การเมืองกำลังเข้มข้น อังคารนี้(25ม.ค.) ที่ประชุมรัฐสภา จะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 วันเดียวกัน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดรวมพลคนรักชาติ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อแสดงจุดยืนและท่าทีต่อการปกป้องแผ่นดินไทยไม่ให้ถูกกัมพูชาละเมิดอธิปไตย
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวฝ่ายค้านเพื่อไทยก็น่าจับตา ในฐานะพรรคที่มีส.ส.มากที่สุดในสภาฯ ที่จะเป็นตัวแปรกับการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันไม่ได้ รวมถึงที่สำคัญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“พิชัย นริพทะพันธุ์”อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง แกนนำทีมยกร่างนโยบายพรรคและคณะทำงานเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจของเพื่อไทย มาบอกเล่าให้เราฟัง ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการซักฟอกรวมถึงทิศทางพรรคเพื่อไทย ให้พอเห็นภาพก่อนจะรู้มติพรรคอย่างเป็นทางการ ที่จะมีการประชุมกันในวันจันทร์ที่ 24 ม.ค. 2554 นี้
-การประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทยวันจันทร์ที่ 24 มกราคมนี้ ถูกจับตาอย่างมากโดยเฉพาะท่าทีของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะได้ข้อสรุปเลยหรือไม่?
จะหารือเรื่องจะให้ใครเป็นผู้นำการอภิปรายและเสนอชื่อใครเป็นแนบญัตติให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งส.ส.หลายคนก็บอกว่าครั้งนี้น่าจะเปลี่ยนแนวอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยหลายคนก็สนับสนุนนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่โดยเฉพาะความเห็นของส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรคจะเห็นอย่างไร ถ้ามีคนเสนอชื่อคนอื่นก็ต้องหารือกันและอาจจะต้องมีการลงมติกันในที่ประชุม
รวมถึงประชุมครั้งนี้จะมีการหารือถึงจุดยืนของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้พรรรก็กำลังประเมินสถานการณ์การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสองกันอยู่ เพราะเห็นว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ ถ้าเคลียร์กันไม่ได้ ก็อาจมีการพลิกผันอะไรได้ ยกเว้นตกลงกันได้
-เรื่องซักฟอกหลักๆ จะพุ่งเป้าประเด็นใด?
เป้าหลักก็คือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาล ที่มีมากและรุนแรงขึ้นจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา เห็นได้จากผลสำรวจของคนที่จ่ายเงินคือพวกหอการค้าบอกตอนนี้จ่ายกัน 25-30 เปอร์เซนต์ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีการทุจริตกันมาก รวมถึงการอภิปรายเรื่องการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยรัฐบาลไม่ออกมารับผิดชอบกับความสูญเสีย และยังมีเรื่องการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะเห็นได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจมันโตด้วยกระบวนการทางเศรษฐกิจเอง ไม่ใช่เพราะการบริหารงานหรือการออกนโยบายของรัฐบาล สองปีนี้รัฐบาลกู้มาแล้ว 8 แสนล้านบาท แต่เศรษฐกิจโต 8 เปอร์เซนต์ ทั้งที่จริงการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขนาดนี้มันต้องมีผลลัพธ์ที่ดีกว่านี้เช่นเงินหมุนเวียน จีดีพี
-ที่คนในพรรคอย่างเช่นร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง บอกว่าพรรคต้องอภิปรายแบบหนักหน่วง ต้องมีทีเด็ดทีขาด แต่ส.ส.บางส่วนกลับเห็นตรงกันข้าม จริงๆ รูปแบบจะออกมาอย่างไร?
ยืนยันว่าพรรคจะอภิปรายอย่างเข้มข้น จริงจัง ดุดันในเนื้อหาและการนำเสนอ การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ใช่จะมาชี้แนะรัฐบาล แต่ต้องบอกว่ารัฐบาลทำผิดอย่างไร ทุจริตทำผิดกฎหมายตรงไหน มีคนเจ็บคนตายใครจะรับผิดชอบ
-พร้อมแค่ไหน ข้อมูลแน่นจริงไหม?
ข้อมูลเรามีมาก อย่างทุจริตก็ที่พรรคไปทำหนังสือการทุจริตของรัฐบาลที่เห็นในช่วงสองปีก็เป็นร้อยแล้ว ในอดีตรัฐบาลไหนมีปัญหาทุจริตแค่เรื่องเดียวก็อยู่ไม่ได้แล้ว แต่รัฐบาลนี้ยังบริหารประเทศให้เสียหายกันอยู่ได้ หลายเรื่องก็แก้ไม่ได้ ตอบข้อสงสัยสังคมไม่ได้ เรื่องปฏิรูปบอกจะแก้ทุจริต ก็แสดงว่ารัฐบาลยอมรับมีการทุจริตกันจริง
-เป้าหลักคือพุ่งไปที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ?
ใช่ เพราะนายกรัฐมนตรี คือหัวหน้ารัฐบาล เมื่อปัญหามากขนาดนี้ก็ต้องรับผิดชอบ หมดแล้วที่จะมาบอกว่าตัวเองสะอาดแต่ปล่อยให้คนอื่นโกง มันต้องเลิกแล้ว เมื่อโกงก็คือโกง นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมด
-เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคจะเอาอย่างไร เห็นด้วยกับสูตรไหน?
พรรคพร้อมทุกสูตร เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะออกมาแบบไหน พรรคก็จะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากประชาชน
-แล้วปัญหาในพรรคดูเหมือนคลื่นใต้น้ำเยอะ จะขัดแย้งรุนแรงก่อนเลือกตั้งหรือไม่?
ภายนอกอาจดูเหมือนพรรคยุ่งๆ มีปัญหา แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร หากมีการเลือกตั้ง พรรคก็พร้อม แกนนำพรรคทุกคนก็จะจับมือกันทำพรรคให้กลับมาชนะเลือกตั้ง อาจเป็นแผนล่อเพื่อทำให้คนภายนอกเห็นว่าเรามีปัญหา แต่จริงๆ แล้วพรรคเข้มแข็งมาก คราวนี้เราอาจทำเป็นอ่อนแอ ป๊อกแป๊กๆ เพื่อให้คนตายใจก็ได้ รอดูได้เลย เป่านกหวีดเลือกตั้งเมื่อใด ทุกคนทุกสายจะกลับมาจับมือกัน ทำให้เป็นเพื่อไทยที่เข้มแข็งเหนือคู่แข่ง
-แล้วนโยบายหาเสียงพร้อมแค่ไหน เห็นเงียบๆอยู่?
เราเตรียมไว้หมดแล้ว ที่เราไม่ประกาศเพราะกลัวโดนลอก ขนาดไม่นานนี้ พรรคเสนอแนวคิดการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยนโยบายเต็มรูปแบบ คือ 30 ล้าน เที่ยวทั่วไทย คนไทยยิ้มได้ คือการทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยปีหนึ่งๆไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน เราวางวิธีไว้หลายขั้นตอน แค่ประกาศรัฐบาลก็เอาไอเดียเราไปก็อปปี้ เอาเข้าที่ประชุมครม.
นโยบายเราจะไม่มองเรื่องเล็กมากเกินไปอย่างเรื่องขายไข่ แต่เราจะบอกว่าโครสร้าง-ปัญหาของประเทศไทย ควรจะเปลี่ยนอย่างไร อย่างเรื่องการพัฒนาโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้ค่าขนส่งทางธุรกิจและการคมนาคมของเราสูงมากเทียบเป็น 19 เปอร์เซนต์ของรายได้ประชาชาติ ประเทศอื่นแค่ 8-10 เปอร์เซนต์ นโยบายเราคือทำอย่างไรให้ค่าขนส่งเราลดลงมาให้ได้จาก 19 เปอร์เซนต์เหลือ 10 เปอร์เซนต์ ก็ต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ไม่อยากบอกตอนนี้จะโดนลอก แต่จะเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจ เพิ่มการแข่งขัน เพราะหากเราผลิตสินค้าถูกกว่าประเทศอื่น แต่ขนส่งแพงกว่าเขา เราก็ขายไม่ถูกกว่าคนอื่นแล้ว แต่รัฐบาลไม่ได้มองภาพกว้าง หลายเรื่องพูดแล้วก็ไม่ได้ทำ หลายเรื่องทำก็เปิดช่องทุจริตเช่นงบไทยเข้มแข็ง ชุมชนพอเพียง
นโยบายของเราจะให้ความสำคัญกับชนชั้นกลางมากเป็นพิเศษ แต่ก็ดูแลทุกกลุ่มด้วย อย่างประชาธิปัตย์ที่พยายามจะลงมาหาเสียงออกนโยบายกับชนชั้นแรงงาน รากหญ้า แล้วโยนภาระไปให้ชนชั้นกลางมากขึ้นแบบนี้ก็ไม่ถูก อย่างการอุดหนุนแก๊ส ก็ทำให้ชนชั้นกลางกลับต้องมาภาระมากขึ้น มันก็ไม่ยุติธรรม เพื่อไทยจะดูแลคนทุกกลุ่มเท่ากันหมด ยืนยันว่านโยบายใหม่ ชนชั้นกลางต้องชอบอย่างมาก คนไหนยังไม่มั่นใจพรรคเพื่อไทยพอเห็นแล้วก็จะเชื่อมั่นเลยทันที
-แล้วกับคนเสื้อแดง จะเดินไปด้วยกันหรือรักษาระยะห่าง?
เราเป็นพรรคการเมือง ก็ต้องทำให้คนทุกคนมีความสุข คนเสื้อแดงก็ถือเป็นลูกค้าของเรา แต่ไม่ใช่ลูกค้ากลุ่มเดียว เราก็ต้องดูแลให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม ชนชั้นกลาง แม้เขาจะไม่เลือกเรา ก็ต้องดูแลให้ความสำคัญด้วย หากคนชั้นล่างมีความเป็นอยู่ดีขึ้น มันก็จะดีขึ้นทั้งหมด คนชั้นกลางก็จะดีตามไปด้วย
-การเมืองหลังเลือกตั้ง จะเป็นอย่างไร?
ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงเกินครึ่งการตั้งรัฐบาลก็จะราบรื่น แต่หากชนะเลือกตั้งได้เสียงมากอันดับหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าการฟอร์มรัฐบาลอาจยากบ้าง แต่อยากบอกประชาชนว่าถ้ารัฐบาลทำดี คุณก็เลือกรัฐบาล แต่เมื่อรัฐบาลทำผิด มีปัญหามาก บริหารล้มเหลว คุณก็ควรเลือกและให้โอกาสฝ่ายค้าน ถ้าจะติดแค่ว่า เลือกฝ่ายค้านตอนนี้แล้ว หากได้มาเป็นรัฐบาลจะปฏิวัติ เกิดเหตุวุ่นวาย แบบนี้ประเทศก็เดินไปไม่ได้ มันก็ไม่มีระบบตรวจสอบ คือเห็นว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ก็ยังต้องเลือก เพราะมีกำลังภายในมาให้เลือก ก็ควรให้โอกาสพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยที่มีความพร้อมทุกด้านมากกว่า