xs
xsm
sm
md
lg

ฮุนเซนหน้าแตกUNไม่รับมุข ทูตแขมร์มั่วนิ่ม รำลึกอดีตทวงคืน13จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/รอยเตอร์/เอเอฟพี- เขมรหน้าด้านยกประวิติศาสตร์ยุค"ชัยวรมัน" อ้าง 13 จังหวัดของไทยเป็นของเขมร สวดครูไทยสอนด้วยอคติ "ชาญวิทย์" กลัวปฏิวัติโผล่ เชื่อรัฐไม่โง่รบสั่งสอนเขมร ขณะที่ ครม.ถกเครียดปมแก้เกมเขมร “ประวิตร” ลากใส้ "ฮุนเซน" ส่งลูก 2 คน ป่วนชายแดน เปิดฉากยิงใส่พลเรือนไทย คุยข่มถ้ารบจริงแค่บินถล่มเขมรก็แพ้ราบคาบ เชื่อ"ฮุนมาเน็ต" ไม่ได้บาดเจ็บ "มาร์ค"ต่อสายตรง"บัน คีมุน" ร้องคนไทยเดือดร้อน ถูกเขมรลอบกัด ซัดยูเนสโกรับข้อเสนอเขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก่อชนวนสงครามพร้อมสั่ง "สุวิทย์" แจงยูเนสโก เหตุปะทะมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ฮุนเซนหน้าแตกยูเอ็นไม่ประชุมตามร้องขอ ขณะที่ยูเนสโกส่งคณะดูความเสียหาย'พระวิหาร'

วานนี้ (8 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. ได้จัดสัมมนาทางวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 8 เรื่อง สยาม-ขแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร โดยมี นางยู เอีย ( H.E. You Ay ) เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประเทศไทย กล่าวสนับสนุนการเปิดงานสัมมนา

นางยู อีว์ (H.E.You Ey) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวว่า กัมพูชาและไทยมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน ในด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิต เช่น ลักษณะภาษาที่มีความคล้ายคลึงกัน ที่ต่างหยิบยืมภาษาบาลี-สันสกฤต มาใช้ แต่ที่สำคัญคือ เราทั้งคู่นับถือศาสนาพุทธ ที่เมืองเสียมเรียบ (ไทยใช้คำว่า เสียมราฐ) มีปราสาทหนึ่งที่เรียกว่า “ปราสาทบายน” ซึ่งประกอบไปด้วยปรางค์ทั้งสิ้น 54 ยอด ซึ่งเป็นตัวแทนของจังหวัดทั้ง 54 จังหวัดของกัมพูชา ในสมัยที่จักรวรรดิเขมร ยังเรืองอำนาจ ขณะที่ปัจจุบันกัมพูชา เหลือเพียง 24 จังหวัด โดย 13 จังหวัดตกเป็นของไทย และอีก 17 จังหวัด ตกเป็นของเวียดนาม

อย่างไรก็ดี เราคงไม่สามารถอ้างสิทธิ์ในจังหวัดทั้ง 13 จังหวัดได้อีก กัมพูชาทำได้แค่เพียงต้องปกป้อง และรักษาสิ่งที่ตนมีอยู่ให้ดีที่สุด ส่วนเวียดนามซึ่งได้ 17 จังหวัดของเราไป กลับไม่พบข้อขัดแย้งใดๆ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้ เพราะผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างมีเป้าประสงค์เดียวกันในการทำข้อตกลง เพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว เราต่างเป็นเพื่อนบ้านกันทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และโชคชะตา และเราก็จะเป็นเพื่อนบ้านกันตลอดไป เราต้องอยู่เคียงข้างกัน และเราไม่สามารถย้ายประเทศหนีได้ เพราะว่าเราทั้งสองเปรียบเสมือนลิ้นกับฟัน ซึ่งต้องอยู่ใกล้กันตลอดเวลา เราต้องรู้จักประนีประนอม เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แต่หัวใจของปัญหา คือ การที่ไทยกับกัมพูชา ถือแผนที่คนละฉบับกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดของคนที่จะตัดสิน

** สวดครูไทยสอนด้วยอคติ

นอกจากนี้ ไทยกับกัมพูชา ต่างเป็นประเทศในประชาคมอาเซียนด้วยกันทั้งคู่ หากยังมีปัญหาต่อไปประชาคมอาเซียนในปี 2015 อาจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่าในกัมพูชามีผู้เสียชีวิตถึง 64 คนนั้น ไม่เป็นความจริงตามที่ได้มีการรายงานข่าวออกไป

