นายกฯ ให้คำมั่นพร้อมส่งเสริมและสานสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน ลั่น “อินโดจีนใหม่” ไม่จำกัดแค่ภายในอนุภูมิภาค แต่คือกลุ่มประเทศที่เป็นส่วนมีความเกี่ยวพันกันของอาเซียนที่จะกลายเป็นชุมชนเดียวไม่ถึง 4 ปีข้างหน้า พร้อมเดินหน้าเจรจาพัฒนาเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย
วันนี้ (13 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนาในหัวข้อ อินโดจีน : ภูมิภาคแห่งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งจัดโดยนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ว่า ประเทศไทยยินดีที่จะส่งเสริมและสานต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านอัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นสากล คือ ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน การสร้างประโยชน์ร่วมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน สิ่งนี้คือจิตวิญญาณของความเป็นอาเซียน ความช่วยเหลือและร่วมมือระหว่างกันของอาเซียนมีมาหลายทศวรรษ ประเทศไทยยังคงพร้อมที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าและความรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาคนี้ นอกจากนี้เรายังต้องการขยายความร่วมมือแบบไตรภาคีกับประเทศที่ 3 โดยเฉพาะในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพ
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มอนุภูมิภาค ACMECS ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยง (missing link) เพื่อให้เครือข่ายการคมนาคมภายในกรอบอนุภาคลุ่มแม่โขง (GMS) มี ศักยภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ประเทศไทยอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับประเทศเพื่อนบ้านในโครงการต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 4.20 พันล้านบาท เพิ่มเติมจากที่เคยให้ความช่วยตลอด 10 ปี ที่มีมูลค่าถึง15 พันล้านบาท ครอบคลุมการพัฒนาถนนจากแม่สอด-กอระเร็ก ซึ่งจะช่วยเชื่อมเส้นทางถนนระหว่างเวียดนามและพม่าให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ระหว่างจังหวัดนครพนมในฝั่งไทยไปยังแขวงคำม่วงในฝั่งลาว เชื่อมต่อไปยังเวียดนาม รวมทั้งการพัฒนาถนนและสนามบินในลาว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟระหว่างจีน ลาว และไทย ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และเพื่อให้การเดินทางและการท่องเที่ยวไป-มาอย่างสะดวก ไทยและกัมพูชาได้ริเริ่มโครงการนำร่องคือ “5 ประเทศ 1 ปลายทาง” ซึ่งเป็นโครงการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ภายใต้โครงการ ACMECS Single Visa และหวังว่าในอนาคตจะมีประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคเข้าร่วม
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ “อินโดจีนใหม่” นั้นความก้าวหน้าไม่จำกัดแค่ภายในอนุภูมิภาคเท่านั้น แต่อินโดจีนใหม่ คือ กลุ่มประเทศที่เป็นส่วนมีความเกี่ยวพันกันของอาเซียน ที่จะกลายเป็นชุมชนเดียวไม่ถึง 4 ปีข้างหน้านี้ เมื่อนั้นชุมชนอาเซียนจะมีประชากรเกือบ 700 ล้านคน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงถึง 2.69 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) รวมทั้งความตกลงการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรต่างๆ ยิ่งเพิ่มศักยภาพและทำให้อาเซียนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เมื่ออาเซียนกลายเป็น ชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) สิ่งสำคัญเบื้องต้น คือ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า โดยผ่าน ASEAN Green Lane, ASEAN Single Window และ Self-Certification schemes เพื่อ ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ ประเทศไทยในฐานะประเทศก่อตั้ง ถือเอาการสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาอินโดจีน เป็นหัวใจเพื่อเป็นกำลังสำคัญของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ายังคงมีความท้าทายรออยู่ภายในอนุภูมิภาค ทั้งการก้าวให้ทันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพื่อให้อาเซียนเป็นใจกลางหลักของความร่วมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเชียตะวันออก ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การลดช่องของการพัฒนาและรายได้ ทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และทักษะของแรงงาน รวมทั้งการความยากจนและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ยังคงไม่ได้มาตรฐานต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายสหัสวรรษใหม่