xs
xsm
sm
md
lg

สภาสูงนัดแรกวุ่น!! รุมค้าน - หนุน “ประสพสุข” ไขก๊อก ก่อนมีมติ 53 ต่อ 9 ให้อยู่ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุมวุฒิฯ เปิดนัดแรก ส.ว.เลือกตั้งได้ที อ้างคำสัญญาไล่ “ประสพสุข” พ้นเก้าอี้ - “เกชา” ถามทำไมเปลี่ยนคำพูด “มงคล” ฉะทำชาติวุ่น “นพ.เจตน์” สวนกลับ ถามออกแล้วได้อะไร แนะพวกอยากนั่งรอไว้หลังสรรหา ส.ว.ใหม่ “สุมล” แฉ “นิคม” ปลุกแก๊งล็อกเก้าอี้ เจ้าตัวโต้ ปัดกดดัน ยันอยากให้อยู่ต่อ ด้านประธาน ส.ว.ขอมติที่ประชุม สรุป 53 ต่อ 9 หนุนอยู่ต่อ ขณะ ส.ว.เกือบครึ่งโดดลงคะแนน


วันนี้ (24 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ภายหลังจากรับทราบพระบรมราชโองการเปิดเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสภาฯ โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือโดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ขอหารือว่า มีข่าวคราวที่ ส.ว.ควรทราบ กรณีการดำรงตำแหน่งของประธานวุฒิสภา เพื่อไม่ให้เกิดข่าวคราวเหมือนกรณีเงินสินบนซื้อตำแหน่งประธานแถมรถเบนซ์ 1 คัน อยากหารือประธานควรเอาเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมหารือกันก่อนหรือไม่ ตนเคารพสมาชิกทุกท่านเพราะมีคุณสมบัติความสามารถเช่นเดียวกัน การพูดอะไรในหมู่สมาชิกเราต้องยึดถือคำพูดที่พูดไว้ วันนี้สมาชิกมีความเห็นต่างกัน บางส่วนอยากให้อยู่ต่อ แต่บางส่วนอยากให้ท่านรักษาคำพูด เป็นไปได้อยากขอความกรุณาประธานว่า อะไรที่เราเคยพูดหรือรับปากกันทั้งที่โบนันซ่า และห้องประธาน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ น่าจะทำให้มันจบไป ที่ออกมาพูดเป็นการเปิดเผย และไม่ได้อยู่ที่โบนันซ่าวันนั้น ไม่เคยไปหารือที่ห้องประธานฯ แต่เห็นข่าวตนก็ตัดเก็บตลอด ท่านก็บอกว่าจะออกวันนั้นวันนี้ จึงอยากให้ยึดกฎกติกาไว้ ระบบขอให้อยู่ ที่บอกว่ารอให้บ้านเมืองสงบก่อนนั้น เราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลเขา

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า อยากจะเล่ารายละเอียดในช่วง 2 ปีกว่าเรามีการพูดคุยอะไรกันไว้บ้าง ตั้งแต่ท่านได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งประธาน คนอื่นบอกว่าจะอยู่ 2 ปี แต่ท่านบอกว่าจะให้ประเมินทุกปี เมื่อครบ 1 ปี ส.ว.กลุ่มหนึ่งได้หารือกันกับ ส.ว.ผู้ใหญ่ ซึ่งมีตนอยู่ด้วย ท่านบอกว่าจะขออยู่อีก 1 ปี เพื่ออยู่ร่วมประชุมไอพียูและเมื่อ ครบ 2 ปีเมื่อเดือน เม.ย. 2553 ท่านบอกว่าเหตุการณ์ยังไม่สงบ ขอให้บ้านเมืองสงบท่านจะลาออก จากนั้นท่านแจ้งว่าจะขอร่วมงาน 12 สิงหาฯ แล้วจะลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิฯ และส.ว.ด้วย หลังจาก 12 สิงหา ตนและเพื่อน ส.ว.ไปหาท่านก็แจ้งว่าขออยู่ร่วมงาน 5 ธันวาฯ 2553 ซึ่งเป็นการยืนยันครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3และครั้งที่ 4 เมื่อต้นเดือน ม.ค.2554 ตนไปพบท่านที่ห้อง บอกว่าจะลาออก 18 ม.ค. ซึ่งตนร้องขอว่าให้เป็นวันที่ 31 ม.ค. ดีกว่าเพราะในวันที่ 24 ม.ค.จะมีการเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อจะได้อ่านพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม ก่อน ท่านก็ยังบอกว่าไม่ได้จะลาออก และเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ได้ไปท่านอีกครั้งเนื่องจากมีข่าวว่าท่านจะไม่ลาออกแล้ว ซึ่งท่านก็แจ้งว่าจะไม่ออก จะอยู่จนครบวาระและอยู่รักษาการต่อไป โดยอ้างว่ามีเพื่อน ส.ว.มาขอร้อง จึงอยากถามความชัดเจนเพราะท่านเคยยืนยันจากปากท่านเอง แต่กลับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย แต่ที่เราไม่ประเมินเพราะเชื่อมั่นในคำพูดกัน ให้เกียรติกัน วันนี้ท่านมาเปลี่ยนแปลงคำพูดที่ให้ไว้ต่อหน้าตนและคนอื่น อยากถามว่าคำพูดที่ท่านรับปากทำไมจึงเปลี่ยนไป ไม่ทำตามที่พูดคุยไว้ ยืนยันว่ามีการพูดคุยกันจริง

