xs
xsm
sm
md
lg

ต้องช่วย “วีระ-ราตรี” พ้นคุกเขมร แต่ทำไม “กสม.” ยังนิ่งในห้องแอร์?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับถอยหลังไปอีก 5 วัน ก็จะเป็นวันที่ศาลกัมพูชานัดชี้ชะตา วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ว่าจะได้รับอิสรภาพเช่นเดียวกับคนไทยทั้ง 5 คนที่ได้กลับแผ่นดินแม่หรือไม่

หรือจะต้องเผชิญกับความจริงที่เลวร้ายมากกว่า ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเดินเครื่องเต็มสูบ เพื่อช่วยเหลือคนทั้งสองให้ได้คืนสู่มาตุภูมิโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการประสานอย่างเป็นทางการ หรือแม้กระทั่งการเดินเกมใต้ดิน กดดัน “ฮุนเซน” ให้ต้องเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมภายในกัมพูชาให้พิจารณาคดีโดยเร็ว

เช่นเดียวกับที่ทำได้ในระดับหนึ่งกับกรณี 5 คนไทย ซึ่งเดิมจะถูกเหมารวมพ่วงอยู่กับคดีของวีระ และราตรี แต่รัฐบาลที่โดนสวดอย่างหนัก ในท่าทีที่อ่อนปวกเปียกในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น หันมาออกแรงทั้งบนดินและใต้ดิน ก็ทำให้ ฮุนเซน ส่งสัญญาณไปยังศาลกัมพูชา ให้แยกคดี 5 คนไทย ที่ไม่มีข้อหาจารกรรมข้อมูลออกมาพิจารณาก่อน โดยศาลกัมพูชาไต่สวนคดีใหม่ และตัดสินคดีภายในวันเดียว จากเดิมที่กัมพูชาต้องการเล่นเกมยื้อ ก็เปลี่ยนมาเป็นยกโทษจำคุกให้รอลงอาญาเหลือเพียงโทษปรับ

ผลที่ออกมายังมีหลายฝ่ายไม่พอใจ คิดว่าล่าช้าเกินไป หรือแม้กระทั่งไม่ควรให้คนไทยทั้ง 7 คนเข้าสู่กระบวนการของศาลกัมพูชามาตั้งแต่ต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่จับกุมคนไทยว่า อยู่บนผืนแผ่นดินไทย หรือข้ามไปอีกฟากหนึ่งแล้ว

ก็ยังเป็นสิ่งที่โต้แย้งกันอยู่ และคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล ก็มีสิทธิที่จะแสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมาย

เบื้องหลังการถ่ายทำที่ส่งผลทำให้ 5 คนไทยได้รับอิสรภาพก่อนหน้านี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเริ่มตั้งแต่ช่องทางแรก เริ่มที่กระทรวงการต่างประเทศเองก็ยังเข้าไม่ถึง ในช่วงต้นที่คนไทยทั้ง 7 ถูกส่งตัวไปยังกรุงพนมเปญ แต่ข่าวคราวที่ส่งมาถึงรัฐบาลไทย และมีความแม่นยำอย่างยิ่ง

กลับได้จากแวดวงไก่ชน!

ว่ากันว่า “ผู้ใหญ่ในศาลกัมพูชา” คนหนึ่งมีความนิยมชื่นชอบกีฬาไก่ชนอย่างเข้าเส้นเลือด และจะเชียร์ให้มันก็ต้องข้ามฝั่งจากเขมรมายังสนามไก่ชนในเมืองไทย ข่าวคราวเกี่ยวกับการนัดพิจารณาคดีนัดแรก ก็หลุดรอดมาจากวงไก่ชนนี่แหละ

ก่อนที่ทางการไทยจะได้รับรู้กระบวนการไต่สวนจากกัมพูชาถึง 2 วัน!

