“มาร์ค” เมินข้อเสนอ “สุรินทร์” ให้อาเซียนไกล่เกลี่ยไทย-เขมร ยังคุยทวิภาคีได้ ยันใช้กรอบเจบีซีแก้ปัญหา ย้ำดันพระวิหารมรดกโลกชนวนขัดแย้ง ทำหนังสือแจงยูเอ็นแล้ว ไม่ได้ยิงก่อน ลั่นไม่ถอนทหารออก โถ...ยังอ้างถ้าไม่มีเอ็มโอยูก็จะปะทะกันตลอด เชื่อถ้ายุติขึ้นทะเบียนจะแก้ปัญหาง่าย จวก พธม.เมินคุยรัฐทำเป็นเรื่องการเมือง ยินดีดีเบต ฉะม็อบพูดเท็จ ทำงงๆ ถูกไล่
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนต้องการให้อาเซียนเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาว่า ขณะนี้กลไกการพูดคุยระดับทวิภาคียังเดินได้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็น แต่แน่นอนว่าเพื่อนๆ ในอาเซียนคงมีความห่วงใยและอาจจะสามารถเข้ามารับฟังข้อมูลได้ ขอยืนยันว่าตอนนี้ไทย-กัมพูชาพร้อมที่จะแก้ปัญหาร่วมกันในกรอบทวิภาคี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระดับผู้นำของไทย-กัมพูชาจะมีการหารือกันในเร็ววันนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในชั้นนี้ รมว.ต่างประเทศของทั้งสองประเทศได้พูดคุยกันแล้ว คงใช้กลไกในกรอบเจบีซีเดินหน้าแก้ปัญหา เมื่อถามว่า ทางยูเนสโกเสนอให้ผู้นำระดับสูงสุดพูดคุยกันเองจะเป็นไปได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงจะดูสถานการณ์ คิดว่าขณะนี้เริ่มคลี่คลาย ตนขอย้ำว่าขณะนี้จะเห็นได้ชัดว่าปัญหาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นกำลังเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นไทยจึงต้องเดินหน้าคัดค้าน และตนคิดว่าควรทำให้ทั่วโลกเข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงซึ่งประเทศไทยได้พยายามชี้แจงมาโดยตลอด ก็เชื่อว่าน่าจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้น โดยมีการทำหนังสือชี้แจงไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาการยิงปะทะกันบริเวณแนวชายแดน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงต้องดูอีกครั้งว่าจะทำกันอย่างไร แน่นอนว่าทางกัมพูชาพยายามขอให้มีการถอนทหาร ซึ่งตนยืนยันมาตลอดว่าไทยคงทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไทยต้องรักษาสิทธิ ดังนั้น การตรึงกำลังของทั้งสองฝ่ายอยู่ในพื้นที่ข้อพิพาท ย่อมมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ก็ต้องพยายามหาวิธีการในการประสานงาน เมื่อถามว่าการที่กัมพูชายื่นหนังสือร้องไปยังองค์การสหประชาชาตินั้นจะเกิดผลกระทบอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยก็ได้ชี้แจงไปแล้ว โดยยืนยันว่าไทยไม่ได้ดำเนินการก่อน สิ่งที่ประเทศไทยทำเป็นการปกป้องและตอบโต้ไปตามเป้าหมาย เพราะมีการยิงเข้ามาเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า นายกฯ ยืนยันมาตลอดว่าเอ็มโอยูมีความจำเป็นคุมไม่ให้เกิดปัญหาชายแดนในพื้นที่ทับซ้อน แต่เอ็มโอยูไม่ได้ระบุว่าจะต้องเจรจาปัญหาชายแดนให้จบสิ้นเมื่อไร เท่ากับต้องเสี่ยงกับการปะทะต่อไปเรื่อยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะถ้าไม่มีเอ็มโอยูคงจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดแนวชายแดนและตลอดเวลา ดังนั้นจึงอยู่ที่การดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติที่ตรงกัน จะไปบังคับให้จบได้อย่างไร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถยอมรับผลต่างๆ ได้ ต่างประเทศก็เป็นอย่างนี้ในหลายๆ ประเทศก็เป็นอย่างนี้ คือต้องค่อยๆ ดำเนินการไป แต่จะเป็นตัวรั้งไม่ให้ทั้งสองฝ่ายหันไปใช้วิธีการใช้กำลังเพียงอย่างเดียว
