“อภิสิทธิ์” ยันเรียกประชุมปราบยาเสพติด ไม่เกี่ยวเหตุขี้ยาก่อเหตุสะเทือนใจ แต่ตั้งใจจะประชุมหลังสงกรานต์อยู่แล้ว เผยเตรียมสั่งให้ขยายผลถึงตัวผู้บงการ วอนวุฒิฯ อย่ายื้อ เร่งคลอดกฎหมายลูก 3 ฉบับ อ้างไม่มีอะไรซับซ้อนหลังสภาผู้แทนฯ ดูละเอียดแล้ว ขณะเดียวกันเรียกร้อง กกต.ขยายหน้าที่จากดูแลเลือกตั้งมาคุมเข้มการเมืองหมิ่นสถาบัน พร้อมวางกติกาให้ทุกพรรคยอมรับผลเลือกตั้ง เชื่อจะไม่มีเหตุผลให้การเมืองวุ่นวายหลังเลือกตั้งอีก ย้ำเวลายุบสภาตัดสินใจจบแล้ว ด้าน ผบ.ตร.ระบุสถานการณ์แข่งขันรุนแรง ต้องยกทั้งสำนักงานตำรวจฯ มาดูแล กางบัญชีมือปืนขยายผลกดดัน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะนัดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงยุติธรรม หารือเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันและปรามปรามยาสเสพติด ซึ่งจากการพูดคุยกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ก็ได้ข้อสรุปว่าต้องการเร่งให้มีการขยายผลโดยเฉพาะในเรื่องของการยึดทรัพย์สิน เพื่อให้ถึงตัวผู้บงการรายใหญ่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การเรียกประชุมไม่ได้เกิดจากเหตุสะเทือนขวัญที่เพิ่งผ่านมา แต่ตนตั้งใจอยู่แล้วว่าหลังสงกรานต์จะมีการหารือ ใน 3 เรื่อง คือ 1.น้ำมัน 2.ค่าแรง 3.ยาเสพติด ซึ่งเรื่องของค่าแรงและน้ำมันจะมีการหารือในวันจันทร์ที่ 18 เมษายนนี้
ส่วนที่ ผบ.ตร.ระบุว่าพบการเคลื่อนไหวของกลุ่มมือปืนใกล้ช่วงเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้มีการตั้งศูนย์ดูแลการเลือกตั้งไว้แล้ว และเข้าใจว่าได้มีการมอบหมายและแบ่งงานในแต่ละพื้นที่ รวมถึงบทบาทของบุคคลหลักๆ ทั้งในส่วนของ รอง ผบ.ตร.และผู้ช่วย ผบ.ตร.คิดว่าทางตำรวจเองก็มีความพร้อม และคงจะดูแลได้เรื่องของการดูแลความเรียบร้อยนั้นต้องช่วยกันดูแล เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อย อย่างดุสิตโพลเองก็สะท้อนออกมาแล้วว่าประชาชนต้องการมุ่งสู่การเลือกตั้ง จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าผลโพลมีการระบุว่า ประชาชนให้มีการเปลี่ยนแปลง คิดว่าเป็นการสะท้อนอะไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คำว่าเปลี่ยนแปลงต้องไปพิจารณาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่มุมไหน แต่คิดว่าสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นก็คือทำอย่างไรให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความสงบเรียบร้อย ตัวระบบการเมืองต่างๆ เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ก็อยากจะเดินหน้าไปสู่จุดนั้นด้วยกัน สำหรับกติกาของทุกพรรคก็ควรจะต้องเร่งวาง อย่างที่ตนบอกว่าจะหาเวลาไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเร็วๆ นี้
ต่อข้อถามว่า กกต.เข้ามาดูแลช้าไปหรือไม่ ในเรื่องการหมิ่นสถาบันฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่คิดว่าช้าเกินไป เพราะ กกต.จะเข้ามาดูแลในช่วงการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้ผูกติดกับการเลือกตั้งอย่างเดียว มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นด้วย มีนักการเมือง มีพรรคการเมือง เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็คิดอยากจะให้ กกต.เข้ามาดูแลส่วนนี้อีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีที่วุฒิสภาอาจจะมีการเลื่อนพิจารณากฎหมายประกอบการเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่อยากให้เลื่อน เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย เป็นเรื่องของการทำกฎหมายให้สอดคล้องระบบเลือกตั้ง ซึ่งแก้ไขโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และกฎหมายที่ไม่สอดคล้องก็บังคับใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมืออย่าให้เกิดการสะดุดหรือคิดกันเลยว่ามันจะไม่เป็นไปตามตารางเวลาต่างๆ ตนคิดว่าดีที่สุดในขณะนี้ก็คือทำความแน่นอน ทำความมั่นคง ให้ระบบการเมืองเพื่อที่จะเดินหน้าได้ต่อไป
