พรรคประชาธิปัตย์ชี้แจง 8 ประเด็น ใน MOU 2543 ผ่านเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva ระบุ MOU ใช้หลักเจรจาไม่สามารถบังคับใครได้ แม้เขมรไม่รักษาสัญญาแต่การรบก็ไม่ได้ช่วยอะไร สุดท้ายต้องจบที่โต๊ะเจรจาอยู่ดี ส่วนการยกเลิก MOU จะทำให้ยังขัดแย้งเรื่องเขตแดนกันต่อไป ถ้าจะทำ MOU ใหม่ก็ต้องอ้างอิงเอกสารชุดเดิม เพราะเป็นหลักสากลเรื่องการปักปันเขตแดน
เมื่อวันที่ 14 ก.พ.54 เวลา 15.21 น. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva ในหัวข้อ “ทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ MOU 43” สามารถอ่านเอกสารได้ที่ http://www.democrat.or.th/upload/downloads/documents/MOU43-explanation.pdf
พรรคประชาธิปัตย์ได้ชี้แจงหลายประเด็นในเอกสารบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 หรือเรียกย่อๆว่า เอ็มโอยู 2543 โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ดังนี้...
mou - ข้อ 1. จะร่วมกันดำเนินการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชาให้เป็นไปตามเอกสารต่อไปนี้
ชี้แจงว่า - ข้อ 1 (ก) (ข) (ค) ได้ถูกใช้เป็นกรอบเจรจา ด้านการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ในครั้งนั้น รัฐสภาได้เห็นชอบด้วยคะแนน 406 ต่อ 8
mou - (ค) แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดน ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยาม กับอินโดจีน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 ระหว่างสยาม กับฝรั่งเศส
ชี้แจงว่า - ข้อ (ค) นี้ MoU 2543 ฉบับภาษาอังกฤษเขียนว่า (c) Maps which are the results of demarcration works of the Commissions of Delimitation of the Boundary between Indo-China and Siam set up under the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France, and other documents relating to the application of the Convention of 1904 and the Treaty of 1907
ข้อสังเกต “แผนที่” ใช้คำว่า “Maps” แสดงว่า มีแผนที่มากกว่าหนึ่งฉบับ ความเป็นจริง คือ ไทยและฝรั่งเสส ดดย คณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส ได้จัดทำแผนที่ 11 ฉบับ หรือ 11 ระวาง ในมาตราส่วน 1 : 200,000 และในระวางที่ 11 ซึ่งเป็นบริเวณดงรัก เป็นแผนที่ที่ฝ่ายไทยไม่ยอมรับ และศาลโลกได้วินิจฉัย ในคำพิพากษาปราสาทพระ วิหาร เฉพาะระวางดงรักว่า ไม่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส
“Commissions” คำนี้แสดงให้เห็นว่า มีคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส มากกว่าหนึ่งชุด และความจริงคือ มีคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-ฝรั่งเศส สองชุดด้วยกัน โดยชุดที่หนึ่งตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฯ 1904 และชุดที่สองตามสนธิสัญญาฯ 1907 แผนที่ระวางดงรักเป็นการจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส โดยที่คณะกรรมการปักปันฝ่ายไทยใน ชุดที่หนึ่งไม่ได้ให้การยอมรับ และไม่ได้มีการประชุมเพื่อให้ฝ่ายไทยได้ปรับปรุงแก้ไข ทั้งที่ได้กำหนดไว้ให้มีขึ้นก่อนวันที่ 15 มีนาคม 1907 อีกทั้งได้ยุติบทบาทโดยสิ้นเชิงในราวเดือนกุมภาพันธ์
ในวันที่ 23 มีนาคม 1907 รัฐบาลสยาม และฝรั่งเศส ได้ลงนามในสนธิสัญญากำหนดเขตแดนใหม่ที่มิได้มีการตกลงมาก่อนในอนุสัญญาฉบับ 1904 จึงได้เกิดมีคณะกรรมการฯ ชุดที่สองขึ้น งานของคณะกรรมการชุดนี้ คือ ปักปันเขตแดนในอาณาบริเวณเขาดงรัก ซึ่งชุดแรกไม่ได้ปักปันไว้คือ จากช่องแกนไปทางด้านตะวันตก จึงไม่รวมพระ วิหารซึ่งอยู่ด้านตะวันออก
