xs
xsm
sm
md
lg

จีนพร้อมรับเงื่อนไขร่วมทุนรถไฟไทย ชูเป็นเส้นหลักเชื่อมอาเซียน แนะแยกปัญหาดินแดน-ธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ทูตจีน”ชี้เงื่อนไขการร่วมทุนรถไฟไทย-จีนไม่เป็นปัญหา เชื่อ 2 ฝ่ายตกลงกันได้ เผยรัฐบาลจีนหนุนรถไฟความเร็วสูงหนองคาย-กรุงเทพฯ เต็มที่ ยาหอมกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของการขนส่งในภูมิภาค "อภิสิทธิ์" หวังอินโดจีนใหม่เป็นกำลังสำคัญของอาเซียน "บางกอกแอร์เวย์ส" เตือนรัฐบาลแยกปัญหาข้อพิพาทเขตแดนกับธุรกิจออกจากกัน เร่งหามิตรแท้ก่อนถูกโดดเดี่ยว

นายก่วน มู่ เอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวในการสัมมนาหัวข้อเรื่อง อินโดจีน: ภูมิภาคแห่งโอกาสและความท้าทาย (Indochina Vision : The Region of Opportunity & Challenge) ที่จัดโดยนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา วานนี้ (13 ม.ค.) ว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ นั้น ในหลักการทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันแล้ว ส่วนการร่วมทุนนั้นจะมีการหารือตกลงในรายละเอียดเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าจะสามารถตกลงกันได้ หากทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อมั่นและมองว่าเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะทำให้เกิดประโยชน์และการพัฒนา เพราะจะเป็นเส้นทางหลัก ทำให้เครือข่ายด้านการขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสารจากด้านใต้ของจีนผ่านลาว-ไทยไปที่มาเลเซียและสิงคโปร์มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ดังนั้นเงื่อนไขของการร่วมทุนที่แต่ละฝ่ายจะนำเสนอนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและความสามารถของแต่ละฝ่าย

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและจีนได้เจรจาความร่วมมือพยายามที่จะสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับการพัฒนาของภูมิภาคนี้ให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงมีข้อดีทั้งใช้ที่ดินน้อย ใช้ระบบไฟฟ้าที่ไม่มีมลภาวะ มีความปลอดภัยกว่าเครื่องบินและรถยนต์รวมทั้งมีความสะดวกสบาย สามารถขนส่งได้มากกว่าขนส่งประเภทอื่น โดยต้องการให้การก่อสร้างช่วงหนองคาย-กรุงเทพฯ แล้วเสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเส้นทางในประเทศลาว

“ตามภูมิศาสตร์ กรุงเทพมหานครถือว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ตอนนี้วิชั่นต้องมองให้เหมือนกัน คือ ถ้าเส้นทางนี้เกิดเศรษฐกิจของอาเซียนโดยรวมจะดีขึ้น การเดินทางขนส่งที่สะดวกจะประหยัดเวลา เพราะเวลาคือเงิน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ในปีนี้ เชื่อว่าคนจีนจะเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน เพราะคนจีนจะรู้สึกว่าเหมือนมาเยี่ยมญาติ ”นายก่วน มู่กล่าว

ทั้งนี้ จีนตัดสินใจเลือกลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับอาเซียนโดยผ่านทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งแม้จะมีการวิจารณ์ว่าแนวเส้นทางที่ผ่านสปป.ลาวนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมาก ผลตอบแทนน้อย ผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งน้อย สาเหตุสำคัญเพราะพื้นที่มีภูเขามาก ต้องเจาะอุโมงค์และก่อสร้างสะพานถึง 70% ของระยะทางทั้งหมด เฉพาะอุโมงค์ยาวกว่า 10 กิโลเมตรมีถึง 4 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อสร้าง 4-5 ปี แต่จีนเห็นว่าแนวเส้นทางดังกล่าวจะมีบทบาทและเป็นเส้นทางหลักเพราะจะผ่านกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการขนส่งอาเซียน

ปัจจุบันจีนมีการพัฒนาด้านรถไฟอย่างมาก โดยรถไฟความสูงเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร จะเปิดเป็นทางการเดือนมิ.ย. 2554 ในระหว่างทดสอบสามารถทำความเร็วได้สูงสุดในโลกที่ 486.1 กม./ชม.โดยจะให้บริการที่ 350 กม./ชม. โดยมีรถไฟความเร็วสูงระยะทางรวมทั้งหมดถึง 8,000 กิโลเมตร และอีก5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 13,000 กิโลเมตร ครอบคลุมการเดินทางเมืองใหญ่และรองรับการเดินทางประชากรได้ 80-90% ของทั้งประเทศ ส่วนทางน้ำมีท่าเรือขนาดใหญ่ถึง 8 ท่าใน10 อันดับแรกของโลก มีเครื่องบินถึง 4,000 ลำ และจะเพิ่มอีกเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า มีถนนยาวกว่า 70,000 กิโลเมตร

สำหรับความร่วมมือไทย-จีนเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น ขณะนี้ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการสรุปการจัดทำร่างเอ็มโอยู โดยจะเสนอให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ไทย-จีน เพื่อลงทุนก่อสร้าง ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 51 % ซึ่งจะรับผิดชอบการก่อสร้าง และเป็นเจ้าของสิทธิในการให้บริการ 30 ปี และต่อสัญญาแบบอัตโนมัติอีก 20 ปี โดยบริษัทฯ ร่วมทุนนี้ จะได้สิทธิ์ในการก่อสร้าง และทำประโยชน์เกี่ยวกับเชิงพาณิชย์ เช่นการพัฒนาสถานี รวมทั้งจะต้องมีการตั้งบริษัทขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อรับสิทธิในการเดินรถจากบริษัทร่วมทุนบริษัทแรก ทั้งด้านการบริหารเชิงพาณิชย์และรองรับบริการรถสินค้าในอนาคตด้วย

