xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สอบทุจริต วุฒิฯ ชี้ทุกรัฐบาลโกงไม่ต่างกัน พบมูลค่าปีละ 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูญ สิทธิสมาน  (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมาธิการสอบทุจริตฯ วุฒิสภา แถลงผลงาน 3 ปี รับตรวจสอบคอร์รัปชัน 189 เรื่อง ระบุทุจริตยังเกลื่อน รัฐบาลปัจจุบันและอดีต รูปแบบการโกงไม่ต่างกัน เผย จากการคำนวณมูลค่าทุจริตมีถึงปีละ 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ เตียมเสนอให้ภาคประชาสังคมเข้าไปตรวจสอบ พร้อมจัดทำแฟ้มประวัตินักการเมือง ฐานข้อมูลทรัพย์สิน พร้อมผลงานและสถิติต่างๆ ในการทำหน้าที่ในสภา เพื่อให้ประชาชนทราบ

ที่รัฐสภา วันนี้ (3 ก.พ.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรรมาภิบาล วุฒิสภา จัดการเสวนาเพื่อแถลงผลการดำเนินงานของ กมธ.ในรอบ 3 ปี (2551-2553) โดยมี ส.ว.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนจากสถาบันพระปกเกล้า และประชาชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 70 คน ทั้งนี้ ก่อนการเริ่มเสวนา ผู้จัดงานได้ทำเอกสารเผยแพร่กับผู้เข้าร่วม เรื่อง “และแล้วความจริงก็ปรากฏ” ซึ่งเป็นรายงานฉบับสังเขปการดำเนินงานรอบ 3 ปีด้วย

โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ประธานฐานะอนุ กมธ.กลั่นกรองเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า รอบ 3 ปี มีเรื่องร้องเรียนมายัง กมธ.279 เรื่อง รับไว้พิจารณาทั้งหมด 189 เรื่อง แบ่งเป็น 6 กลุ่มปัญหา คือ 1.การจัดซื้อจัดจ้าง 2.ใช้งบประมาณไม่โปร่งใส 3.ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม 4.เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน 5.การออกเอกสารสิทธิบุกรุกที่ดิน และ 6.การประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ทาง กมธ.จะรับมาตรวจสอบก็ไม่สามารถบรรเทาปัญหาให้กับประชาชนได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นรูปธรรมตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานอนุ กมธ.ส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตและตรวจสอบภาครัฐ กล่าวว่า ต้นเหตุของการทุจริตในปัจจุบันเกิดจากนักการเมืองที่ซื้อเสียงเลือกตั้ง ร่วมมือกับข้าราชการและนักธุรกิจ ดังนั้น การต่อสู่กับกลุ่มดังกล่าว ต้องสร้างเครือข่าย 3 กลุ่ม คือ องค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ประชาชน และสื่อมวลชน ที่ผ่านมา กมธ.ได้ยุติการทุจริตหลายเรื่องด้วยการจัดเสวนาให้ประชาชนมาแสดงความเห็น และสื่อช่วยขยายผล และเกิดการตื่นตัวในภาคสังคม อาทิ โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน อย่างไรก็ตาม ฝากให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วยตรวจสอบโครงการทำมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-บางปะอิน ที่ใช้งบประมาณกว่า 6.9 หมื่นล้าน อย่างไม่โปร่งใส และประชาชนในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ประธาน กมธ.กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตด้านพลังงานพบว่า เกิดจากการขาดธรรมาภิบาลในการคัดเลือกบุคคลที่เข้าไปกำหนดนโยบายด้านพลังงานในกระทรวงพลังงาน รวมถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้น ต้องห้ามไม่ให้พนักงานรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย ในหน่วยงานที่ต้องไปกำกับดูแล

นอกจากนี้ กมธ.พยายามจะเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เลิกอุ้มบริษัทพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน ด้วยการยกเลิกนโยบายที่มีมาตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ให้ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันในไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าแต่ราคาขายให้เท่ากับการนำเข้าน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้รัฐไม่ต้องสูญเสียงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี และตนมองว่า หากทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องให้กองทุนน้ำมัน อุ้มราคาน้ำมันอีกต่อไป และจัดหาก๊าซแอลพีจีให้เพียงพอ แต่หากไม่เพียงพอขอให้นำเข้าตามราคาลอยตัวของตลาดโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.และ นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา เจริญพาณิชย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เห็นพ้องข้อเสนอการจัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สินและผลการทำงานของนักการเมือง ซึ่ง กมธ.ได้ร่วมมือกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลักดันให้เกิดการจัดทำศูนย์ฐานข้อมูลนักการเมืองบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ซึ่ง กมธ.จะนำข้อมูลเรื่องทรัพย์สินและการทำงานของตนเองไปเผยแพร่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองคนอื่นทำตาม หากใครไม่ยินดีเปิดเผยข้อมูล ประชาชนจะได้ไม่ต้องเลือกเพราะแสดงถึงความไม่โปร่งใส

ภายหลังจากเสวนา น.ส.รสนา แถลงข่าวว่า ตั้งแต่ปี 2538 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับความโปร่งใสต่ำมาก สูงสุดอยู่ที่ 3.8 ต่ำสุดอยู่ที่ 2.7 ซึ่งไม่ถึงครึ่ง ถือว่าสอบตก ซึ่งนักธุรกิจคำนวณมูลค่าทุจริตที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี หลายคนยังบอกว่า บางโครงการยังคอร์รัปชัน 70-100% กมธ.เห็นว่า ทางที่จะแก้ไข ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็ง จึงขอเสนอแนวทางเริ่มต้นด้วยการทำแฟ้มประวัติผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ระบุรายละเอียดถึงสถิติการเข้าประชุม การลงมติ การอภิปราย เพื่อรายงานผลงานต่อประชาชนให้เกิดการตรวจสอบ นอกจากนี้ ต้องให้มีการแก้ไขไม่ให้คดีทุจริตมีการหมดอายุความ

“กฎหมายที่มีมากมาย แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ ดังนั้น การเสนอทำแฟ้มประวัตินักการเมือง เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ รวมถึงการเปิดเผยการทำงานขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช.ที่ควรเปิดเผยการทำคดีต่างๆ ด้วย” น.ส.รสนา กล่าว

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา รองประธาน กมธ.กล่าวว่า รูปแบบการทุจริตของรัฐบาลชุดนี้ กับรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ต่างกัน แต่ด้วยความที่ไม่มีกฎหมายใดสามารถเอาผิดได้ ทำให้ผู้ทำทุจริตย่ามใจ และมักทำในลักษณะโครงการลม คือ ไม่มีโครงการแต่มีการใช้งบประมาณ สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขด้วยการใช้กฎหมาย แต่ที่ผ่านมาไม่มีนักการเมืองหรือรัฐบาลใดออกหลักประกันให้เกิดกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต้านคอร์รัปชัน

ขณะที่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการทำงานมา 3 ปี และเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตพบว่า ทุกรัฐบาลมีการทุจริตไม่ต่างกัน รัฐบาลปัจจุบันก็เช่นกัน โดยบุคลากรที่กระทำเป็นกลุ่มเดียวกัน มีการทุจริตเกือบทั้ง ครม.โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทรวงมหาดไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น