เมื่อถามว่า เพราะต้องรอให้วุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาก่อนหรือไม่ ถึงต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเทียบดูเรื่องที่ใหญ่กว่าขณะนี้ คือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้ ในระยะเวลาที่มีการพูดคุยกันแล้ว อันนั้นน่าจะสำคัญที่สุด ตัวกฎหมายเลือกตั้งต่างๆ วันข้างหน้าจะมีการปรับแก้ในประเด็นอื่นๆ ก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มีประเด็นเฉพาะของมัน และทางสภาฯก็ผ่านแล้ว และได้ดูค่อนข้างที่จะละเอียดด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้ามีเหตุคลาดเคลื่อนใน ขั้นตอนของวุฒิสภาจริงๆ จะมีผลอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องของตัวเวลาก็ยังยืดได้ เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ที่สถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้งจะแย่ไปกว่าเดิม นายกฯ กล่าวว่า จะมีเหตุผลอะไร เพราะเราเองก็พยายามดูแลให้การเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรม ตนเองก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และจะขอให้ทาง กกต.ทำทุกอย่างให้มีความชัดเจน เพราะฉะนั้นตรงนี้คิดว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
ส่วนจะสร้างหลักประกันอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ไม่มีอะไรดีกว่าการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นธรรม ถ้ามีตรงนี้ก็คงไม่มีข้ออ้างอะไร เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทั้งประชาชนและ กกต.ช่วยกันดูแลพรรคการเมืองทำทุกอย่างให้โปร่งใส ก็ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์หลังเลือกตั้งดูเหมือนว่าหากใครชนะ ก็จะมีผุ้ชุมนุมออกมาต่อต้านอยู่ดี นายอภิสิทธิ์ย้อนถามว่า เหตุผลอะไร มันต้องมีการยอมรับผลการเลือกตั้ง ถ้าการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม การเคลื่อนไหวนอกสภาถ้าใช้สิทธิอยู่ในขอบเขตก็ไม่เป็นปัญหา อย่าไปเอาคนติดอาวุธเข้ามาก็แล้วกัน ไปเคลื่อนไหวในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการเมืองหลังการเลือกตั้งต้องทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติให้มากขึ้น ทำให้ระบบรัฐสภาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไทยมีความเข้มแข็งขึ้น ผลการเลือกตั้งไม่มีทางถูกใจทุกคนอยู่แล้ว แต่นี่จะเป็นบทพิสูจน์ประชาธิปไตยของสังคมไทย
เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่าจะมีการปูทางว่าจะมีการซื้อเสียง ส่งทหารเข้าไป นายกฯ กล่าวว่า เราต้องเอาความจริงมาว่ากัน ก็ไม่อยากให้สื่อตกไปเป็นเหยื่อกับขบวนการที่พยายามจะสร้าง ความสับสนขึ้นมา เมื่อถามต่อว่า แต่ความพยายามเช่นนี้ จะทำให้สังคมไขว่เขว่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องเอาความจริงสู้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในทางการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คุยกับพรรคร่วมแล้วหรือยังว่าจะจับมือตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า นายกฯ กล่าวว่า เราพูดคุยกันในเรื่องของการทำงาน ในช่วงนี้ ส่วนเรื่องของการกำหนดท่าทีของแต่ละพรรคเป็นสิทธิของเขาอยู่แล้ว เห็นเขาไปรวมกันก็สามารถทำได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันก็ยังเรียบร้อยดี ยังทำงานกันตามปกติ
ต่อข้อถามว่าได้ย้ำกับคนที่อยู่ในอำนาจรัฐ ถึงบทบาทหน้าที่ สำหรับการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้เริ่มพูดไปบ้างแล้ว และคิดว่าอยากให้ กกต.เป็นผู้กำหนดแนวทางจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โดยวางหลักไว้ว่า ต้องไม่ใช้ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่อะไรต่างๆ ในการไปเอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองต่างๆ แต่แนวปฏิบัติต้องให้ กกต.ช่วยในการให้คำแนะนำด้วย เพราะบางทีการทำงานก็ไปเกี่ยวข้องกับมวลชนก็ควรจะหาความพอดี ว่าจะทำกันแค่ไหน อย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อหาในอดีตมีการระบุว่า มักจะมีการปิดหมู่บ้าน หรือนำทหารไปซื้อเสียงให้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ภาพอย่างนั้นจะต้องไม่มี คนที่มาโวยวายอะไรตอนนี้ ก็เข้าใจว่าติดยึดอยู่กับภาพที่เคยทำเอาไว้