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า มีเหตุผลสนับสนุนประธานไม่ควรลาออก ดังนี้ 1.เป็นเรื่องส่วนตัวของประธานที่ไปพูดจาอะไรไว้ แต่ถามว่าลาออกแล้วประเทศชาติได้อะไร ในเมื่ออายุของ ส.ว.สรรหาทั้ง 74 คน เหลืออีกไม่ถึง 1 เดือน คิดว่าตรงนี้ระยะเวลาไม่เหมาะสม 2.ที่บอกว่าให้รอบ้านเมืองสงบเรียบร้อยนั้น ถามว่าวันนี้สงบแล้วหรือยัง เมื่อวานก็มีม็อบแดง และม็อบเหลืองก็จะมาอีก อีกทั้งสภาจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีโอกาสที่นายกฯจะเลือกวิธีการยุบสภา ถือว่าขณะนี้บ้านเมืองยังวุ่นวาย หากท่านลาออกแล้วมีการยุบสภาอีกโดยยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธานวุฒิสภา จะเกิดสุญญากาศเนื่องจากขาดประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภา จะเป็นปัญหาใหญ่ประเทศ ท่านจำเป็นต้องแบกความรับผิดชอบต่อไป 3.หากลาออกไปเมื่อ 1 ปีที่แล้วตนจะไม่ตั้งคำถาม แต่ลาออกในขณะนี้ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนเหมาะสมหรือไม่ เป็นเรื่องสมบัติผลัดกันชมหรือไม่ และส.ว.สรรหาชุดใหม่อีกไม่เกิน 3 เดือนก็จะได้รับการสรรหาเข้ามา หากเขาไม่ได้เลือกประธานวุฒิสภาของตัวเอง จะชอบธรรมหรือเป็นที่ยอมรับหรือไม่ และหาก น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา ลาออกเพื่อไปรับการสรรหาใหม่อีก จะกลายเป็นว่าตำแหน่งประธานและรองประธานทั้ง 3 ตำแหน่งจะเป็นของสายเลือกตั้งทั้งหมด โดยไม่มีสายสรรหาอยู่ด้วย ถูกต้องหรือไม่ 4.ตนและเพื่อน ส.ว.จำนวนมากเห็นว่า ตลอด 3 ปีมานี้ท่านทำหน้าที่ได้ดี แม้มีข้อจำกัดเรื่องบทบาทอำนาจของวุฒิ แต่ก็เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ แต่การทำงานที่ผ่านมาเราได้รับคำชื่นชมจากประชาชน ทำได้ดีสมกับความไว้วางใจและศรัทธาที่เขามีให้เรา ดังนั้น ท่านควรเสียสละทำหน้าที่ต่อไป และคนที่จะชิงตำแหน่งและบรรดากองเชียร์ทั้งหลาย ควรชะลอความต้องการไว้