จากนั้นเมื่อกัมพูชาเลือกที่จะเล่นเกมยื้อ โดยประกาศตัดสินคดี 7 คนไทยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก็ทำให้รัฐบาลที่ถูกแรงกดดันจากคนภายในชาติหนักขึ้นทุกวัน เดินเกมรุกกดดัน ฮุนเซน มากขึ้น ด้วยการยื่นคำขาดผ่าน “เสี่ยพัด” มือขวาฮุนเซน ซึ่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับบ่อนการพนันตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งเป็นหม้อข้าวใหญ่ของฮุนเซน ว่า

“หากฮุนเซนไม่เร่งรัดกระบวนการตัดสินคดีคนไทย ผลประโยชน์จากบ่อนการพนันจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน”

ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน ในการเจรจาทางลับ ส่งผ่านไปยัง ฮุนเซน รวมถึงการล็อบบี้ พลจัตวา ฮุน มาเนต บุตรชายของฮุนเซนให้ไปเกลี้ยกล่อมผู้เป็นพ่อด้วย

ก็ไม่รู้ว่า ด้วยเหตุผลของความกลัวหม้อข้าวแตก หรือเพราะเกรงใจลูกชาย สุดท้าย ฮุนเซน ก็ยอมส่งสัญญาณให้ศาลกัมพูชาตัดสินคดี 5 คนไทยในวันที่ 21 มกราคม และมีคำพิพากษาลงโทษปรับ ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา จนกระทั่งทั้ง 5 คนได้กลับประเทศไทยในวันที่ 22 มกราคม

กระบวนการประสานงานช่วยเหลือ “วีระ-ราตรี” ต้องดำเนินต่อไป แน่นอนภาครัฐต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคส่วนอื่น ก็ไม่ควรเพิกเฉยที่จะใช้ทุกช่องทางเพื่อช่วยทั้งสองคนกลับประเทศไทย

โดยเฉพาะ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)” ซึ่งดูเย็นชาเกินไปกับชะตากรรมของ 2 คนไทย การที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ในช่วงแรก เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือคนไทยทั้ง 7 คน เมื่อวันที่ 13 มกราคม มีเนื้อโดยสรุปว่า

“ขอแสดงความห่วงใยต่อคนไทยทั้ง 7 คน ที่ถูกจับกุม และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างรอบคอบ ปกป้องสิทธิและเสรีภาพ ดูแลสวัสดิภาพของคนไทยทั้ง 7 คน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และระหว่างรอการพิสูจน์และรับรองแนวเขตแดนโดยทั้งสองฝ่าย ขอให้รีบส่งคนไทยทั้ง 7 คน กลับประเทศโดยเร็ว นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งการดำเนินการเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเคารพอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาขยายวงกว้าง อันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน และส่งผลกระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทยและกัมพูชา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ ต่อไป”

ต้องบอกว่า บทบาทเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอ เพราะศักยภาพของกรรมการสิทธิฯ สามารถดำเนินการให้เป็นคุณกับคนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุมได้มากกว่านี้ เช่น การประสานงานไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ ต่างประเทศ รวมถึงสหประชาชาติ เพื่อให้เข้าไปดูแลด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีที่มีการแจ้งข้อหาจารกรรม ซึ่ง วีระ ฟ้องกับสังคมว่าเป็นการ “ยัดเยียดข้อกล่าวหา”

เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง

ธรรมชาติของรัฐบาลกัมพูชา มีความยำเกรงต่อบทบาทของสหประชาชาติอยู่แล้ว เพราะประวัติศาสตร์ความเป็นชาติของกัมพูชา ก่อร่างสร้างตัวได้จากนานาชาติ และสหประชาชาติ ที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ดังนั้นหากคณะกรรมการสิทธิฯ จะใช้บทบาทของตัวเองให้เป็นประโยชน์กับ 2 คนไทย ที่กำลังรอความหวังกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว

ก็ไม่ควรนิ่งดูดายนั่งอยู่ในห้องแอร์ ออกแถลงการณ์เท่านั้น

แต่ต้องออกแรงด้วย อย่างน้อยส่งกรรมการสิทธิฯ เดินทางไปเยี่ยม วีระ-ราตรี สอบถามสารทุกข์สุขดิบ และข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ เพื่อนำมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือ หรือแม้กระทั่งตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐว่า มีความถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือยัง

ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าอยู่กลางเมืองหลวง คอยชะโงกมองแล้วยื่นหน้าออกมาวิจารณ์เพียงอย่างเดียว

กำลังโหลดความคิดเห็น