ส่วนที่กลุ่มเสื้อแดงระบุว่ามีหลักฐานและเตรียมจะนำมาเปิดเผยภายหลัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนก็มีข้อมูลตรงนี้อยู่ เมื่อถามว่า มีรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าที่ นายกรัฐมนตรียุบสภาต้นเดือนพฤษภาคม เพราะต้องการหลีกหนีความวุ่นวายในช่วงธันวาคม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนตัดสินใจจบไปแล้ว เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคิดว่าที่ได้มีการตัดสินใจตั้งแต่ทีแรกและได้ประกาศไป แม้จะมีคนวิเคราะห์หรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ตาม แต่ในภาพรวมบ้านเมืองก็อยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และอย่างน้อย 4-5 วันที่ผ่านมาก็เป็นสงกรานต์ที่เราไม่ต้องทุกข์เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อถามย้ำว่า เห็นคนในพรรคประชาธิปัตย์บอกจะยุบสภาในวันที่ 6 พฤษภาคม นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ
ด้าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อยในการเลือกตั้งว่า ได้มีการเตรียมพร้อมไว้แล้วในอดีตสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะจัดระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการ หรือรองผู้บัญชาการเป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบ แต่ครั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ค่อนข้างจะมีความรุนแรง ทาง สตช.ก็ยกทั้งกรมมาดูแลความสงบเรียบร้อง โดยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบการเลือกตั้งเอง มีรองจเรตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลเรื่องการวางตัวเป็นกลางของข้าราชการตำรวจ
ส่วนขณะนี้มีความเคลื่อนไหวที่ผิดสังเกตของกลุ่มมือปืนหรือไม่นั้น พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ก็มี ซึ่งเราเอาบัญชีมือปืนเร่งรัดจับกุมพวกที่มีหมายจับเข้าไปกดดัน ในลักษณะที่มีการเลือกตั้งมีเขตเดียวมี ส.ส.คนเดียวการแข่งขันก็จะสูงขึ้น ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ที่มีผู้อิทธิพลก็ต้องระวัง แผนพิทักษ์เลือกตั้งก็มีตั้งแต่การสืบสวนหาข่าว การเร่งรัดจับกุม ซึ่งเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องทำงานหนักกว่าครั้งที่ผ่านมา จึงได้เตรียมความพร้อมก่อนล้วงหน้า โดยได้มีการประชุมความพร้อมไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 1 คูหาเลือกตั้งต้องมีตำรวจอย่างน้อย 1 นาย มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน ซึ่งครั้งนี้เราจะใช้ฝ่ายปกครองเป็นหลัก เนื่องจากทางทหารขอมาว่าจะไม่ใช้กำลังทหารเพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย
เมื่อถามว่าจะไปดูแลในเรื่องการปราศรัยที่ไปหมิ่นหรือจาบจ้วงเบื้องสูงอย่างไร พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า เมื่อมีกฤษฎีกาเลือกตั้งกฎหมายก็จะช่วยอีกส่วนหนึ่งก็คือการหาเสียงที่ไปพาดพิงหรือใส่ความกับผู้สมัครเข้าใจผิดก็จะผิดตามกฎหมายตามเลือกตั้งได้ทันที เรื่องการหาเสียงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็คงจะเตือนผู้สมัครหรือผู้สนับสนุนที่ไปหาเสียงโจมที่เข้าลักษณะใส่ความจะมีความผิดทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งจะมีตำรวจเข้าไปบล็อกหัวคะแนนของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า คงทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะกำลังตำรวจก็ไม่พออยู่แล้ว การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็จะมาหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว