“ยะใส” ชี้ถึงเวลาสังคายนาแนวคิดภัยความมั่นคงใหม่ หมดเวลา รบ.ใช้เป็นเครื่องมือค้ำสถานะทางการเมือง จวกรัฐอย่าเบี่ยงประเด็นอ้างเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับการเสียดินแดน แนะ พล.ต.ต.อำนวย อย่าคึกวอนดู พล.ต.ท.สมยศเป็นบทเรียน นักการเมืองก็ไม่สามารถคุ้มหัวคุณได้ตลอด
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง “รวมพลังปกป้องแผ่นดิน” ปราศรัยโดย “นายสุริยะใส กตะศิลา”
วันที่ 15 ก.พ.2554 บนเวทีปราศรัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายสุริยะใส กตะศิลา โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กรอบความมั่นคงที่สหประชาชาติแบบใหม่ให้ไว้ต้องมีลักษณะก่อการร้าย ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ อุทกภัยขนาดใหญ่ ปัญหาเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ ไม่ตระหนักกับนิยามนี้ เป็นเพราะยังคิดว่าเรื่องที่ทำให้รัฐบาลไม่เป็นเสถียรภาพหรือเป็นภัยต่อคณะนายกรัฐมนตรี จะถูกนิยามว่าเป็นภัยแห่งความมั่นคงไปในทันที จึงไม่แปลกเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานความมั่นคงแห่งชาติ มีทัศนะคติเช่นนี้ ไม่รู้สึกว่ากัมพูชายึดพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นภัยคุกคาม
“รัฐบาลไม่แยกแยะว่าอะไรเป็นภัยต่อความมั่นคง ถ้าพันธมิตรฯ ชุมนุมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เท่ากับว่าในประเทศนี้ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม”
นายสุริยะใสกล่าวว่า การออกหมายเรียก 10 แกนนำข้อหาฝ่าฝืนความมั่นคง สะท้อนวิธีคิดที่ผิดของฝ่ายความมั่นคง ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคง คือ กองทัพ ซึ่งบางครั้งกองทัพก็เป็นวิธีคิดแบบเก่า มองว่าการชุมนุมเป็นภัยคุกคามไปเสียหมด ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้นักการเมือง ใช้กลไกนี้เป็นข้ออ้างเล่นงานประชาชนที่เห็นต่าง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วต้องสะสางนิยามเรื่องของความมั่นคงใหม่ ที่สำคัญที่สุดหมดเวลาแล้วที่จะให้ความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องของนักการเมืองกับกองทัพตามลำพัง
“การออกหมายเรียกในวันนี้ รู้สึกเฉยๆ ชินแล้ว แต่การออกหมายเรียกใครในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ ผมใช้ชีวิตอย่างเปิดเผย ไปไหนสามารถตรวจสอบได้ มาชุมนุมถ่ายทอดสด มีการบันทึกเสียง หากเห็นว่าผมพูดหมิ่นประมาท ดูถูกเหยียดหยาม ก็สามารถใช้กฎหมายปกติเล่นงานได้ แต่รัฐบาลไม่ใช้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ต่อการชุมนุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นนี้”
นายสุริยะใสกล่าวว่า สิ่งที่ควรถือเป็นภัยมั่นคงแบบใหม่ของชาติ คือ 1.ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน มีอคติ ส่งผลร้ายเช่นกรณีเสื้อแดงบางส่วนเข้าใจผิดต่อสถาบัน มีอคติ สุดท้ายเกิดขบวนการล้มเจ้า อย่างนี้เรียกว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ไม่เห็นสภาความมั่นคงแห่งดำเนินการอย่างจริงจัง 2.การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลยุคที่ผ่านมา เป็นที่น่้าเสียดายฝ่ายค้านพูดแต่เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างจริงจัง 3.ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประเทศไทยมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน สูงมาก เพราะนักการเมืองพึ่งพาไม่ได้ นโยบายของพรรคเป็นแค่ประชานิยมหาคะแนนเสียง ช่องว่างยิ่งห่างมากโอกาสความขัดแย้งยิ่งสูง 4.ปัญหาความยากจน ที่จริงนโยบายของรัฐบาลสามารถเยียวยาความยากจนได้ ถ้าคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ที่แท้จริง แต่เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้การจัดทำงบประมาณของรัฐไปไม่ทั่วถึงประชาชน
“น่าเสียดายที่ความมั่นคงมองปัญหาของชาติบ้านเมืองเป็นธุระ ในความหมายของรัฐไทย มุ่งหมายเล่นงานกับประชาชนที่ตื่นตัวตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลฉลาดต้องใช้ให้เป็นประโยชน์กับความมั่นคงของชาติ อย่างไรก็ดี หากหน่วยงานนี้ยังไม่ปรับวิธีคิด เชื่อว่าไม่สามารถกำจัดภัยความมั่นคงได้ ในที่สุดจะเกิดภาวะรัฐล้มละเหลว ถ้าไม่สามารถสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้ ความมั่นคงของชาติก็ไม่เกิด”
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า เท่าที่ตนทราบตำรวจผู้ใหญ่เขาก็ไม่พอใจในบทบาท พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน เดิมทีตั้งแต่พันธมิตรฯ ชุมนุมวันแรกถึงวันนี้ ตำรวจผู้ใหญ่บางท่านบ่นว่าเขาสื่อสารกันดี พันธมิตรฯ ก็น่ารัก ไม่ไปไล่ยิงใคร แต่พออำนวยเข้ามา ต้องการเอาใจนักการเมือง ทำให้กลไกตำรวจที่เขาพยายามประสานมันไม่ทำงาน ตนอยากให้ พล.ต.ต.อำนวย เอากรณี พล.ต.ท.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นบทเรียน ว่าการทำงานที่มุ่งมั่นเอาใจการเมือง โดยไม่สนใจความถูกต้อง จะถูกโดดเดี่ยว พอถึงจุดหนึ่งนักการเมืองก็ไม่สามารถคุ้มหัวคุณได้
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ไม่อยากให้ใครมองการชุมนุมไปผูกพันกับพรรคการเมืองใหม่ เพราะคนที่มาชุมนุมที่นี่บางคนก็เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เขามาชุมนุมเพราะเอาผลประโยชน์ชาติเป็นตัวตั้ง จะมีไปทำไมพรรคการเมือง ถ้ามีแล้วไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ พี่น้องต้องระวังอย่าหลงกลข่าวสร้างกระแสยุบสภากลับไปเลือกตั้งใหม่ เพราะเขาต้องการลดความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ประเด็นนี้ต้องถามว่าการเลือกตั้งเกี่ยวกับการเสียดินแดนตรงไหน อีกอย่างประชาชนที่เดินเข้าคูหาเลือกตั้งจะมีกี่คนที่เข้าใจข้อเท็จจริงว่าเราเสียดินแดน ฉะนั้นจะเอาผลการเลือกตั้งมาตัดสินว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาเขาวิหารถูกหรือผิดไม่ได้