“ขอฝากเอาไว้กับทางมหาวิทยาลัย ผู้ให้ความรู้ สอนนักเรียนด้วยเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่แท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจ และมีอคติที่ผิดๆ ฝังใจ” นางยู อีว์ กล่าว

** เตือนรัฐบาลอย่าคิดทำสงคราม

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ ไทย-กัมพูชา สงครามหรือสันติภาพ ว่า สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนวันนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า เราจะทำให้แม่น้ำโขง และเทือกเขาพนมดงรัก เป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนได้หรือไม่ ตอนนี้แค่วิจารณ์ว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของเขมร ก็ถูกประจานว่าเป็นคนขายชาติแล้ว

"สำหรับปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา มีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นได้ใน 3 แนวทาง คือ 1. การปรึกษาหารือเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบการเจรจาทวิภาคีตามเอ็มโอยู 43 หรือ 2.นำข้อพิพาททั้งทางบกทางทะเลไปขึ้นศาลโลกอีกครั้ง หรือ 3. ส่งกองกำลังทั้งบก ทางเรือ และทางอากาศทำสงครามสั่งสอน ยึดคืนพื้นที่ ที่คิดว่าไทยได้เสียดินแดนให้กับกัมพูชา มาเลเซีย และพม่า เพื่อขยายและสร้างมหาอาณาจักรไทยตามนโยบาย จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาจนถึงสมัย จอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ แต่เชื่อว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่โง่พอที่จะเลือกในแนวทางที่ 3 " นายชาญวิทย์ กล่าว

นายชาญวิทย์ กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาระยะยาวในภูมิภาค ว่า ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน เพราะต่างคนต่างขึ้นได้ จากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่าเขาใหญ่ เทือกเขาพนมดงรัก และแก่งหลี่ผี ควรขึ้นเป็นมรดกโลกทั้งสิ้น ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการดำเนินการตามข้อเสนอของคนกระหายสงคราม คลั่งความรุนแรง โดยยกตัวอย่างกรณีต่างฝ่ายต่างขึ้นทะเบียนน้ำตกอีคอซู ขึ้นเป็นมรดกโลก ของประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา ซึ่งเชื่อว่าวิธีการดังกล่าวจะแก้ปัญหาไทยกัมพูชาได้ รวมถึงปัญหากระทบกระทั่งในลุ่มน้ำโขงจากการสร้างเขื่อนจำนวนมาก

** ครม.ถกเครียดไทยปะทะเขมร

วานนี้ (8 ก.พ.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รมว.กลาโหม รมว.ต่างประเทศ ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปะทะกันตั้งแต่วันแรก (4 ก.พ.) โดยเป็นการโจมตีจากฝ่ายกัมพูชาเข้ามายังฝั่งไทย โดยมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้อาวุธหนักหลายอย่าง รวมถึงหลักฐานภาพถ่าย ภาพการบันทึกเทปของโทรทัศน์สถานีต่างๆ ที่ทางกองทัพมี ซึ่งจะได้มีการทยอยส่งชี้แจงไปยังนานาชาติ โดยกระทรวงกลาโหม จะส่งหลักฐานทั้งหมดให้กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชี้แจงแก่นานาชาติถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายปณิธาน กล่าวว่า ขณะนี้ทางสหประชาชาติ กำลังดำเนินการพิจารณาการแก้ปัญหาของไทย-กัมพูชา โดยจะคอยดูความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของไทยตามกรอบอาเซียน และในช่วงบ่าย รมว.ต่างประเทศของไทย และของกัมพูชา จะมีการหารือกัน เพื่อพิจารณาในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสานงาน

ส่วนนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่หรือไม่นั้น กำลังพิจารณาอยู่ เหลือแต่รอให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่ามีความพร้อม ซึ่งจริงๆนายกฯ แจ้งว่ามีความประสงค์จะลงพื้นที่ และหากความขัดแย้งถูกขึ้นนำสู่เวที สหประชาชาตินั้น ทางรมว.ต่างประเทศ ยันยันว่าไม่เป็นกังวลกับการดำเนินการของกัมพูชา ที่ร้องเรียนไปก่อน

เมื่อถามว่าหากใช้แสนยานุภาพทางอากาศ ถล่มกัมพูชาบนเขาพระวิหาร เนื่องจากได้เปรียบกว่า นายปณิธาน กล่าวว่า การป้องกันตนเอง ถือเป็นหลักสากล แต่ต้องอยู่ในกรอบ และมีความเหมาะสม กับการถูกคุก หรือถูกโจมตี ต่อการปฏิบัติต่อเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักสากล สมเหตุสมผล และเป็นปัจจัยสำคัญที่ต่างชาติดูว่า เป็นการป้องกันอยู่ในกรอบหรือไม่

**เหตุปะทะจากการสร้างถนน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมครม.ใช้เวลาในการอภิปรายกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง บรรยากาศเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด มีรัฐมนตรีหลายคนให้ความสนใจซักถามความได้เปรียบ เสียเปรียบของฝ่ายไทย และศักยภาพในการรบ โดยฝ่ายกองทัพมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และพล.ต.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เจ้ากรมยุทธการทหารบก ได้ฉายสไลด์ เพื่อแสดงจุดที่มีการปะทะโดยละเอียด

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการปะทะสืบเนื่องมาจากการสร้างถนนเข้าไปใน พื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ โดยเมื่อกัมพูชาสร้างถนนเข้าไป ฝ่ายเราก็ทำบ้างและฝ่ายกัมพูชา ได้โทรศัพท์มาเตือนให้เรายุติ แต่เราทำไม่ได้ กัมพูชาจึงเป็นฝ่ายยิงเข้ามา โดยถนนของกัมพูชาที่สร้างเข้ามานั้น ก่อสร้างโดยบริษัทของลูกสาว ฮุนเซน ส่วนลูกชายฮุนเซน ก็เข้ามาบัญชาการรบในพื้นที่ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตามขณะนี้การยิงได้ยุติลงแล้ว ที่ผ่านมาระดับผู้นำได้โทรศัพท์คุยกันตลอดโดยนายกษิต ภิรมย์ จะคุยกับนายฮอร์ นัม ฮง รมว.ต่างประเทศ กัมพูชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ก็คุยกับ พล.อ.เตีย บันห์ รมว. กลาโหมกัมพูชา อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าจะให้ปัญหายุติจริงๆ ต้องให้ระดับผู้นำสูงสุด ได้คุยกับฮุนเซนโดยตรง

**คุยแค่บินถล่มเขมรก็เจ๊งแล้ว

แหล่งข่าวครม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า ปฎิบัติการของกองทัพขณะนี้ได้ยึดหลักการสากลในการตอบโต้ เราไม่ได้รุกรานฝ่ายกัมพูชาก่อน แต่พร้อมอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องอธิปไตยของ ไทย เราดำเนินการตามสนธิสัญญาต่างๆที่ทำเอาไว้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถ พิสูจน์ได้ทางกัมพูชายิงจากบนเขาพระวิหาร มีเป้าหมายพุ่งเข้ามาใส่พลเรือนของฝ่ายเรา

"ขณะนี้ยังเป็นแค่การปะทะกัน ยังไม่ใช่สงครามเต็มรูปแบบ ถ้าจะรบกันจริง ศักยภาพฝ่ายไทยเหนือกว่า กัมพูชาไม่สามารถสู้ได้ โดยเฉพาะถ้าเราใช้เครื่องบินรบไปยิง เขาก็สู้ไม่ได้ เพราะกัมพูชาไม่มีกองทัพอากาศ และไม่มีเครื่องบินรบ"

** "ยูเอ็น-อาเซียน"ยังไม่เข้ามายุ่ง

ทั้งนี้ นายกษิต กล่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศ พยายามชี้แจงต่อนานาชาติ ทั้งยูเอ็น และประเทศต่างๆโดยเรามีข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายยิงก่อน พอกัมพูชายิงมา ก็ไปฟ้องว่าถูกรังแก เพื่อยกระดับขึ้นไปสู่ยูเอ็นให้เข้ามาดูแลนั้น ทางยูเอ็นก็มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นเรื่องของการทำสงคราม และส่งผลกระทบกระจายไปสู่ภูมิภาค ขณะนี้ยูเอ็น มีเรื่องใหญ่ๆหลายเรื่อง เช่น สถานการณ์ในอียิปต์ และโซมาเลีย ที่จะต้องเร่งทำ คงไม่สนใจที่จะทำเรื่องนี้ ซึ่งตนได้แต่งตั้งนายอัษฎา ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อชาติต่างๆ แต่ต้องขอเวลาบ้าง และตนจะใช้เวทีที่ประชุมเจบีซี ที่จะมีขึ้นเจรจากับนายฮอร์ นัม ฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา อีกครั้ง ขณะนี้ตนพยายามเจรจากับรมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียน อยู่ด้วยในขณะนี้

** ลูกฮุนเซนบาดเจ็บ แค่ข่าวลวง

ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ได้สอบถามว่าเรื่องที่ทหารไทยปะทะกับกัมพูชา มีการเดินเกมของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยหรือไม่ และ พล.ท.ฮุน มาเนต ลูกชายของฮุน เซน ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า ตนเป็นทหารประเด็นการเมืองตนไม่เกี่ยว แต่ทางการทหาร เน้นการใช้กำลังของกองทัพบกในการแก้ไขปัญหา และรักษาอธิปไตยของ ประเทศ

ส่วนเรื่องลูกชายของฮุน เซน บาดเจ็บนั้น นายอภิสิทธิ์ ตอบว่าคงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะโดยหลักแล้ว ผู้บัญชาการรบจะอยู่ห่างพื้นที่ที่เป็นเป้าหมาย จึงไม่น่าจะได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปพูดให้ชัดเจนว่า สถานการณ์ยังเป็นเพียงการปะทะไม่ใช่สงคราม

** สั่งตีข่าวปะทะเพราะมรดกโลก

นายอภิสิทธิ์ ยังขอให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไปยกเหตุผลการปะทะกัน ซึ่งมาจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อใช้เป็นข้อโต้แย้งในคณะกรรมการมรดกโลก ที่ฝรั่งเศสด้วย
ขณะที่นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวว่า มองว่าการดำเนินการของกัมพูชาได้เตรียมการล่วงหน้าที่จะยกระดับปัญหาขึ้นสู่เวทีนานาชาติ เพราะจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิ.ย.54 ประเด็นที่ถกเถียงว่า กัมพูชาใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน และฝ่ายไทยใช้แผนที่คนละฉบับ แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ คือ สันปันน้ำที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ไปดูด้วยหรือไม่

** "มาร์ค"ต่อสายตรง"บัน คี มูน"

ต่อมา เวลา 16.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และการประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ถึงประเด็นการต่อสายพูดคุยกับนายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในเวลา 20.00 น. ว่า จะเป็นการแจ้งข้อเท็จจริงเพื่อให้เห็นว่า ที่ทางกัมพูชากับการที่ไทยได้ทำหนังสือไป ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินการรุกรานใคร สิ่งที่เราทำเป็นเพียงการตอบโต้ รักษาอธิปไตยของเราสมควรแก่เหตุ ไม่มีการโจมตีในส่วนของพลเรือน ในทางกลับกัน เราได้รับความเดือดร้อน เพราะพลเรือนของเราจำนวนนับหมื่นคน ต้องอพยพ เป็นการลำดับเหตุการณ์เพื่อชี้ให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้

นายกฯ กล่าวว่า อีกประเด็นคือจะให้เห็นความคืบหน้า ทั้งกรณีที่รมว.ต่างประเทศของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้มาพบกับนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และรมว.ต่างประเทศกัมพูชา ช่องทางการพูดคุย ในระดับทวิภาคี หรือในส่วนของอาเซียน ไม่ได้มีการปิดกั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่เราชี้แจง จะทำให้ยับยั้งความพยายามของกัมพูชา ที่พยายามยกระดับปัญหาไปสู่ระดับสากลได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรายืนยันไม่เห็นความจำเป็น ขณะเดียวกัน อาเซียนสนับสนุนให้เป็นการเจรจาทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้หากกัมพูชายกระดับปัญหาไปสู่สากลเราก็พร้อมรับมือ เมื่อถามว่าโดยไม่มีการเข้ามาไกล่เกลี่ยของอาเซียนใช่ไหม นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีการระบุบทบาทของอาเซียนในลักษณะนั้น นอกจากการที่ประเทศในอาเซียน สนับสนุนให้ทั้ง 2 ประเทศ สามารถพูดุคุย และหาข้อยุติกันได้