เช่นเดียวกับนายประเสริฐ ชิตพงษ์ ส.ว.สงขลา กล่าวว่า ถามว่าหากประธานฯลาออกประเทศชาติประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ตนเชื่อว่าสังคมไม่ได้อะไร และยังทำให้ประเทศเสียหาย แก้รัฐธรรมนูญก็มาจ่อคิวอยู่ ความไม่ปกติทางการเมืองยังมีอยู่ มาได้ยินวันนี้ไม่สบายใจมากหากประธานลาออกให้มีการเลือกใหม่ แล้ววุฒิชุดใหม่เข้ามาก็ต้องเลือกกันใหม่อีก จะถูกหาว่าวุฒิสภาเล่นขายของ ดังนั้น ประธานใหม่ควรได้รับการเลือกจาก ส.ว.เลือกตั้งที่มีวาระอีก 3 ปี และ ส.ว.สรรหาที่เข้ามาใหม่ เป็นความถูกต้องเหมาะสม ขอเรียกร้องให้ประธานฯ ทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ

ขณะที่ นายมงคล ศรีกำแหง ส.ว.จันทบุรี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับ นพ.เจตน์ที่บอกว่าท่านเป็นแล้วนำพาวุฒิสภาแก้ปัญหาบ้านเมือง ได้ดี แต่เห็นว่าเป็นประธานที่อ่อนแอ นี่พูดจากใจ คิดว่าหากท่านอื่นเป็นประธานวุฒิในช่วง 2 ปีมานี้ บ้านเมืองคงไม่แตกแยกขนาดนี้ ตอนชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองท่านชวนพวกเราไปเยี่ยมพวกเสื้อเหลือง ซึ่งคิดว่าไม่เหมาะสม และท่านไม่เคยถ่วงดุลกับรัฐบาล ปล่อยให้มีการแตกแยกทะเลาะกัน ฆ่ากัน ถ้าประธานเข้มแข็งใช้อำนาจตัวเองโดยไม่เป็นลูกไล่รัฐบาล บ้านเมืองก็คงไม่เป็นอย่างนี้ ที่บอกว่าจะไม่มีคนอื่นมาทดแทนได้นั้น ตนเชื่อว่าท่านตัดสินใจเองได้ การพูดแล้วไม่รักษาคำพูดห่วงว่าถ้าดื้อดึงต่อไป เกรงว่าจะได้รับเสียหายมากกว่านี้ สิ่งที่ท่านสะสมมาจะเสียหาย ไม่ต้องห่วงว่า ส.ว.จะมีคนอื่นมาทำแทนไม่ได้ อย่าไปเชื่อคนที่ยุให้อยู่ต่อ ตนเชื่อว่าท่านมีวุฒิภาวะ มีสติสัมปะชัญญะที่จะตัดสินใจเองได้

แต่ทางด้าน น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวตอบกลับว่า ได้ยินข่าวมาว่านายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองปรานวุฒิสภา ที่มีข่าวว่าจะลงชิงตำแหน่ง มีการวางจัดสรรไว้เสร็จสรรพ ว่าใครจะมาเป็นประธานและรองประธานคนที่ 1 คนที่ 2 โดยได้ข่าวว่านายนิคมมีการจัดตั้งและเป็นคนวางแผนกดดันให้ประธานฯลาออกก่อน เพื่อให้มีการเลือกประธานใหม่ อาศัยเทคนิคตรงนี้ฉวยโอกาสก่อนจะมี ส.ว.สรรหาชุดใหม่ จึงได้โทรศัพท์สอบถามนายนิคม ซึ่งได้ปฏิเสธและตนยังเป็คนต่อสายท่านนายนิคมพูดคุยกับนายประสพสุขด้วย ก็ยืนยันว่าไม่เคยทำ แต่กลับมีข่าวว่าไปให้สัมภาษณ์ให้ประธานรักษาคำพูด คิดว่าตรงนี้ไม่ถูกต้อง ใครวางแผนอยากมาเป็นประธานตอนนี้ จะถูกกรรมสนองกรรมเมื่อมี ส.ว.สรรหาชุดใหม่เข้ามา ก็จะถูกบีบบลักษณธนี้เช่นกัน จะถูกลงโทษเช่นนี้ถือว่ากรรมตามสนอง