mou - 3. ให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมมีอำนาจหน้าที่ต่อไปนี้
ชี้แจงว่า - 3. การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตแดนร่วมนี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศจะต้องทำงานร่วมกันในลักษณะ เจรจาเพื่อหาข้อยุติ หากไม่สามารถหา ข้อยุติในเรื่องใดได้ เช่น ในเรื่องแผนที่ หรือหลักเขตที่เคยปักไว้ในอดีต ก็สามารถชะลอการทำงานไปก่อนได้ เพราะไม่มีอำนาจใด สามารถบังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับ ในสิ่งที่ตนไม่ต้องการยอมรับ
mou - (ฉ) ผลิตแผนที่แสดงเส้นเขตแดนทางบก ที่ได้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกแล้ว
ชี้แจงว่า - (ฉ) หมายความว่า หากดำเนินการตาม MoU 2543 นี้ จนแล้วเสร็จ ทั้งสองประเทศจะร่วมกันผลิตแผนที่ ที่แสดงเส้นเขตแดนทางบก เป็นแผนที่ฉบับใหม่ ที่ทั้งสอง ประเทศให้การยอมรับโดยต้องเป็นไปตามอนุสัญญาฯ 1904 และสนธิสัญญาฯ 1907
mou - ข้อ 3 (ข) จัดทำแผนแม่บท และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วม
ชี้แจงว่า - ข้อ 3 (ข) แผนแม่บทนี้ ได้รับการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2546 (เป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน)
แผนแม่บทนี้ เป็นการกำหนดขั้นตอนต่างๆสำหรับการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนร่วมกัน มีชื่อเรียกง่ายๆว่า TOR46 ซึ่งย่อมาจาก Terms of Reference and Master Plan for the JointSurvey and Demarcation of Land Boundary) ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้
1. การค้นหาที่ตั้ง และสภาพของหลักเขตเดิมที่ได้เคยจัดทำแล้ว 73 หลัก รวมถึงการซ่อมแซมหลักเขตเดิม
เมื่อกลางปี 2549 ไทยและกัมพูชาได้ร่วมกันสำรวจหลักเขตแดนเดิม ปัจจุบันค้นพบ 48 หลัก เห็นพ้องกัน 33 หลัก และเห็นต่างกัน 15 หลัก
2. การจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto Maps) มาตราส่วน 1 : 25,000 ตลอดแนวเขตแดน
คณะกรรมการเขตแดนร่วมรอการอนุมัติจากรัฐสภา ให้ดำเนินการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ หากได้ดำเนินการในข้อนี้ ทั้งสองประเทศจะได้เห็นเส้นสันปันน้ำที่แท้จริง กัมพูชาจะมากำหนดเส้นสันปันน้ำตามใจชอบไม่ได้
3. การลากแนวที่จะเดินสำรวจบนแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
4.การตรวจสอบภูมิประเทศจริง
5.การปักหลักเขตแดน
ในข้อ 3, 4 และ 5 จะเป็นการลงพื้นที่จริง แนวเขตแดนที่จะกำหนดขึ้นนี้ ต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองประเทศ และต้องเป็นไปตามอนุสัญญาฯ 1904 และสนธิสัญญาฯ 1907 หากมีส่วนใดที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ก็สามารถชะลอไปก่อนได้
ในทางเทคนิคของการสำรวจพื้นที่จริงนี้ แผนที่ 1 : 200,000 จะไม่สามารถใช้เป็นเอกสารอ้างอิงได้เพราะเป็นแผนที่ที่มีความหยาบ คือ 1 มิลลิเมตร เท่ากับ 200 เมตร
mou - ข้อ 4 2.เมื่อดำเนินการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนแล้วเสร็จแต่ละตอน ให้ประธานกรรมาธิการเขตแดนร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ และแผนที่ที่จะแนบบันทึก ความเข้าใจดังกล่าว ซึ่งแสดงตอนที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไว้
