับต่างๆ เหล่านี้ก็เพียรพยายามอยู่ ก็มีมิตรจิตมิตรใจที่จะให้มีสันติภาพก็ต้องมุ่งไปที่นั่น อย่าง ไรก็ตามเราได้พูดไปกับมิตรประเทศทั้งหลาย เพื่อให้ขวัญและกำลังใจต่อเรา และช่วยกันพูดจากับฝ่ายกัมพูชา ให้ใช้การเจรจา หาสันติวิธีต่างๆ เราก็ต้องฝากฝังเพื่อฝูงของเราให้ช่วยกันพูด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา และตอนนี้อาเซียนก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้กระบวนการทวิภาคีมีความคืบหน้าต่อ ไป
เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะไม่เสียเปรียบกัมพูชา นายกษิตกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการเสียเปรียบ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของการเจรจา เป้าคือจะต้องมีสันติภาพ ประชาชนชาวไทย 65 ล้านคน อยากมีสันติภาพใช่หรือไม่ เราก็มุ่งหวังว่ากัมพูชาจะเป็นเช่นนั้น