ทำให้นายนิคมลุกขึ้นตอบโต้ว่า ยืนยันว่าไม่เคยออกมาให้ข่าวทำนองบีบประธานฯ ไม่เคยไปทวงถามที่ห้องประธานฯ ว่าจะลาออกเมื่อไหร่ ท่านยังให้เกียรติตนว่าหากลาออกก็เห็นมีเพียงตนที่จะมาเป็นประธาน โดยพูดผ่านเพื่อน ส.ว.ด้วย ยืนยันว่าไม่เคยเคลื่อนไหวและไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูงอยากเป็น แต่ตนเคยพูดไว้ว่าหากประธานลาออกก็พร้อมยินดีลงแข่งขัน ที่พูดก็เพื่อแสดงความเป็นผู้นำ ถึงไม่ได้ตำแหน่งก็ยังเป็นรองประธานฯอยู่ ไม่ได้สูญเสียอะไร แล้วทำไมจะต้องไปกดดันด้วย ท่านเป็นผู้ใหญ่เคยเป็นผู้พิพากษาคำพูดของท่านจึงมีความหมายมีนัยยะ เป็นแบบอย่างของสังคม ข่าวก็ออกมาจากท่านผู้เดียวเท่านั้น หากจะกดดันก็คงทำตั้งแต่แรก และบอกได้เลยว่ามีศักยภาพที่จะทำได้

“ผมเป็นข้าราชการมืออาชีพ เป็นนักการเมืองมืออาชีพ เป็นส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ผมมาด้วยตัวเองโดยไม่ได้อาศัยอำนาจอื่นเข้ามา ไปหาเสียงกับชาวบ้านได้มาตั้ง 5 แสนกว่าเสียง เมื่อลงสนามสู้แล้วผมไม่กลัวที่จะต้องลงสนามรบ การที่ท่านจะอยู่หรือไม่อยู่มันอยู่ที่ตัวท่าน มาถึงวันนี้ไม่ต้องลาออกแล้ว ขอให้ท่านอยู่จนครบวาระ และให้อยู่จนถึงวันที่ 19 เม.ย. ให้ท่านอยู่เป็นพยานในการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ด้วย”

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การมาเถียงกันแบบนี้ไม่มีประโยชน์ ตนไม่อยากฟังทั้งสองฝ่าย เพราะมีแต่ทำให้วุฒิสภาเสียหาย เรื่องนี้อยู่ที่ตัวประธานฯคนเดียวจะเอาอย่างไร

ขณะที่ นายเกชากล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ประธานฯ ชี้แจงด้วยว่าข้อมูลที่พูดเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ตนไม่ได้เป็นคนเริ่มเรื่องนี้เอง แต่ท่านให้รัฐมนตรีนัดตนไม่พบที่ห้องเมื่อเดือนมี.ค.2552 เนื่องจากจะมีการประเมินผลงานครบ 1 ปี ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปพบเอง มีการพูดคุยต่อหน้าประธานฯท่านคงจำได้ดี

ด้าน นายประสพสุขกล่าวชี้แจงว่า ในการสัมมนาที่โบนันซ่าครบ 1 ปีในการดำรงตำแหน่ง ท่านบอกว่าไม่ต้องประเมินตนก็บอกว่าได้อย่างนั้นก็เป็น 2 ปี ก็มุ่งมั่นว่า 2 ปีก็จะพอแล้ว แต่พอครบเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดไม่สงบ หลังเดือน ธ.ค.2553 บ้านเมืองสงบแล้ว ตนมุ่งมั่นจะทำตามพันธะสัญญาโดยก่อนปีใหม่จะลาออก แต่มีบางคนมาบอกว่าลาออกตอนนี้ไม่มีประโยชน์ ตนย้ำตลอดว่าบ้านเมืองสงบแล้วและกำหนดจะลาออกวันที่ 18 ม.ค. แต่มี ส.ว.หลายคณะเข้ามาหาให้อยู่ต่อบอกว่าเหตุการณ์ยังไม่สงบ หลายท่านบอกว่าได้ประสานกับหลายคนที่จะลงชิงก็บอกว่าไม่ติดใจแล้ว มาวันนี้มีการทวงถามอีกบางฝ่ายก็อยากให้อยู่ต่อดังนั้น ตนจึงขอให้เป็นมติของสมาชิกทุกคน ว่าจะให้ตนอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่ แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับวาระการประชุมวุฒิสภา จึงขอให้พักการประชุม 10 นาที เพื่องลงคะแนน

ทั้งนี้ จากผลการลงคะแนนด้วยวิธีเสียบบัตร ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ให้นายประสพสุขอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยคะแนน 53 ต่อ 9 งดออกเสียง 13 จากช่วงแรกที่เปิดประชุมมี ส.ว.เข้าประชุมจำนวน 137 คน โดยมี ส.ว.จำนวนมากได้เดินออกนอกห้องประชุมทันที ไม่ยอมลงคะแนน เพราะไม่อยากมีส่วนร่วมรับรู้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น