ผ่าประเด็นร้อน
เหตุการณ์เมื่อตอนสายวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาขณะที่ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ต.ชวลิต ชุนประสาร ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี พร้อมด้วยกำลังทหารอาวุธครบมือจำนวนหนึ่งขึ้นไปที่วัดแก้วสิขาคีรีสวาระ บนเขาพระวิหารชายแดนไทย-กัมพูชาด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อไปเจรจาให้ฝ่ายกัมพูชาปลดป้ายที่เขียนข้อความใหม่ว่า “ที่นี่กัมพูชา” ออกไป หลังจากมีการเปลี่ยนป้ายที่เขียนข้อความเดิมประณามทหารไทยและคนไทยว่ารุกรานกัมพูชาก่อนหน้านี้ ถือว่าบรรยากาศในวันนั้นมีความตึงเครียด หมิ่นเหม่ว่าจะเกิดการปะทะได้ตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน ขณะที่คณะของแม่ทัพภาคที่ 2 ขึ้นไปบนวัดแก้วสิขาฯ ดังกล่าวทหารไทยที่วางกำลังอยู่ตามฐานปฏิบัติการต่างๆ ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงก็อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ มันทำให้มองเห็นภาพได้ดีว่าเป็นอย่างไร แต่ในที่สุดแล้วหลังการเจรจาบรรยากาศก็คลี่คลายทางฝ่ายทหารกัมพูชาก็ยอมทุบทำลายป้ายที่เขียนอักษรว่าที่นี่กัมพูชาออกไป
แม้ว่าในเบื้องต้นต้องชื่นชมนายทหารไทยดังกล่าวที่ทำหน้าที่ได้อย่างชื่นชม!!
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมันได้สะท้อนให้เห็นอะไรได้หลายอย่างตามมา รวมไปถึงการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นแก้ปัญหาโดยใช้ “เอ็มโอยู 43” ระหว่างไทย-กัมพูชาตามนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามท่องจำอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นการแก้ปัญหาโดยใช้ “แสนยานุภาพ” ทางทหารที่เหนือกว่าเข้าไปกดดันบังคับจนทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องยอมอ่อนข้อ
อีกด้านหนึ่งยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า หากฝ่ายกองทัพไทย โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงตั้งแต่ระดับนโยบายคือรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้รับผิดชอบในพื้นที่ชายแดนด้านตะวันออกมีความเอาจริงเอาจังก็สามารถผลักดัน หรือทวงถามความอยุติธรรมให้กลับคืนมาได้ หากคิดจะทำหรือแสดงท่าทีเอาจริงเอาจัง
กรณีแผ่นป้ายหินสลักข้อความแผ่นแรกที่ประณามทหารไทยและคนไทยว่า “เป็นผู้รุกราน” และต่อเนื่องมาจนถึงแผ่นป้ายแผ่นที่สองข้อความว่า “ที่นี่กัมพูชา” หรือ “ที่นี่แผ่นดินกัมพูชา” มันสะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชาได้เหิมเกริมเหยียดหยามย่ำยี ประเทศไทย คนไทยและ กองทัพไทย มาตลอด โดยที่ฝ่ายไทยกลับวางเฉยไม่ได้ท่าทีตอบโต้ใดๆออกมาตั้งแต่ต้น
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า แผ่นป้ายดังกล่าวน่าจะเป็นป้ายที่กัมพูชานำมาปักเอาไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หลังจากที่มีทหารไทยถอนกำลังออกมาจากบริเวณวัดแก้วศิขาฯ ซึ่งปรากฎเป็นข่าวรายงานออกมาจากสื่อในกัมพูชา มีการอ้างอิงนายทหารระดับสูงของกัมพูชาที่รับผิดชอบในพื้นที่ชายแดนกัมพูชา-ไทย โดยเฉพาะชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร เป็นผู้ยืนยันถึงการถอนทหารดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นข่าวเกิดขึ้นเมื่อราวปลายปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นมา ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีกรณีที่เกิดขึ้นกลับได้รับคำอธิบายแบบกำกวมจากฝ่ายรัฐบาลไทย ทั้งนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ที่ระบุว่ามีการปรับกำลังทั้งสองฝ่ายเพื่อลดความตึงเครียดเท่านั้น ไม่ใช่เรียกว่าการถอนทหารไทยออกมาแต่ฝ่ายเดียว
กรณีแผ่นป้ายบนวัดแก้วสิขาฯ ถูกเปิดโปงโดยภาคประชาชน จนนำไปสู่การเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลและฝ่ายทหารเข้าไปเจรจาปลดป้ายดังกล่าวออกไป อีกทั้งหากสังเกตให้ดีจะพบว่าการที่ฝ่ายกัมพูชาเข้ามาปักป้ายประณามทหารไทยและคนไทยถึงในบริเวณวัดแก้วสิขาฯ นั่นก็ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีการวางกำลังทหารไทยเอาไว้ในพื้นที่ หมายความถอนกำลังออกไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่ทหารไทยจะยืนดูทหารกัมพูชาปักป้ายด่าตนเองโดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ตอบโต้
