xs
xsm
sm
md
lg

“ชาญวิทย์” กลัวปฏิวัติโผล่!! เชื่อรัฐไม่โง่รบสั่งสอนเขมร จี้อาเซียนจุ้นเจรจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชาญวิทย์” เชื่อรัฐไม่โง่ทำสงครามสั่งสอนเขมร แนะต่างคนต่างขึ้นมรดกโลก หวั่นการสู้รบยกระดับ ซ้ำ มีปฏิวัติโผล่ จี้เลขาฯอาเซียน เจรจา เชื่อถ้าศาลโลกยึดคำตัดสินเดิมกัมพูชาได้เปรียบ ชี้ ไทยเป็นดั่ง เสียม โป้ย กั๊ก ซัดตำราครำครึสร้างทัศนคติเป็นลบ แขวะพวกไม่อยากลงเลือกตั้งรอส้มหล่นจากรัฐประหาร “นิธิ” อ้างชาตินิยมทำไม่เสมอภาค “ธำรงศักดิ์” ป้องพระวิหารของเขมร ชี้สงครามไร้สาระ


วันนี้ (8 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ.ได้จัดสัมมนาทางวิชาการอุษาคเนย์ครั้งที่ 8 เรื่อง สยาม-ขแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร โดยมี นางยู เอีย ( H.E. You Ay ) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประเทศไทย กล่าวสนับสนุนการเปิดงานสัมมนา โดยภายในงานสัมมนาผู้จัดงาน ห้ามนำน้ำดื่มและอาหารเข้ามาภายในหอประชุม เพื่อการรักษาความปลอดภัย และมีตำรวจ และ ส.ห.มาตรวจตราเพื่อรักษาความปลอดภัย

ขณะที่ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ไทย-กัมพูชา สงครามหรือสันติภาพ ว่า สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนวันนี้ ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะทำให้แม่น้ำโขง และเทือกเขาพนมดงรัก เป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนได้หรือไม่ ตอนนี้แค่วิจารณ์ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของเขมร ก็ถูกประจานว่าเป็นคนขายชาติแล้ว

“สำหรับปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา มีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นได้ใน 3 แนวทาง คือ 1.การปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบการเจรจาทวิภาคีตามเอ็มโอยู 43 หรือ 2.นำข้อพิพาททั้งทางบกทางทะเลไปขึ้นศาลโลกอีกครั้ง หรือ 3.ส่งกองกำลังทั้งบก ทางเรือ และทางอากาศทำสงครามสั่งสอน ยึดคืนพื้นที่ที่คิดว่าไทยได้เสียดินแดนให้กับกัมพูชา มาเลเซีย และพม่า เพื่อขยายและสร้างมหาอาณาจักรไทยตามนโยบายจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาจนถึงสมัย จอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ แต่เชื่อว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่โง่พอที่จะเลือกในแนวทางที่ 3” นายชาญวิทย์ กล่าว

นายชาญวิทย์ กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาระยะยาวในภูมิภาค ว่า ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน เพราะต่างคนต่างขึ้นได้ จากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่าเขาใหญ่ เทือกเขาพนมดงรัก และแก่งหลี่ผี ควรขึ้นเป็นมรดกโลกทั้งสิ้น ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการดำเนินการตามข้อเสนอของคนกระหายสงคราม คลั่งความรุนแรง โดยยกตัวอย่างกรณีต่างฝ่ายต่างขึ้นทะเบียนน้ำตกอีคอซู ขึ้นเป็นมรดกโลกของประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา ซึ่งเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะแก้ปัญหาไทยกัมพูชาได้ รวมถึงปัญหากระทบกระทั่งในลุ่มน้ำโขงจากการสร้างเขื่อนจำนวนมาก

นอกจากนี้ นายชาญวิทย์ ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า เหตุการณ์ล่าสุด ถูกยกระดับเป็นการสู้รบใช้ความรุนแรง ก็น่าวิตกจะบานปลาย เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการช่วงชิงความได้เปรียบในการยึดพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาภายในของประเทศไทยเราเอง ที่บางคนมองว่า ไม่ได้แบ่งเป็นสามก๊กแล้ว แต่เป็น เสียม โป๊ย กั๊ก มีความพยายามใช้กำลัง บังคับรัฐบาล ซึ่งน่าวิตกว่า อาจบานปลายไปสู่การยึดอำนาจรัฐประหารได้

“การผลักดันให้ยกระดับการต่อสู้ เดือดร้อนประชาชนคนอีสานใต้นับหมื่นราย ผมนึกถึงที่ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดว่า ถ้าท่านตาย ก็ไม่อยากตายด้วยความโง่จากสงครามที่คนอื่นก่อ นี่คือ สงครามของคนที่ไม่ได้อยู่ชายแดนก่อ คนก่อคือคนอยู่เมืองหลวง ใช้การเมืองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ร่วมกับจากที่ในประเทศเองก็มีความแตกแยกกันมาก ก็อาจนำไปสู่การปฏิวัติได้ บ้านเมืองจะยิ่งจมดิ่งกว่านี้ สิ่งที่เป็นนโยบายต่างประเทศของไทย คือ การเจรจาทวิภาคีอาจเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว โดยส่วนตัว ผมคิดว่า ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน จะต้องเข้ามาเป็นคนกลาง ช่วยทำให้เรื่องนี้สงบ นำมาซึ่งการหยุดยิงจากทั้งสองฝ่าย จะเป็นการดีอย่างยิ่ง ตามข่าววันนี้ รมว.การต่างประเทศของอินโดนีเซีย จะไปเยือนกัมพูชาแล้วจะมาที่กรุงเทพฯ เท่ากับว่า ที่เราพูดว่า ทวิภาคี มีองค์กรที่ 3 เข้ามาแล้ว กัมพูชาก็ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ และเชื่อว่า กัมพูชาต้องการกลับไปขึ้นศาลโลกใหม่ ซึ่งถ้าศาลโลกยึดคำตัดสินเดิมเกี่ยวกับสนธิสัญญาและแผนที่ กัมพูชาก็จะได้เปรียบ” นายชาญวิทย์ กล่าว

นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า เรื่องชายแดน ชาตินิยม กรณีกัมพูชาถูกชูขึ้นมาในปี พ.ศ.2551 เพื่อต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นการเมืองภายในเป็นความขัดแย้งระหว่าง เสียม โป๊ย กั๊ก แล้วใช้ประเทศเป็นข้ออ้าง ซึ่งปลุกระดมง่าย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็ผ่านตำราเรียนเรื่องเสียดินแดน ซึ่งบางเรื่องนั้น ต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้เสียดินแดน แต่เราไม่ได้ดินแดน ตำราเรียนที่สร้างทัศนคติเป็นลบต่อประเทศเพื่อนบ้านเราควรเปลี่ยนได้แล้ว

“ส่วนการปลุกกระแสในขณะนี้ ก็เพื่อขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไล่ไปเรื่อยๆ ก็จะมีการยึดอำนาจ แล้วก็จะไม่มีประชาธิปไตย คนที่ไม่อยากใช้วิถีประชาธิปไตย คือ คนไม่อยากเลือกตั้ง เพราะลงเลือกตั้งไปก็ไม่ได้สักที ก็เลยรอเอาส้มหล่น ก็ไม่รู้ว่า ส้มจะหล่นที่ใคร แต่ก็เคยเห็นคนรุ่นเดียวกับตนได้ส้มหล่นไปหลายคน ทั้งนี้ สิ่งที่ควรทำ ได้เสนอไปแล้วในนามกลุ่มสันติประชาธรรม อาทิ ให้กองกำลังสองประเทศ ใช้ขันติธรรม ยุติการเคลื่อนกำลังไปยังจุดพิพาทอื่นๆ ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อพิพาทว่าด้วยปราสาทเขาพระวิหาร โดยการเจรจาทวิภาคีตามเอ็มโอยู 43 และแต่ละฝ่ายยึดมั่นอหิงสา อย่าเอาเรื่องความขัดแย้งทางเขตแดนมาหาประโยชน์ทางการเมือง” นายชาญวิทย์ กล่าว

