นายกฯ รับข้อเสนอสมาคมนักข่าววิทยุฯ ขึ้นเวทีดีเบตพันธมิตรฯ หาทางออกปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา แต่ตั้งแง่อย่านำข้อมูลไปบิดเบือนกล่าวหารบ.มีประโยชน์อยู่เบื้องหลัง กลัวย้อนศรแนะให้ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบคำพูดตัวเอง ยืนยันกอดเอ็มโอยู ปัด 3 ข้อเสนอ พธม.ต่อไป แถมแหลอ้างอย่าหลงกลเขมรยั่วยุ หวังล้มทวิภาคี ลากเข้าพหุภาคี
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (14 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สมาคมนักข่าวและวิทยุโทรทัศน์ เสนอเป็นคนกลางในการจัดเวทีการเจรจาระหว่างรัฐบาล และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ว่า ตนเองไม่มีปัญหาอยู่แล้ว เรายินดีที่จะให้ข้อมูล และได้คุยมาตลอด ว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วถ้าทุกฝ่ายต้องการที่จะแก้ปัญหา และมีจุดประสงค์ตรงกัน คือ ดูแลไม่ให้ประเทศของเราเสียอธิปไตย เสียดินแดน พร้อมๆ กันไป ตนเชื่อว่า ทุกๆ ฝ่ายต้องการเห็นความสุขที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลไม่ตรงกันก็เอามาแลกเปลี่ยนจะได้ทราบ
“วันนี้ผมเห็นพันธมิตรฯเรียกร้องว่า ต้องพยายามแก้ปัญหาในกรอบทวิภาคี ซึ่งเป็นจุดที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอด และกำลังจะบอกว่าที่ผ่านมา ขณะนี้ที่เรายึดทวิภาคีได้ในเวทีพหุภาคีทั้งหลาย เพราะกัมพูชายอมรับมีเอ็มโอยูอยู่ ผมก็พยายามอธิบายตรงนี้มาโดยตลอด แต่พอไม่ยอมมาพูดพร้อมกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกัน และเกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนไปหยิบปัญหาแต่ละเรื่อง แต่ละมุมมา ก็ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น ฉะนั้น จริงๆ แล้วถ้ามาอธิบายพร้อมๆ กัน มันจะเป็นจุดที่เห็นได้อย่างชัดเจน” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า คิดว่า ในส่วนที่ยังเห็นต่างกันจะแสวงหาจุดร่วมให้ตรงกันได้ยังไง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็พยายามอยู่ ความจริงแล้วในการประชุมวุฒิสภา ซึ่งได้มีการประชุมลับก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในบางส่วน และเห็นว่า จริงๆ มันน่าจะพูดคุยกันได้ แต่เวลานี้มีความพยายามที่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการชุมนุมไปในลักษณะที่กล่าวหา เช่น บางทีบอกว่า รัฐบาลหรือตนเองไปมีผลประโยชน์เรื่องพื้นที่ทางทะเล ซึ่งมันไม่มีก็เลยไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร เพราะเรายืนยันว่า ทั้งหมดในความคิดเป็นเรื่องของความแตกต่าง ว่า เราควรจะเดินอย่างไรในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ ขณะเดียวกัน จะสังเกตเห็นว่า เอกสารข้อมูลหลายเรื่องที่พันธมิตรฯหยิบมาเป็นปัญหาที่เคยดำเนินการในอดีต ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้เข้ามาแก้ไขไปแล้ว แต่เอาข้อมูลในอดีตกลับมาทำให้เกิดความสับสนอีกว่า ทิศทางของรัฐบาลในขณะนี้คืออะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯจะไปร่วมตามคำเชิญหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองไม่มีปัญหาอะไร เมื่อถามต่อว่า ต้องการดีเบตผ่านทางทีวีหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้ต้องการดีเบต และทางพันธมิตรฯก็ไม่ยอมที่จะให้มีเวทีเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เมื่อถามต่อว่า ทางพันธมิตรฯบอกว่า พร้อมแล้วที่จะดีเบต นายกฯ กล่าวว่า เห็นเมื่อวานก็บอกไม่เอา วันก่อนก็ไม่เอา ตนเองไม่ได้มีปัญหา ถ้าพร้อมก็พร้อม เพราะข้อมูลไม่ได้เปลี่ยนไปไหน เราเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน
เมื่อถามว่า วันนี้ยังมีความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ ถ้าจะไปดีเบตผ่านทางโทรทัศน์ ผ่านทางทีวีจะเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ใช่ การพูดต้องพูดกันด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งต้องเข้าใจว่า ข้อมูลบางเรื่องมีความละเอียดอ่อน การทำงานทางด้านนี้ไม่ใช่ทุกเรื่องที่พึงจะเสนอออกมาทางสาธารณะ ในขณะที่อาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินการของรัฐบาลไทย หรือต่อเวทีระหว่างประเทศ ตรงนี้ต้องเข้าใจ เมื่อถามต่อว่า ในเมื่อรัฐบาลมีจุดยืนที่แน่วแน่ควรจะหาทางออกที่ชัดเจนเพื่อให้สังคมรับรู้ นายกฯ กล่าวว่า เวลานี้นโยบายรัฐบาล มีความชัดเจน และเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ยืนยัน สิ่งที่รัฐบาลพูดอยู่แล้ว เรากำลังมีภาระในการที่จะต้องไปดำเนินการ โดยเวลา 22.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ.เราจะต้องให้ทางสหประชาชาติมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า ปัญหานี้พึงจะแก้ไขโดยรูปแบบของการเจรจาทวิภาคี และอาเซียนก็มีความพร้อมในการที่จะมาสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อปัญหาภายในยังหาข้อยุติไม่ได้ แล้วปัญหาจะคลี่คลายได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาภายในขณะนี้ จุดยืนของรัฐบาลชัดเจน และปัญหาการชุมนุมเป็นเรื่องปัญหาการชุมนุม แต่จุดยืนของรัฐบาลในการดำเนินการนโยบายการต่างประเทศมีความชัดเจน และถ้าไม่มีความชัดเจนจะเป็นปัญหา ซึ่งตรงนี้คิดว่า พันธมิตรฯต้องมีความเข้าใจด้วย เพราะหลายเรื่องในขณะนี้ต่างประเทศไปคิดว่า จุดยืนของรัฐบาลไม่ชัดเจน จะทำให้จุดยืนของเราอ่อนแอลง เช่น เรายืนยันว่า ตอนนี้ทวิภาคีดูแลได้ เพราะมีเอ็มโอยู ถ้าเราไม่ไขว้เขวทำให้คนเข้าใจว่า เราจะเลิกเอ็มโอยูเมื่อไรก็ได้ทันทีหรือแม้กระทั่งทันที มันก็เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้เขาบอกว่า ถ้าอย่างนั้นทวิภาคี คงทำไม่ได้
เมื่อถามว่า จะขัดแย้งกันก่อนหรือไม่ในขณะที่พันธมิตรฯบอกว่าอยากให้มีการเจรจาทวิภาคี แต่กลับให้ยกเลิกกลไกที่เป็นช่องทางในการเจรจา นายกฯ กล่าวว่า ต้องถามพันธมิตรฯ แต่รัฐบาลไมได้มีจุดยืนที่ขัดแย้งกันเอง
“ผมอยากให้พันธมิตรฯได้ฟัง และเปิดใจกว้าง ลดทิฐิ เพราะการเริ่มต้นจากข้อเรียกร้องที่ขณะนี้ยิ่งทำยิ่งเป็นปัญหา กับรัฐบาลไทย กับประเทศไทย นึกภาพดูซิถ้าตอนนี้ไปถอนตัวออกจากมรดกโลกเรียบร้อยทางกัมพูชาเลย ลดทิฐิลงหน่อย ผมเข้าใจความห่วงใย ก็มาคุยกัน แล้ววันข้างหน้าสถานการณ์เป็นอย่างไร มันอาจจะต้องมีการปรับกลยุทธอะไรกันแต่ละฝ่าย ก็มาคุยกันได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯคิดว่า พฤติกรรมของกัมพูชากับเอ็มโอยูที่ทำกับไทย กัมพูชามีความจริงใจแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า เขาจะจริงใจหรือไม่ แต่มันเป็นสิ่งที่ผูกมัดเขา และเขาได้แสดงออกว่า มันผูกมัดเขาในเอกสารที่ได้ส่งให้มรดกโลก ฉะนั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้ประโยชน์ในขณะนี้เพื่อดึงให้ทุกอย่างกลับมาสู่การเจรจาทวิภาคี ส่วนจุดอ่อนเอ็มโอยูก็ต้องแก้ไขกันไปก็เท่านั้นเอง เมื่อถามว่า บรรยากาศในขณะนี้จะดึงกลับเข้าเอ็มโอยูได้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ได้ ถ้าไม่กลับมาตรงนี้ก็มีแต่จะแรงขึ้น ยกเว้นจะลากประเทศที่ 3 ประเทศที่ 4 เข้ามา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอะไรเลย
เมื่อถามว่า ปัญหาคือ วันนี้ในเวทีโลกไม่สามารถที่จะคุยกันได้ จะเอาอินอินโดนีเซียเข้ามาเป็นตัวกลางหรือไม่ ในฐานะประธานอาเซียน นายกฯ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า คุยได้ และขณะนี้อินโดนีเซียกับอาเซียนในภาพรวมเขาสนับสนุนอยู่แล้วว่า เรื่องแบบนี้ต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี เพียงแต่ถ้า 2 ฝ่ายยังมีปัญหา ซึ่งอาจจะเกิดจากความหวาดระแวง หรืออะไรกัน ทำให้การประสานงาน หรือการอำนวยความสะดวกเดินไม่ได้ เขาอยากจะยื่นมือเข้ามา อย่างนี้เราไม่มีปัญหา และเข้าใจว่า การประชุมของอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ.ก็เป็นไปในลักษณะของเจตนารมณ์แบบนี้ เมื่อถามต่อว่า หมายความว่า เรายังเปิดทางไว้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ครับ บทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนที่เดินทางไปด้วยก็อยู่ในกรอบ ตรงนี้ซึ่งเราไม่ได้ขัดข้องอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังว่า จะเห็นผลจากการประชุมยูเอ็นเอสซีอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า อยากเห็นผลสรุปที่ให้ 2 ประเทศมาใช้วิธีการในการเจรจาพูดคุยกัน และอาเซียนอยู่ในฐานะผู้สนับสนุนเชิงผู้ประสานงาน อำนวยความสะดวกได้ เมื่อถามว่า ยังไม่ถึงขั้นจะใช้กฎบัตรอาเซียนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น และยังไม่มีอะไรที่สนับสนุนว่า จะต้องมีประเทศอื่นเข้ามาดูแลเรื่องของเนื้อหาสาระ ที่จะต้องเจรจากัน ขณะนี้เป็นเรื่องของการประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากกว่า กลไกของการเจรจา 2 ฝ่ายยังเดินได้ เมื่อถามว่า คิดว่า ทางกัมพูชาจะยอมคุยกับทางไทยอีกหรือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่ากัมพูชาในช่วงสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมา เขาต้องพยายามแสดงจุดยืนทุกวิถีทางว่า ทวิภาคีเดินไม่ได้ เพราะเขาหวังผลที่จะให้มันลากไปสู่เวทีอื่น แต่หากเราสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ ยืนอยู่ในจุดที่อาเซียนได้แสดงออกคิดว่า กัมพูชาก็ต้องยอมรับ เพราะถ้าเวทีอื่นสนับสนุนให้กลับมาคุยกัน 2 ฝ่าย เขาก็ต้องมาคุยกัน 2 ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องมีมาตรการอะไรรองรับหรือไม่ หากสถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราต้องมีการเตรียมการรองรับไว้ทุกสถานการณ์อยู่แล้ว เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่เพราะกัมพูชามีแบล็คถึง 3 ประเทศ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ เราอย่าไปสรุปอะไรอย่างนั้น ท่าทีของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เขาได้รับด้วย ซึ่งเราคิดว่า การชี้แจงและการแสดงหลักฐานจะมีความสำคัญ เมื่อถามว่า ในขณะที่ไทยพยายามให้กลับมาสู่การเจรจาทวีภาคี แต่ยังเกิดปัญหาการยั่วยุบริเวณแนวชายแดน จะประคองสถานการณ์อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราถึงต้องระมัดระวังว่า อย่าหลงกล เช่น สมมุติว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันวาน ถ้าไปหลงกลในแง่ของการยั่วยุ จะเป็นการไปช่วยเสริมท่าทีพหุภาคี ตรงนี้ถึงได้ระมัดระวัง
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า กองทัพภาคที่ 2 ควบคุมตัวสายลับกัมพูชาไว้นั้น นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว