xs
xsm
sm
md
lg

ความล้มเหลวราคาแพงของรถเมล์บีอาร์ที ใครได้ประโยชน์ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ( กทม.) โดยนายธีระช มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการ กทม. ด้านการจราจรและขนส่ง เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อจัดระเบียบการจราจรในเส้นทางรถโดยสาร ด่วนพิเศษ หรือ บีอาร์ที สาย สาทร-ราชพฤกษ์

ผลการประชุมมีข้อสรุปที่สำคัญว่า จะอนุญาตให้รถเก๋ง เข้าไปแล่นในช่องทาง รถบีทีอาร์ ขาเข้าในช่วง เช้า และขาออกในช่วงเย็น ตั้งแต่สถานีที่ 10 ( เจริญราษฎร์) ถึงสถานที่ 11 ( พระราม 3) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เพราะมีประชาชนร้องเรียนมามาก และร้องเรียนมานานแล้วว่า รถบีทีอาร์ ไปแย่งช่องทางจราจร บนถนนพระราม 3 และถนนนราธิวาสราชนครินทร์

ฟังดูเหมือน คนขับรถเก๋ง จะเห็นแก่ตัว ไม่ยอมเสียสละประโยชน์ให้กับ คนที่ไม่มีมีรถ ต้องอาศัยระบบขนส่งมวลชน แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว นับตั้งแต่รถเมล์บีอาร์ที เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน ถึงเวลาแล้ว ที่ ผู้บริหาร กทม. ต้องยอมรับเสียทีว่า โครงการนี้ซึ่ง กทม.ลงทุนไปเป็นเงิน 1,400 ล้านบาท ล้มเหลว โดยสิ้นเชิง

ความล้มเหลวนั้น วัดจากจำนวนผู้มาใช้บริการ ที่ กทม. ตั้งเป้าว่า จะมีผู้โดยสารวันละ 30,000 คน ลดปริมาณรถส่วนตัวลงได้วันละ 5,000 คัน นับตั้งแต่เปิดเดินรถมา ครึ่งปี สองเดือนแรก มีผู้ใช้บริการสูงสุด 15,000-19,000 คน ต่อวัน ทั้งๆที่ให้ขึ้นฟรี เมื่อมีการเก็บค่าโดยสารคนละ 10 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นมา ผู้โดยสารลดลงไปเหลือวันละไม่ถึง 15,000 คน จนต้องลดค่าโดยสารให้นักศึกษาอายุไม่เกิน25 ปี และข้าราชการ กทม. เหลือเพียง 5 บาท และให้นักเรียน พระภิกษุ ขึ้นฟรี เมื่อการลดค่าโดยสารหมดอายุลงในตอนสิ้นปี ต้องกลับไปเก็บคนละ 10 บาท กทม. ก็ยืดอายุออกไปอีก 6 เดือน

เป้าหมายทั้งจำนวนผุ้โดยสาร และจำนวนรถที่จะลดลง จึงเป็นแค่ตัวเลข ที่กทม.ปั้นขึ้นมา เพื่อให้ โครงการดูมีประโยชน์เท่านั้น ถึงเวลาจริง ทำไม่ได้ ก็เที่ยวโทษว่า การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง คนไทยยังไม่นิยมการใช้ระบบบขนส่งมวลชน แต่ความจริงแล้ว บีอาร์ที เป็นโครงการที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการจราจร มีแต่ทำให้การจราจรติดขัดยิ่งขึ้น เพราะทำให้ช่องทางจราจรหายไป 1 ช่องทาง

ถ้าช่องทางจราจรที่หายไปนี้ จะมีรถบีอาร์ทีวิ่งไปมาทั้งวัน แต่ละคันมีผู้โดยสารเต็มคัน เชื่อแน่ว่า ผู้ที่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวบนเส้นทาง คงจะเข้าใจ และยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องกันพื้นผิวจราจร ให้กับบีอาร์ที เพราะเป็นประโยชน์ของคนส่วนมากกว่า และแม้ช่องจราจรจะลดน้อยลง แต่จำนวนรถที่ลดลงไปวันละ 5,000 คัน ตามราคาคุยของ กทม. กลับจะทำให้ การาจราจรคล่องตัวยิ่งขึ้น

แต่ข้อเท็จจริงคือ เส้นทางเดินรถบีอาร์ที กลายเป็นช่องโล่งๆ สัก10-15 นาทีจึงจะมีรถวิ่งมาสักคัน แต่ละคัน มีผู้โดยสารน้อยมาก ตามสถานีหรือป้ายจอดรถ มีผู้รอรถอยู่ไม่กี่คน ภาพที่ผู้ใช้รถใช้ถนน บนถนนพระราม 3 และ ถนนนราธิวาส ราชนครินทร์ เห็นตำตาอยู่ทุกวัน คือ ความสูญเสียที่ไร้สาระ เสียทั้งเงินที่หมดไปกับโครงการนี้ เสีย ทั้งเวลา ในการเดินทางของพวกเขา