ด้าน นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อภิปรายในหัวข้อ “ชำแหละประวัติศาสตร์ แบบเรียน สื่อ และวาทกรรม สยาม-ขแมร์ สู่มิตรและศัตรู” กล่าวว่า ประวัติศาสตร์และการศึกษา ทำให้คนไทยมองคนกัมพูชาเป็นพวกแปรพักตร์ หรือขี้หักหลังคบไม่ได้ และมองกัมพูชาเพื่อเชื่อมอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ ขณะที่บางส่วนมองว่า กัมพูชากับไทยเหมือนกัน แต่ต่ำต้อยกว่า จึงเป็นเหตุผลที่ไทยต้องคุมเขมร เพราะเป็นอันตราย ไทย-กัมพูชาไม่มีความสัมพันธ์ในมิติของการค้า การอพยพของผู้คน และความเป็นเครือญาติ มีแต่เรื่องการเมืองกับสงคราม การไม่คิดถึงชายแดน แต่คิดถึงเพียงเส้นพรมแดน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสำนึกประวัติศาสตร์และสำนึกความเป็นชาติของ 2 ประเทศ เพราะสำนึกชาตินิยมที่ขยายมาจากชนชั้นสูงไม่นำไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ และการเมืองในตลาดเสรี

ขณะที่ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ฝ่ายไทยใช้วาทกรรมที่ชาวบ้านกำลังรับกรรมใน 3 เรื่อง คือ เสียดินแดน ปราสาทเขาพระวิหาร และเอ็มโอยู 43 โดยกระบวนการสร้างสำนึกเรื่องเสียดินแดนเป็นของทหารที่สาบสูญไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกำลังถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง เพื่อล้มรัฐบาล หรือประโยชน์ทางการเมืองในประเทศ ส่วนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเป็นเพียงการเรียกน้ำย่อย ขณะเดียวกัน ฝ่ายกัมพูชาก็ใช้วาทกรรมเสียดินแดน เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในประเทศที่เพิ่งพ้นจากภาวะสงคราม โดยย้อนหลังไปถึงยุคพระเจ้าชัยวรมัน สงครามวันนี้จึงเป็นสงครามที่ไร้สาระ ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นที่บูชาบรรพกษัตริย์ของกัมพูชา เราจะไปเอาอะไรกับเขา ปราสาทเขาพระวิหาร จึงเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องเอกราชของกัมพูชาที่เคยถูกยึดครองไป นอกจากนี้ ปราสาทเขาพระวิหาร กำลังเป็นเครื่องมือพัฒนาพื้นที่ตอนเหนือของกัมพูชา ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศ คล้ายกับการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานของไทยที่ใช้คอมมิวนิสต์มาเป็นประเด็นดึงเงินจากต่างชาติ

ขณะเดียวกัน นายศานติ ภักดีคำ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา กำลังกลับไปสู่ยุคกษัตริย์ วาทกรรมปราสาทเขาพระวิหารจึงถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ตำราเรียนหลายเล่มของกัมพูชาตอกย้ำความรู้สึกเชิงลบต่อไทย แบบเรียนจึงเป็นจุดเปราะบางที่เป็นปัญหามาก ตำนานการรับรู้ของคนกัมพูชา จึงสะท้อนในกรอบชาตินิยม ว่า สยามตีเขมร ขณะที่แบบเรียนของไทยก็บอกเพียงว่าเขมรทำอะไรกับไทย แต่ไม่เคยบอกว่าไทยทำอะไรกับเขมรบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น