xs
xsm
sm
md
lg

“อาทิตย์” เปรียบไทยเหมือนยุคก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 “เป๊ปซี่” ซัดรัฐละเลยปกป้องอธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
อธิการบดี ม.รังสิต ชี้สถานการณ์ไทยไม่ต่างกับยุคก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 เพราะมีคนในเป็นไส้ศึก หวังประโยชน์น้ำมันในอ่าวไทย “สมปอง” ยันเอ็มโอยู 43 ไม่มีประโยชน์แล้ว ด้านบรรณาธิการข่าวความมั่นคงทีวีไทย ซัดการข่าวไทยบกพร่อง ไม่มีข้อมูลเขมร ซ้ำไม่ตอบโต้ถูกอ้างพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ยันเพื่อนบ้านละเมิดสิทธิชัด สับทหารละเลยปกป้องอธิปไตย แนะภาคประชาชนกดดันรัฐ

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิติศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ จัดเสวนากรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร โดยมีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ และทนายความผู้ร่วมทำคดีปราสาทพระวิหาร และนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ร่วมเสวนา

นายอาทิตย์กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเป็นอธิปไตยของชาติไทยมีผลประโยชน์มหาศาลต่อการท่องเที่ยว เพราะเป็นชัยภูมิที่ดี ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทยเป็นการสูญเสียแบบน้ำตื้น ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องความสามารถ หรือชาญฉลาดของคนไทย แต่มันส่อให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคนไทยที่ใช้พื้นที่นี้ทำมาหากิน เวลานี้ประเทศไทยไม่ต่างอะไรกับกรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียกรุงครั้งที่ 2 เราเสียกรุงเพราะคนในเป็นไส้ศึก คนในชาติมีผลประโยชน์เพื่อตนเอง ขายผลประโยชน์ของชาติเราให้แก่ชาติอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังหมายรวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นด้วย ทั้งอังกฤษ อเมริกา หรือมหาอำนาจอื่นใด ในกรณีนี้ก็เป็นผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมัน ก๊าชธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย

ด้าน ศ.ดร.สมปองกล่าวว่า ที่ผ่านมากัมพูชาฟ้องให้ศาลโลกตัดสินว่า 1.ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา 2.ขอให้ประเทศไทยถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณโดยรอบ 3.ขอให้คนไทยคืนวัตถุโบราณและสิ่งของอะไรต่างๆ ที่เอาไปจากปราสาทพระวิหาร ซึ่งถือเป็นคำขอที่เลื่อนลอย แต่ทหารไทยก็ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ การปฏิบัติตามก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสละอำนาจอธิปไตย แต่เป็นเพราะเราเป็นสมาชิกที่ดีของสหประชาติ ต่อมา กัมพูชาได้ขยายคำฟ้องว่า แผนที่มาตรา 1 ต่อ 200,000 เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง แต่การขยายคำฟ้องครั้งนี้ศาลไม่รับพิจารณา แต่ทั้งนี้ประเทศไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับที่กัมพูชาทำร่วมกับฝรั่งเศส ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1907 เพราะว่าผิดจากข้อเท็จจริง เนื่องจากคำพิพากษาศาลโลกไม่ได้ชี้ขาดว่าแผนที่นี้ผิดหรือถูก แต่คำพิพากษาแย้งที่มีผลผูกมัดคู่กรณีของผู้พิพากษาชาวออสเตรีย อาร์เจนตินา และจีน ลงความเห็นเหมือนกันว่าแผนที่ดังกล่าวผิด ผิดตรงที่จุดหนึ่งที่ปราสาทพระวิหาร คือ แม่น้ำโอทาเซน ในแผนที่แสดงว่าน้ำไหลจากตีนเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา ซึ่งโดยธรรมชาติต้องไหลจากยอดเขามาสู่ตีนเขา เส้นที่เขาลากจึงผิด เพราะฉะนั้นจึงตัดเอาปราสาทพระวิหารไปเป็นของกัมพูชา ทั้งนี้เคยมีคนคำนวณไว้ว่าการลากผิดครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยเสียพื้นที่ 1,800,000 ไร่

“พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มีการปักปันเขตแดนนานกว่าร้อยปีแล้ว ซึ่งการปักปันเขตแดนมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1.สร้างบทนิยามที่อยู่ในตัวบทของสนธิสัญญาที่ตกลงกันสองฝ่าย 2.นำบทนิยามมาปรับกับพื้นที่โดยการส่งคณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายลงสำรวจพื้นที่จริงว่า พื้นที่ที่ตกลงกันอยู่จุดไหนเพื่อนำกลับมาลากเส้น 3.ลงมือปักหลักเขตในพื้นที่ที่เขตแดนธรรมชาติไม่ชัดเจน เช่น ไม่มีสันเขา หรือสันปันน้ำ เป็นเขตแดน แต่พื้นที่พิพาทดังกล่าวมีสันเขา มีสันปันน้ำ และหลักเขตเป็นเขตแดนชัดเจน โดยหลักที่ 1 ตั้งอยู่ที่ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ หลักเขตที่ 73 อยู่ ที่ บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จังหวัดตราด สาเหตุที่ในอดีตเราไม่โต้แย้งเรื่องแผนที่เป็นเพราะเรากลัวว่าฝรั่งเศสจะเอา ดินแดนไปมากกว่าเดิม เนื่องจากตอนนั้นทหารฝรั่งเศสตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดตราดและจันทบุรี เขาเพิ่งถอนกำลังไปเมื่อเราทำสัญญายอมยกเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้เขา เมื่อปี ค.ศ. 1907 แต่เวลานี้ประเทศที่ยัดเยียดแผนที่ให้เราเป็นกัมพูชาที่เคยเป็นอดีตประเทศราชของไทยซึ่งเรายกให้ ฝรั่งเศสไป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีหน้าที่บอกกัมพูชาว่าแผนที่มันผิด และมาถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่า MOU 43 ก็ไม่ได้มีประโยชน์อีกต่อไป” ศ.ดร.สมปองกล่าว

ด้าน นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กล่าวว่า หากใครไม่เคยขึ้นไปเขาพระวิหารก็จะมองไม่ออกว่าพื้นที่เป็นเช่นไร ครั้งแรกที่ตนขึ้นไปปราสาทพระวิหารตอนนั้นกัมพูชามีสงครามการเมือง ตนพยายามที่จะเข้าไปปราสาทพระวิหาร โดยขึ้นไปทางผามออีแดงซึ่งอยู่ในเขตไทย ช่วงนั้นทหารไม่ให้เข้าไป เพราะบริเวณตัวปราสาทเป็นพื้นที่ที่ไทยให้เขมรแดงเข้าไปอยู่ ตนเข้าไปครั้งแรกก่อนที่จะมีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 และจากวันนั้นก็มีการเผชิญหน้ากันทางการทหารมาตลอด และหลังจากวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 เมื่อมี 3 คนไทย จากกลุ่มธรรมยาตราเข้าไปสำรวจในตัวปราสาท จากวันนั้นมาทหารก็ส่งกำลังเข้าไปตลอด

“ตั้งแต่ ปี 2543-2553 กัมพูชามีการสร้างถนนความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร ไต่มาตามความสูงและความชันของหน้าผา และวานนี้โฆษกทำเนียบรัฐบาลของกัมพูชาออกมาแถลงว่าแผนที่ที่กัมพูชาถืออยู่ เป็นร่างที่ทำร่วมกัน ประเด็นเหล่านี้บางครั้งรัฐบาลไทยก็ยังไม่มีข้อมูล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการข่าวของเราบกพร่อง และก็ไม่มีการตอบโต้ทันที พื้นที่ 4.6 ที่บอกว่าเป็นของไทย แต่ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ก็ไม่มีคนไทยอยู่ ไม่มีทหารอยู่ จนฝ่ายกัมพูชาเชื่อว่าพื้นที่ทั้งหมดเป็นของเขา บริเวณพื้นที่ยังมีการขยายสำนักสงฆ์ มีการปักธงชาติเพื่อแสดงสิทธิ์ในพื้นที่ทั้งที่เป็นการละเมิด MOU 43 ข้อ 5 พูดชัดเจนว่าห้ามมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หรือภูมิประเทศ แต่รัฐเราก็ไม่มีการดำเนินการอะไรเลย รัฐมนตรีกลาโหมก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีสั่ง ทหารมีการละเลยในหน้าที่ไม่ร่วมมือในการปกป้องอธิปไตยอย่างที่ควรเป็น การต่อสู้ที่ผ่านมาก็เป็นการต่อสู้ของภาคประชาชน ซึ่งต่อไปทางรอดของประเทศคงมีทางเดียวคือ ภาคประชาชนจะต้องทำการกดดันความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพื่อให้รัฐชัดเจนกว่านี้” นายเสริมสุขกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น