** ซัดยูเอ็นรับขึ้นมรดกโลกเป็นต้นเหตุ

เมื่อถามว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายกษิต ล้มเหลวการทำหน้าที่การเจรจากับกับกัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าปัญหาความขัดแย้งบริเวณแนวชายแดน โดยเฉพาะกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเรายืนยันมาตลอดว่า มีปัจจัยปัญหาความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากเรื่องของมรดกโลก เป็นเรื่องที่เราเตือนมาตลอดว่าลุกลามได้ และที่ผ่านมา เราได้ดำเนินการที่จะไม่ให้เรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ต้องยอมรับว่าความกดดันที่นำมาสู่ความตึงเครียด คือ ความกดดันที่มรดกโลกไปสร้างไว้กับทางกัมพูชา

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเอาข้อเท็จจริง และหลักฐานไปแจ้งให้มรดกโลกทราบ โดยเฉพาะกรณีที่มีการนำกำลังไปไว้ บริเวณตัวปราสาท ซึ่งขัดกับแนวทางของมรดกโลกอย่างชัดเจน

" เราจะนำเสนอให้เห็นว่า ถ้ามีการนำเอาสถานที่ ซึ่งเป็นมรดกโลกมาใช้ทางการทหาร มันก็ผิดวัตถุประสงค์ เรายืนยันจุดยืนเดิมว่า ควรจะระงับการเดินเรื่องเหล่านี้ต่อไว้ทั้งหมด" นายกฯ กล่าว และว่า ตนเองเคยพูดไว้หมดแล้ว ทั้งยูเนสโก และยูเอ็น ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า สถานการณ์อย่างนี้อาจเกิดขึ้นได้ เพราะมันมีแรงกดดันต่อกัมพูชา และประเทศไทยในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตามเราดำเนินการเต็มที่ในทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติหรือมรดกโลก

เมื่อถามว่า ยิ่งใกล้เปิดเวทีมรดกโลกสถานการณ์จะยิ่งแรงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงขึ้นอยู่กับท่าทีของยูเนสโกในตอนนี้ว่า ยูเนสโกได้ตระหนักแล้วหรือยังว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมันเป็นอย่างไร

** อ้างคนในพื้นที่ไม่ชอบพันธมิตรฯ

ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะเดินทางไปชายแดน จ.ศรีสะเกษ เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนนั้น นายกฯ กล่าวว่า ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งวันนี้ตนได้กำชับไปแล้ว อย่าให้มีกรณีที่พี่น้องคนไทยต้องขัดแย้งกันเอง ฉะนั้นได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่าให้เกิดปัญหาขึ้น

"ผมว่า ถ้าพันธมิตรฯอยากจะไปแสดงความช่วยเหลือ ก็หารูปแบบที่เหมาะสม ที่ไม่ให้เกิดปัญหากับคนในพื้นที่ ซึ่งออกมาแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วย น่าจะหาแนวทางที่ตกลงกันได้" นายกฯ กล่าว

**ทภ.2 ห้ามนำน้ำมันเข้าเขมร

วานนี้ (8 ก.พ.) พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกำลังพลในพื้นที่ฐานปฏิบัติการชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อให้กำลังใจกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดแนวชายแดน และ ดูว่าทหารขาดแคลนอะไรบ้าง
พล.ท.ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้นำทางทหารของทั้งสองฝ่ายก็ยังพูดคุยกัน ในส่วนของตนก็ยังพูดคุยกับผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ 4 เพื่อประสานในเรื่องการวางกำลังไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีการปะทะกันหรือไม่ ต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ทางกองกำลังสุรนารี จะมีการจำกัดการส่งน้ำมันไปยังกัมพูชา เนื่องจากเกรงว่า จะเป็นยุทธปัจจัย แต่จะอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้กระทบต่อประชาชนกัมพูชา เพราะเราเองก็ไม่อยากให้ประชาชนไทยได้รับผลจากการสู้รบเหมือนกัน

"พรุ่งนี้ กาชาดสากล จะเข้ามาดูในพื้นที่ที่ระเบิดฝ่ายกัมพูชาลงไปที่โรงเรียน บ้านเรือนชาวบ้าน จะเข้ามาช่วยเหลือ เห็นท่านกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะนำทูต 16 ชาติลงพื้นที่" พล.ท.ธวัชชัย กล่าว

มีรายงานว่า กองกำลังสุรนารีได้สั่งการให้ช่องทางผ่านแดนในหลายจุด ที่ยังมีการเปิดด่าน จำกัดการขนส่งน้ำมันเข้ากัมพูชา เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้เป็นยุทธปัจจัย เช่น รถถัง รถบรรทุกของทหาร ซึ่งปกติจะมีการทำสัญญาต่อการขนส่งน้ำมันในปริมาณใดในปี ต่อปี

**เขมรปล่อย"พลฯสงกรานต์"แล้ว

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการกัมพูชาได้ปล่อยตัวพลทหาร สงกรานต์ ทองชมพู ซึ่งถูกจับกุมระหว่างเหตุการณ์ปะทะของทหารไทย-กัมพูชา บริเวณชายแดน จ.ศรีสะเกษ ให้กับผู้ช่วยทูตไทยประจำกรุงพนมเปญแล้ว และจะเดินทางถึงประเทศไทย ประมาณ 18.00 น. (วันที่ 8 ก.พ.) ซึ่งยังไม่สามารถบอกรายละเอียดเส้นทางการเดินทางได้

** ไทยรบไม่จริง กลัวเสียผลประโยชน์

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาระบุถึงแนวนโยบายให้กองทัพใน 3 เรื่อง คือ 1.ไม่รุกรานใคร และต้องรักษาอธิปไตย 2. ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนตามแนวชายแดน และ 3.ยึดมั่นในกฎบัตรระหว่างประเทศ และ MOU 2543 นั้น โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า การประกาศแนวปฏิบัติดังกล่าว ไม่มีข้อใดที่กล่าวถึงการหยุดยั้ง และทวงคืนดินแดนที่เป็นฐานทัพของทหารกัมพูชา ใช้ทำร้ายประชาชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่มีใครยึด MOU 2543 แล้ว มีการใช้อาวุธสงครามยิงปะทะกันอย่างต่อเนื่องการที่รัฐบาลไทยยังยึด MOU 2543 ฝ่ายเดียวเช่นนี้ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะห้ามกองทัพใช้กำลัง ต้องใช้วิธีเจรจาเพียงอย่างเดียว ทำให้เราต้องตกอยู่ในวังวนเดิม ที่ทำให้เกิดปัญหาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. เป็นต้นมา ที่ MOU 2543 เปิดทางให้กัมพูชา มาตั้งฐานทัพในแดนไทย ทั้งที่วัดแก้วสิกขาฯ ภูมะเขือ รวมถึงปราสาทพระวิหาร

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลต้องประกาศต่อชาวโลกว่า บัดนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ซ่องสุมกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกัมพูชา เพื่อทำร้ายราษฎรไทย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดการกับพื้นที่ดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดเริ่มต้นด้วยการทำลายถนน เส้นทางลำเลียงอาวุธที่มาใช้ทำร้ายราษฎรไทย สิ่งนี้คือการแก้ปัญหาที่ตรงจุด รวมทั้งมาตรการปิดพรมแดนก็ยังไม่มีการนำมาใช้ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เพราะบุคคลระดับนโยบาย เกรงจะสูญเสียประโยชน์ที่มีร่วมกับกัมพูชา

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่าการที่ ฮุนเซน ไม่พอใจกลุ่มพันธมิตรฯโดยระบุว่า เนื้อหาในการปราศรัยโจมตีกัมพูชามากกว่ารัฐบาลไทย ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ ฮุนเซน จะไม่พอใจพันธมิตรฯ เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้ก้มหัวให้กัมพูชาเหมือนรัฐบาลไทย และการที่มองว่าพันธมิตรฯ รู้เห็นกับรัฐบาล ก็ไม่เป็นความจริง เพราะจะเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลออกพ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อหวังสกัดกั้นการชุมนุม และเอาใจ ฮุนเซน

ส่วนที่กัมพูชาพยายามยกระดับปัญหาโดยให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เป็นความพยายามที่ทำมาแล้วกว่า 50 ปีมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งในครั้งนี้ UN ก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ เพราะเป็นความขัดแย้งระดับทวิภาคี ไม่เกี่ยวกับระดับภูมิภาค