ชี้แจงว่า - ข้อ 4 2.ในข้อนี้หมายความว่า เมื่อดำเนินการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนแล้วเสร็จในแต่ละตอน (แบ่งเป็น 6 ตอน) ก่อนประธานกรรมาธิการเขตแดนร่วมฝ่าย ไทยจะลงนามบันทึกความเข้าใจ รัฐบาลต้องนำเสนอเอกสารดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อขอการอนุมัติเสียก่อน เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 เพราะเป็นหนังสือสัญญาเกี่ยวข้องกับอาณาเขตและสิทธิอธิปไตยของประเทศ
mou - ข้อ 5. เพื่ออำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกันเป็นไปอย่างประสิทธิผล หน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นจะงด เว้นการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมเพื่อผลประโยชน์ในการ สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
ชี้แจงว่า - ข้อ 5. ข้อนี้กำหนดไว้เพื่อไม่ให้ฝ่ายกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ไทยมากไปกว่าเดิม และเมื่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนแล้วเสร็จ ผู้ที่ล้ำเขตแดนต้องถอยกลับ ไปอยู่ในพื้นที่ตนเอง
mou - ข้อ 8 ให้ระงับข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความ หรือการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้โดยสันติวิธีด้วยการปรึกษาหารือและการเจรจา
ชี้แจงว่า - ข้อ 8 หมายความว่า เมื่อใดที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจะแก้ปัญหาด้วยการปรึกษาหรือการเจรจา ไม่ใช่การบังคับให้ใครต้องยอมใคร
และได้สรุปว่า
1. MoU 2543 เป็นเพียงข้อตกลงว่าจะมาหาวิธีสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนร่วมกัน
2. ในการดำเนินการ MoU 2543 ใช้หลักการเจรจาไม่มีใครสามารถบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับในสิ่งที่ตนไม่ต้องการได้ ทุกๆขั้นตอนคือการหาข้อยุติร่วมกัน
3. ก่อนที่จะลงนามยอมรับในแผนที่ที่ได้จัดทำร่วมกัน รัฐบาลต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ แผนที่นั้นก็จะไม่มีผลทางกฎหมายแต่ประการใด
4. ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นเพราะกัมพูชาไม่ได้รักษาสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ แต่การรบกันก็คงไม่ทำให้กัมพูชารักษาสัญญา และผู้เดือดร้อนคือพี่น้อง ประชาชนโดยเฉพาะบริเวณชายแดน
5. หากมีการสู้รบหรือการตอบโต้ในทางใดทางหนึ่ง สุดท้ายก็ต้องจบลงที่การเจรจา แต่ความสูญเสียได้เกิดขึ้นแล้ว
6. หากยกเลิก MoU 2543 ก็จะไม่สามารถสร้างความชัดเจนในเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศได้ มีผลทำให้ประเด็นเขตแดนเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งต่อไป
7. หากมีการยกร่าง MoU กันใหม่ อย่างไรเสียก็ต้องอ้างถึงเอกสารชุดเดียวกันที่ใช้กับ MoU 2543 เพราะเป็นหลักปฏิบัติสากลในเรื่องการปักปันเขตแดน
8. เพิ่มเติมเกี่ยวกับ MoU 2543 โปรดอ่านเอกสาร “MoU 2543 ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนจริงหรือ” www.democrat.or.th
9. อ้างอิง
-บันทึกลงนามความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ลงนาม ณ วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543
-แถลงการณ์เรื่อง บันทึกความเข้าใจไทย - กัมพูชา ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543 โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
-หนังสือ “คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ คดีปราสาทพระวิหาร” โดยทำเนียบนายกรัฐมนตรี 2505
-เอกสาร “ข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดน ไทย-กัมพูชา” โดยกระทรวงการต่างประเทศ
-เอกสารชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา โดยกระทรวงการต่างประเทศ
-www.icj-cij.org