เมื่อถามว่า การที่ไทยค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะเป็นจุดอ่อนไหวต่อเนื่องไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าตรงนี้ไทยได้บอกชัดเจนว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะดำเนินการตามกฎระเบียบของมรดกโลกแล้วไม่มีปัญหา ถ้าเป็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยบอกว่าเป็นเรื่องของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงคิดว่านับวันทางคณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโก น่าจะมองเห็นชัดเจนขึ้นแล้วว่าไม่ควรมาเพิ่มความตรงเครียดในจุดนี้ ตนคิดว่าถ้าเขาหยุดกระบวนการตรงนี้ทั้งหมดก่อนการแก้ปัญหาในพื้นที่ก็จะง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นกัมพูชาหรือต่างชาติที่อยากจะเข้ามาตรงนี้จะมีแรงกดดันวุ่นวายที่จะเข้ามาดำเนินการหลายอย่าง ซึ่งเป็นการละเมิดเอ็มโอยู และต้องมีการตอบโต้กันไป
เมื่อถามว่า ขณะนี้ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ยังเคลื่อนไหวไม่หยุดและยกระดับสูงขึ้นจะคลี่คลายปัญหานี้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าต้องมีหน้าให้ข้อมูลให้มากที่สุด ส่วนการประสานงานเพื่อพูดคุยกับแกนนำพันธมิตรฯ นั้น ก็มีคนของรัฐบาลไปพูดคุยกับแกนนำพันธมิตรฯ แต่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่จะไปห้ามไม่ให้เกิดเป้าหมายในการชุมนุมอย่างไร คงห้ามไม่ได้ แต่ตนเป็นห่วงว่าการรับฟังข้อมูลนั้นควรรับฟังทุกด้าน เพราะรัฐบาลก็รับฟังข้อมูล
“ผมไม่เข้าใจว่าการปฏิเสธการเจรจานั้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด นอกเสียจากว่าเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีฉันทามติเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งคณะลาออก นายกฯ กล่าวว่า จะไม่ฉันทามติอย่างไร ในเมื่อคนที่อยู่ตรงนั้นย่อมเห็นด้วยกันอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า นายกฯ บอกว่ามีความจริงใจที่จะคุยกับพันธมิตรฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็เขาไม่ยอมคุย และเห็นได้ชัดว่าบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการหลายท่านที่ให้ข้อมูล ก็ยินดีที่จะคุย และตนก็เชิญมาคุย ก็จะพยายามคุยต่อ
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ เคยนัดคนเสื้อแดงมาดีเบตแก้ไขปัญหา โดยถ่ายทอดผ่านทีวีให้ประชาชนรับทราบ คราวนี้เป็นไปได้ไหมที่จะดีเบตร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงกลุ่มนี้ก็เคยมาออกโทรทัศน์ด้วยกันแล้ว และตนคิดว่าถ้าเขาสนใจตนก็ยินดี แต่อย่างที่บอกคือแปลกใจที่ไปกล่าวหาอะไรรุนแรงกันไปเสียหมด และเป็นเรื่องเท็จหลายเรื่องด้วย ต้องบอกกันตรงๆ เมื่อถามว่า นายกฯ พร้อมหรือไม่ที่จะดีเบตกับพันธมิตรฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะตนอยู่กับข้อมูลที่เป็นจริงและไม่เปลี่ยนแปลงเลย เมื่อถามว่าจะไม่มีเงื่อนไขอะไรใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เวลามาออกรายการร่วมกันนั้นย่อมต้องมีกติการ่วมกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ยังมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลการเคลื่อนไหวและชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบกฎหมาย และอยากจะเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคารพกฎหมาย เมื่อถามย้ำว่าผู้ชุมนุมยืนกรานให้นายกฯ ลาออก ตรงนี้เป็นผลดีอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาก็มีสิทธิ ซึ่งต้องถามเขา
“ผมถึงได้แปลกใจ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่เดินหน้าค้านเรื่องมรดกโลก รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่แจ้งกัมพูชาว่าไม่เอาแผนที่ 1 ต่อ 200,000 แต่เป็นรัฐบาลที่เขามาขับไล่ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจตรงนี้” นายกฯ กล่าว