นายกฯ ท้วงการอภิปรายถามสดจากฝ่ายค้าน กรณีเหตุการณ์ปะทะไทย-เขมร หากกระทบความมั่นคง รบ.จะขอให้มีการประชุมลับ “เฉลิม” ยันฝ่ายค้านอภิปรายสร้างสรรค์ เชื่อ ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดสงคราม ย้ำ รบ.เดินนโยบายต่างประเทศพลาด ไม่ขัดข้องหาก รบ.จะประชุมลับ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา วันนี้ (9 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมนั่งฟังการถามสดจากฝ่ายค้าน กรณีเหตุการณ์การปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชา บริเวณชายแดน ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนต้องอพยพมาอยู่ในเมือง
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วนของ นายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย เรื่องปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น นายกรัฐมนตรี ได้ทักท้วงถึงการอภิปรายของฝ่ายค้าน ว่า หากกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ รัฐบาลจะขอให้มีการประชุมลับ
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่า ทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดสงคราม แต่ย้ำว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศผิดพลาด เปลี่ยนสนามการค้าเป็นสนามรบ รวมทั้งการแต่งตั้ง นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยกล่าวโจมตี สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีจะใช้เสียงข้างมากในสภาให้มีการประชุมลับ ก็จะไม่ขัดข้อง
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังอภิปรายเพิ่มเติมว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เกิดจาก 4 ประเด็น คือ 1.ตัวนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับกัมพูชา 2.เกิดจากตัวนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหากนายกษิตยังอยู่ในตำแหน่ง ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา คงไม่มีวันดีขึ้น 3.กรณีที่ตั้งวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และ4.กรณีที่ 7 คนไทยรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของกัมพูชา ทั้งนี้มองว่า สถานการณ์จะไม่ยุติหากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเองโดยใช้การเจรจา
ด้านนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย เห็นว่า ความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ยังอยู่ในระดับที่ดี ดังนั้นรัฐบาลควรเจรจาให้เหตุการณ์ยุติโดยเร็ว ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้ประชาชนที่ยั่วยุให้เกิดสงคราม ยุติการกระทำดังกล่าว เนื่องจากไม่มีประโยชน์
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องชี้แจงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ว่าไทยไม่เคยรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน