xs
xsm
sm
md
lg

กึ่งทศวรรษพันธมิตรฯ : ปรับแถวแนวรบด้านมัฆวานฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำว่า "mob" ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากภาษาละตินว่า "mobile vulgus" แปลความได้ว่า "ฝูงชนวุ่นวาย"

ม็อบ (mob) ในทางสังคมวิทยา จึงหมายถึง การรวมตัวกันของผู้คนอย่างไร้ระเบียบ มากกว่าสิบคนขึ้นไป ซึ่งในทางพฤตินัยมักเกิดขึ้นเพราะความไม่พึงพอใจ จนบางครั้งก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการก่อจลาจล

ดังนั้นคำว่า “ม็อบ” จึงถูกใช้ให้ภาพเชิงลบ เมื่อพาดพิงถึงการรวมตัวกันเพื่อประท้วง เรียกร้อง คนไทยทั่วทั้งราชอาณาจักรไทยจึงใช้ศัพท์นี้ผิดๆมาโดยตลอด

เมื่อพูดถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มักถูกขนานนามว่า “ม็อบกู้ชาติ” หรือ “ม็อบเสื้อเหลือง” คำเรียกขาน แบบนี้เองที่โดยนัย ก็บ่อนเซาะทำลายเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ตั้งแต่ยังไม่ทันรู้แจ้งว่า “ธง” หรือ “เป้าหมาย” ในการเคลื่อนไหวครั้งนั้นคืออะไร ?

อีกมุมหนึ่งของทำเนียบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มี “เสน่ห์สาธารณะ” โดยพื้นฐานจากหน้าตา บุคลิกดี และมีคารมที่ทำให้หลายคนหลงใหลปลาบปลื้มในตัวเขา แม้การบริหารงานในฐานะนายกรัฐมนตรี จะมีภาพของความอ่อนแอ และไร้ความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาฉาบทาอยู่ก็ตาม

แปลกแต่จริง หลายคนเชื่อว่า แค่มาร์คเริ่มอ้าปาก คนก็เชื่อไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วน “ความจริง” นั้น ถูกกองทิ้งไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ชุดของการสร้าง “ความเชื่อ” จึงถูกส่งผ่านผ่านคลื่นโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอาวุธที่ใช้ต่อกรกับกลุ่มพันธมิตร

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กำลังหลักมาจากขบวนการกู้ชาติของสนธิ ลิ้มทองกุล กองทัพธรรมกับสันติอโศก นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งต่อมาทั้งคู่คือแกนนำอย่างเป็นทางการ

ผสานมือกับ พิภพ ธงไชย นักกิจกรรมอาวุโสจาก คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจนและเครือข่ายองค์กรครูในชนบท และสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำของขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยมีสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. เป็นผู้ประสานงาน

กลุ่มพันธมิตรฯ ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์หลัก มีมือตบเป็นอาวุธประจำกาย เป็นองค์กรแนวหน้าในการต่อต้านและขับไล่รัฐบาลทักษิณ หลังกรณีการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป ที่กระแสความไม่พอใจพุ่งขึ้นสูงสุด จนพันธมิตรฯ ระดมมวลชนเข้าร่วมได้เกือบ 3 แสนคน จนทำให้ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก่อนกระเด็นตกจากอำนาจด้วยการถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หวนกลับมาชุมนุมแบบปักหลักพักค้างอีกครั้งในปี พ.ศ.2551 ภายใต้สโลแกน “สงครามครั้งสุดท้าย” เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง โดยใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายทั้งเข้ายึดพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล และจัดชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

การชุมนุมยืดเยื้อยาวนานกว่า 193 วัน ของพันธมิตรฯ จบลงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 หลังจากมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค และปิดฉากลงท่ามกลางการสูญเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุม ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และถูกถล่มด้วยกระสุนปืน M-79 อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จนมีผู้เสียชีวิตรวม 10 คน สาหัสถึงขั้นพิการนับสิบ และอีกหลายร้อยคนมีบาดแผลลึกติดตราไว้ทั้งร่างกายและจิตใจ

ผ่านไปกว่า 2 ปีเต็ม การประกาศปักหลักชุมนุมเพื่อรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา โดยยึดสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นชัยภูมิอีกครั้ง เพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU 2543 ถอนตัวจากคณะกรรมการมรดกโลก และผลักดันทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรบนเขาพระวิหาร

ยุทธวิธีในการจัดการชุมนุมรอบนี้ แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ เพราะเป็นการชุมนุมซ้อนทับกับพื้นที่และเวทีการชุมนุมในนาม”เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ที่ยึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อปักหลักชุมนุมหลังการจับกุมคณะ 7 คนไทย อยู่ก่อนแล้ว

แม้ว่าในภายหลังเวทีของเครือข่ายฯ จะถูกเทคโอเวอร์โดย”พ่อท่านของชาวสันติอโศก“ หลัง ”ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์” ละทิ้งแนวทางการชุมนุมและผู้ชุมนุมไปต่อสู้ในคุกแทน ตามมาด้วยข่าวการแตกแยกของ พันธมิตรฯ กับ สันติอโศก ซึ่งถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันจากทั้งสององค์กร

ในข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่า ความสำเร็จของพันธมิตรที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดพลังหนุนที่เข้มแข็งจากกองทัพธรรมและสันติอโศก พื้นที่การชุมนุมในขณะนี้ จึงอยู่ภายใต้การดูแลของชาวอโศกเต็มรูปแบบ สร้างเอกภาพในการบริหารจัดการพื้นที่เต็มเปี่ยม