เมื่อย้อนกลับมาที่ท่าทีของผู้นำรัฐบาล และผู้นำกองทัพ หลังจากมีการรายงานข่าวเรื่องแผ่นป้ายของกัมพูชา ในเบื้องต้นคนเหล่านี้ไม่ได้แสดงท่าทีกระตือรือร้นในการตอบโต้หรือแข็งกร้าวต่อฝ่ายตรงข้าม เพราะถือว่านี่คือการละเมิดข้อตกลงเอ็มโอยู ปี 43 อย่างชัดเจน ที่ระบุว่าห้ามมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หรือการก่อสร้าง การวางกำลังในพื้นที่ยังมีปัญหา จนกว่าจะมีการปักปันเขตแดนให้ชัดเจนเสียก่อน แต่กลายเป็นว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ รวมถึงผู้นำเหล่าทัพกลับไม่นำเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพียงแต่บอกว่าจะต้องหาทางเจรจาขอร้อง ไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ พร้อมกับกล่าวแบบมองโลกในแง่ดีว่า จะได้รับ “ข่าวดี” ในอีก 2-3 วัน
อย่างไรก็ดี หลังพูดไม่ทันขาดคำทางฝ่ายกัมพูชาก็ตอบโต้กลับมาอย่างทันควันว่า “ไม่มีทาง” พร้อมทั้งเปลี่ยนป้ายใหม่ให้มีความหมายชัดเจนกว่าเดิม นั่นคือ ที่นี่แผ่นดินกัมพูชา เป็นการประกาศอธิปไตยเหนือดินแดนไทยอย่างเหิมเกรมที่สุด โดยที่ฝ่ายไทยได้แต่มองตาปริบๆ แต่เมื่อถูกกดกันประณามทุกทางหลังจาก “ภาพมันฟ้อง” ว่าความหมายคืออะไร ทำให้ผู้นำระดับสูงของกองทัพนั่งไม่ติด จึงต้องสั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 2 ต้อง “แอ็กชัน” อย่างแข็งกร้าวที่สุด จนทำให้ต้องยอมทุบทิ้งป้ายที่ละเมิดอธิปไตยในทันที
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันอีกก็คือในบริเวณวัดแก้วศิขาฯนอกจากมีการปักป้ายประณามไทย หรือแสดงข้อความอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนไทยแล้ว ฝ่ายกัมพูชายังมีการ “ปักธงชาติ” กัมพูชาเอาไว้ที่บริเวณวัดแก้วศิขาฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รายรอบปราสาทพระวิหารที่รัฐบาลไทยชุดนี้ยอมรับว่า เป็นพื้นที่ทับซ้อนและยังอยู่ขอบข่ายของ เอ็มโอยู 43 ที่ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้าง วางกำลัง หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ทำให้ต้องจับตามองกันว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างไร แม้ว่าล่าสุดนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ได้ย้ำสั่งการให้ผู้นำกองทัพไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชารื้อถอนธงชาติกัมพูชาออกไปโดยเร็ว ซึ่งก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าจะทำได้จริงหรือไม่
เพราะเมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ที่ออกมาในทางตรงกันข้าม มีความเห็นในเรื่องดินแดนที่ออกมาในลักษณะไม่เข้มงวด ออกมาในโทนของ “ประชาคมอาเซียน” ในอนาคตซึ่งทุกประเทศสามารถเชื่อมโยงข้ามไปมาได้ มองในลักษณะของการพึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะไทยต้องพึ่งพาแรงงานจากฝ่ายกัมพูชา มองในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องอธิปไตย เขตแดน ซึ่งเป็นท่าทีใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กรณีการจับกุม 7 คนไทย มาจนถึงเรื่องการปักป้ายละเมิดรุกล้ำดินแดนไทยและแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทย และกองทัพไทยไม่มีท่าทีเอาจริงเอาจริงมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ว่าเมื่อถูกภาคประชาชนกดดันและเปิดโปงจนทำให้ต้องออกมาแสดงแอ๊กชั่นดังกล่าว ซึ่งก็ได้ผลด้วยแสนยานุภาพที่เหนือทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องยอมถอย แต่คำถามก็คือทำไมผู้บังคับบัญชาระดับสูงตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงได้ปล่อยปละละเลยมานานถึงขนาดนี้
ขณะเดียวกัน หากมองอีกมุมหนึ่ง ถามว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนทหารรู้หรือไม่ เชื่อว่าหลายคนก็ต้องบอกว่ารู้เรื่องเป็นอย่างดี หากรู้แล้วไม่ดำเนินการ มันก็ย่อมสงสัยได้ว่าต้องมีอะไรโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับสูงมีผลประโยชน์ “ซุกซ่อน” อยู่หรือไม่!!