การผ่อนผันให้รถเก๋งเข้าไปวิ่งในช่องบีอาร์ที ได้ในช่วงเวลาเช้าเย็น เป็นระยะทางสั้นๆ ใม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ถ้าจะบรรเทาปัญหาการจราจร บนเส้นทางรถบีอาร์ที กทม. ต้องยกเลิกโครงการนี้ให้เร็วที่สุด

ถ้าบีอาร์ที แก้ปัญหาการจราจรได้จริง กทม. จะยกเลิกโครงการสายหมอชิต -ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะทำไม รวมทั้ง เส้นทางอื่นๆ ที่กำหนดไว้รวม 8 เส้นทาง ใช้เงินลงทุนมูลค่า 20,000 ล้านบาท การที่ยกเลิกแสดงว่า บีอาร์ที ล้มเหลว โดยมีตัวอย่างจากสายสาทร -ราชพฤกษ์

การประชุมเมื่อวันที่ 14 มกราคมนั้น น่าจะเกิดจากการผลักดันของ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะ สส. ในพื้นที่โครงการรถบีทีอาร์ ที่มีผู้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน แต่นายอภิรักษ์นี่แหละ คือ ผู้ผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่เขาใช้หาเสียงเป็นผู้ว่า กทม. และได้ลงมือก่อสร้างเมื่อต้นปี 2550

โครงการนี้ถูกคุณหญิง ณฐนนท ทวีสิน อดีต ปลัด กทม. ในยุคนายอภิรักษ์เองนั่นแหละ ร้องเรียนต่อ ดีเอสไอว่า มีการทุจริตในการจัดซื้อรถมูลค่า 380 กว่าล้านบาท โดยบริษัททที่เข้าประมูล 2 บริษัท เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งดีเอสไอ ได้ทำการสอบสวน ลรุปว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวข้องในการฮั้วในการจัดซื้อจัดจ้าง และส่งเรื่องให้ ปปช. ชี้มูลไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551

ถึงแม้ ตำรวจนครบาลจะคัดค้านโครงการนี้ เพราะต้องเสียช่องทางจราจรไป 1 ช่อง แต่นายอภิรักษ์ก็ไม่ฟัง ยังเดินหน้าโครงการต่อไป

ถึงวันนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า โครงการบีอาร์ที ของนายอภิรักษ์ แก้ปัญหาการจราจรไม่ได้ แต่ยิ่งทำให้ การจราจรบนถนนพระราม 3 และถนนนราธิวาส ราชนครินทร์ติดหนักขึ้น นายอภิรักษ์ วันนี้ กลับไปเล่นบท ตัวแทนของผู้เดือดร้อนจากโครงการบีอาร์ที สำหรับปัญหาของบีอาร์ที นายอภิรักษ์กล่าวว่า ต้องรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น

คน กทม. ทุกวันนี้นั้น มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจ ในเรื่องระบบขนส่งมวลชนดีอยุ่แล้ว การที่ประชาชนไม่ใช้บริการบีอาร์ที เพราะ บีอาร์ที เป็นการเดินรถในระยะสั้นๆ เพียง 16 กิโลเมตร จาก ถนนสารทร ไปถึงบริเวณห้างเดอะมอลล์ บางแคเท่านั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ได้ มีผู้ได้ประโยชน์กลุ่มเล็กๆเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่

คนที่คุ้มจริงๆคือ บริษัท และนายหน้าผู้นำเข้ารถบีอาร์ที ข้าราชการและนักการเมืองที่ย่อมต้องได้ส่วนแบ่ง ในฐานะผู้ผลักดันโครงการ และ บริษัทกรุงเทพธนาคม บริษัทขอ งกทม. ซึ่งร่ำลือกันว่า เป็น “ กงสี” ของผู้มีอำนาจใน กทม. เพราะ กทม. ต้องจ่ายเงินปีละ 200 ล้านบาท ให้ กรุงเทพธนาคม เป็นเวลา 7 ปี เป็นค่าจ้าง กรุงเทพธนาคม ในการบริหารการเดินรถ ซึ่งไม่มีคนนั่ง ซึ่งกรุงเทพธนาคม ไปว่าจ้างบีทีเอส เป็นผู้เดินรถอีกต่อหนึ่ง

ในขณะที่ผู้ที่ต้องใช้ถนนตามเส้นทางเดินรถบีอาร์ที ต้องสูญเสียพื้นที่จราจรไปให้กับรถบีอาร์ที คน กทม. น้อยคนนักจะรู้ว่า พวกเขามีค่าใช้จ่ายปีละ 200 ล้านบาท ให้กับความล้มเหลวครั้งนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น