ถึงแม้จะมีปรากฏการณ์เหลืองหลากเฉดสีเกิดขึ้น เมื่อแกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ทั้งไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ วีระ สมความคิด และไพศาล พืชมงคล เน้นยุทธวิธีการต่อสู้ที่แข็งกร้าว แตกต่างกับพันธมิตรฯ ที่หยัดยืนอยู่กับแนวทาง “สงบ สันติ อหิงสา” อย่างชัดเจน

ส่วนการที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ไปก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ในนาม “ช่อง 13 สยามไท” เพราะมุ่งหวังการยึดกุมสื่อ ให้เป็นกระบอกเสียง เช่นเดียวกับพันธมิตรฯ ที่มีทีวีของประชาชนอย่าง “เอเอสทีวี” ซึ่งไม่แปลกเพราะถือเป็นแนวถนัดของทหารเรือนายนี้อยู่แล้ว ถึงขั้นร่ำลือกันว่า แผนเข้ายึดช่อง 11 ในปี 2549 ก็กลั่นมาจากไอเดียเขา แต่เมื่อแผนกระชับพื้นที่ล้มเหลว จึงต้องหันมาเปิดช่อง 13 แทน เป็นการปลอบใจ แต่ที่ทำให้ชาวพันธมิตรฯ ยังคาใจคือการออกอากาศโจมตีพันธมิตรฯ แบบเต็มสูบของช่อง 13 โดยเฉพาะที่กล่าวหาว่าพันธมิตรฯ สมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาล

เมื่อภาพความแตกต่างเกิดขึ้นชัดเจน แนวทางเป่านกหวีดนัดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เที่ยวล่าสุด จึงต้องปรับยุทธวิธีการต่อสู้ต่างไปจากเดิม เน้นเพิ่มการรณรงค์สร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ถึงกรณีการเสียดินแดนไทยโดย ”พฤตินัย” โดยเดินสาย ”ทัวร์ทางปัญญา” อย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค

ยุทธวิธีนี้ถือว่าได้ผล จนเกิดกระแส “เต็มออก”เพื่อมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ให้คึกคักขึ้นอีกครั้ง สวนทางกับคำปรามาสของพลพรรคประชาธิปัตย์ที่เชื่อว่า หากไร้ซึ่งการหนุนช่วยจากเครือข่ายอุปถัมภ์ของพรรคแล้ว พันธมิตรฯ จะฝ่อตัวลงแน่ๆ

แม้ว่าจะมีแนวร่วมและมวลชนที่ถอยห่างออกจากพันธมิตรฯ ด้วยผลจากลีลาบริหาร ”เสน่ห์สาธารณะ” ของอภิสิทธิ์ และมีผู้คนที่สมาทานยอมรับแนวคิดที่ว่า ไทยไม่เคยสูญเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนทาง”นิตินัย” ของนายกรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งจริงๆ

โจทย์ของพันธมิตรฯ ที่จะกำหนดแนวทางการต่อสู้ในลำดับต่อไป ส่วนที่ยากที่สุดคือ จะยืนหยัดยึดพื้นที่เพื่อปักหลักพักค้างชุมนุมใหญ่อย่างยืดเยื้อหรือไม่? และจะปรับไปในทิศทางใด ?

ส่วนนี้ขอทดลองเสนอต่อพันธมิตรฯ เมื่อพิจารณาจากสภาพภูมิรัฐศาสตร์ ถ้าหากไม่กังวลเรื่อง “ช่วงชิงการนำ” แล้ว เวทีของ”เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล น่าจะสอดรับกับยุทธวิธีสู้รบแบบยืดเยื้อมากกว่า การผนึกเวทีเป็นหนึ่งเดียวยังสะท้อนเอกภาพสามัคคีสมานฉันท์ในการต่อสู้ของภาคประชาชนด้วย

การเป่านกหวีดนัดชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ ยังสามารถเลือกกำหนดเป็นรายสัปดาห์ทุกศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ได้ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อให้มวลชน สามารถวางแผนการเข้าร่วมชุมนุมโดยไม่ต้องละทิ้งการงาน อาชีพ การค้า การขาย จนกระทบกับการดำรงชีพส่วนบุคคล

นอกจากนั้นพันธมิตรฯ ต้องเร่งกำหนดแนวทางต่อสู้เชิงกฎหมาย เพื่อฟ้องรัฐบาลฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับกัมพูชา ผ่านทุกช่องทางที่ทำได้ เพื่อให้มีกรอบเวลาในการยกระดับเคลื่อนไหวที่ชัดเจนต่อเนื่อง

ที่สำคัญ คือ ต้องไม่ทิ้งการรณรงค์โดยเวียนวิทยากรไป”ทัวร์ทางปัญญา” ในส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มฐานมวลชนที่มีความรับรู้ ปลุกกระแสการมีส่วนร่วมด้วยการรณรงค์ถอดถอนนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเสียดินแดนให้สอดคล้องกับแนวทางการต่อสู้ทางด้านกฎหมาย

การยกระดับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องสร้างมิติใหม่ ที่ไม่จำเป็นหยุดอยู่ที่การเคลื่อนขบวนไปตามสถานที่ต่างๆ การปิดล้อมพื้นที่สถานที่ราชการ แต่ควรมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง

“สงครามครั้งสุดท้าย” ของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงไม่ใช่คร้งสุดท้ายจริงๆอย่างแน่นอน ตราบใดที่สังคมการเมืองไทย ยังอยู่ในวังวนประชาธิปไตยสลับวงจรอุบาทว์

ในวาระขึ้นขวบปีที่ 6 ของพันธมิตรฯ บรรดานักรบมือตบของประชาชน จึงยังต้องตั้งอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อม ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อให้เกิด”การเมืองใหม่” ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น