**ปภ.สรุปความเสียหายในพท.ปะทะ

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวสรุปถึงสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาประจำวันที่ 8 ก.พ.ว่า หลังเกิดเหตุปะทะตามแนวชายแดน จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ถึงวันที่ 6 ก.พ. มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจำนวน 17 หลัง เสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 10 หลัง โดยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. จ.ศรีสะเกษได้ให้ความช่วยเหลือบ้านที่เสียหายทั้งหลังตามระเบียบกระทรวงการคลังหลังละ 30,000 บาท เป็นเงิน 210,000 บาท ส่วนที่เสียหายบางส่วนจะเร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ และตั้งแต่เกิดเหตุได้อพยพประชาชนไปยังจุดรองรับผู้อพยพจำนวน 40 จุด แยกเป็น 11 อำเภอ รวม 16,668 คน ประภิกษุจำนวน 8 รูป
สำหรับการช่วยเหลือประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยกรณีฉุกเฉินได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย แบ่งเป็น กรณีเสียชีวิต ช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพรายละ 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเพิ่มเติมอีกรายละ 25,000 บาท รวมเป็น 50,000 บาท เครื่องมือประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท

** ส.ว.ชี้ไทยยังตามไม่ทันเล่ห์"ฮุนเซน"

พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ ส.ว.สรรหา อดีตประธานคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา และอดีต ผบ.สส. กล่าวถึงปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา จนส่งผลให้มีการใช้กำลังปะทะกัน ว่า เห็นชัดเจนว่ากัมพูชาต้องการอะไร แต่ฝ่ายไทยก็ยังตามไม่ทัน บางเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่อง ทั้งนี้ใน เอ็มโอยู 43 ข้อ 5 ก็ระบุว่า ห้าม 2 ประเทศ ดัดแปลงพื้นที่ที่ยังไม่มีการตกลงหลักเขตแดนกัน แต่กัมพูชาก็ละเมิดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน ที่หมู่บ้านโกมุย ขึ้นมาทางขึ้นปราสาทพระวิหาร รวมถึงสร้างกระเช้าลอยฟ้า ที่ภูมะเขือขึ้นปราสาทพระวิหาร โดยทางการไทย ได้แต่ทำการทักท้วงด้วยกระดาษแผ่นเดียวมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

"ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายในประเทศ ที่มีความคิดเห็นต่างกัน ประเทศไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่ความต้องการของผู้นำกัมพูชา เราก็รู้อยู่ว่าเขาต้องการนำเรื่องขัดแย้งขึ้นสู่เวทีนานาชาติ แต่เราพยายามบอกว่า ต้องการจัดการปัญหาด้วยทวิภาคี เนื่องจากไทยไม่มั่นใจว่านานาชาติจะเอียงไปเข้าข้างฝ่ายกัมพูชา เราจึงไม่ยอมรับความเหลือ แต่มันจะลำบากตรงที่สายตาคนต่างชาติ จะมองไทยว่า ทำไมไทยไม่ยอมให้นานาชาติเข้าช่วย แล้วจะถูกถามกลับว่า ถ้าแก้ปัญหาระดับทวิภาคีได้ ทำไมถึงไม่ได้ผลสักที ไทยต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นไทยจะถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กเกเร และจะตกที่นั่งลำบาก" พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

**ทีวีกัมพูชาตั้งกองทุนรับบริจาค

วานนี้ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ประกาศว่าสถานีโทรทัศน์บายน ที่ ฮุน มานา บุตรสาวของเขาเป็นเจ้าของ และสถานีโทรทัศน์ CTN ของนายคิท เม็ง คนใกล้ชิดของเขา ได้ตั้งกองทุน เพื่อระดมเงินบริจาค มามอบให้กับทหารในแนวหน้า ฮุนเซน ยังเรียกร้องให้ประชาชน บริจาคเงิน เป็นทุนสนับสนุนทหารที่กำลังสู้รบกับศัตรูอย่างไทย ที่ล่วงล้ำดินแดน ของกัมพูชาโดย CTN ได้เริ่มรับบริจาคมาตั้งแต่วันอาทิตย์ ส่วนบายน เพิ่งเริ่มเมื่อวันจันทร์ที่ผานมา
ด้านประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน่ ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานหมุนเวียน ของสมาคมอาเซียนในปัจจุบัน กล่าวว่า อินโดนีเซีย มีสำนึกรับผิดชอบในการเข้าไปมีส่วนแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา เขาจึงได้ส่ง นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนกัมพูชาและไทย เพื่อพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสองประเทศ ที่ทราบวัตถุประสงค์ในการเยือนครั้งนี้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น