โดยตามขั้นตอนจะต้องนำรายละเอียดทั้งหมดไปหารือกับจีน ภายในเดือนมกราคม 2554 นี้ จากนั้นจะสรุปเรื่องและเสนอไปยังที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว คาดว่าภายในเดือนมีนาคม หรืออย่างช้าเดือนเมษายน 2554 จะสามารถลงนามอย่างเป็นทางการกับจีนได้ ซึ่งหลังจากที่มีการหารือกับจีนได้ข้อสรุปแล้วคาดว่าภายในเดือนเมษายน 2554 จะลงนามอย่างเป็นทางการกับจีนได้

จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายจะทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจและวิศวกรรม สำรวจออกแบบ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นจะใช้เวลา4 ปีในการก่อสร้าง และคาดว่าภายในปี 2558 จะสามารถเปิดใช้ได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานสัมมนา"อินโดจีน: ภูมิภาคแห่งโอกาสและความท้าทาย" ว่า ประเทศไทยยินดีที่จะส่งเสริมและสานต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของความเป็นสากล คือ ไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน การสร้างประโยชน์ร่วมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน สิ่งนี้คือจิตวิญญาณของความเป็นอาเซียน ความช่วยเหลือและร่วมมือระหว่างกันของอาเซียนมีมาหลายทศวรรษ ประเทศไทยยังคงพร้อมที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าและความรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ เรายังต้องการขยายความร่วมมือแบบไตรภาคีกับประเทศที่สาม โดยเฉพาะในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาขาอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มอนุภูมิภาค ACMECS ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยง (missing link) เพื่อให้เครือข่ายการคมนาคมภายในกรอบอนุภาคลุ่มแม่โขง (GMS) มีศักยภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ประเทศไทยอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับประเทศเพื่อนบ้านในโครงการต่างๆ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 4.20 พันล้านบาท เพิ่มเติมจากที่เคยให้ความช่วยตลอด 10 ปี ที่มีมูลค่าถึง1.5 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมการพัฒนาถนนจากแม่สอด-กอระเร็ก ซึ่งจะช่วยเชื่อมเส้นทางถนนระหว่างเวียดนามและพม่าให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ระหว่างจังหวัดนครพนมในฝั่งไทยไปยังแขวงคำม่วงในฝั่งลาว เชื่อมต่อไปยังเวียดนาม รวมทั้งการพัฒนาถนนและสนามบินในลาว

ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟระหว่างจีน ลาว และไทย ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา เพื่อให้การเดินทางและการท่องเที่ยวไป-มาอย่างสะดวก ไทยและกัมพูชาได้ริเริ่มโครงการนำร่องคือ “5 ประเทศ 1ปลายทาง” ซึ่งเป็นโครงการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค ภายใต้โครงการ ACMECS Single Visa และหวังว่าในอนาคตจะมีประเทศอื่นๆในอนุภูมิภาคเข้าร่วม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ “อินโดจีนใหม่” นั้นความก้าวหน้าไม่จำกัดแค่ภายในอนุภูมิภาคเท่านั้น แต่อินโดจีนใหม่ คือ กลุ่มประเทศที่เป็นส่วนมีความเกี่ยวพันธ์กันของอาเซียนที่จะกลายเป็นชุมชนเดียวไม่ถึงสี่ปีข้างหน้านี้ เมื่อนั้น ชุมชนอาเซียนจะมีประชากรเกือบ 700 ล้านคน และ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงถึง 2.69 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ฯ และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) รวม ทั้ง ความตกลงการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับพันธมิตรต่างๆ ยิ่งเพิ่มศักยภาพและทำให้อาเซียนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

เมื่ออาเซียนกลายเป็น ชุมชนเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) สิ่งสำคัญเบื้องต้น คือ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า โดยผ่าน ASEAN Green Lane, ASEAN Single Window และ Self-Certification schemes เพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ ประเทศไทยในฐานะประเทศก่อตั้ง ถือเอาการสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาอินโดจีน เป็นหัวใจเพื่อเป็นกำลังสำคัญของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ยังคงมีความท้าทายรออยู่ภายในอนุภูมิภาค ทั้งการก้าวให้ทันกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เพื่อให้อาเซียนเป็นใจกลางหลักของความร่วมกลุ่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือ เอเชียตะวันออก ความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การลดช่องการพัฒนาและรายได้ ทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะของแรงงาน รวมทั้งการความยากจนและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ยังคงไม่ได้มาตรฐานต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายสหัสวรรษใหม่

****”บางกอกแอร์เวย์ส”แนะไทย
หามิตรแท้ก่อนถูกโดดเดี่ยว

นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า มุมมองของตนในเรื่องอินโดจีนนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการบินเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไทยกับ 4 ประเทศอาเซียนคือ ลาว พม่า กัมพูชาและเวียดนามไม่ได้เป็นเพื่อนสนิทกัน

เพราะรัฐบาลไทยมักมองเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เช่น กรณีข้อพิพาทเขตแดนกับกัมพูชา ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจจะทำให้ไทยถูกโดดเดี่ยวได้ในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลไทยควรแยกเรื่องข้อพิพาทกับการทำธุรกิจออกจากกัน เพราะปัญหาข้อพิพาทต้องใช้กฎหมายและศาลตัดสิน

ทั้งนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวปีละ 14 ล้านคน ขณะที่ 4 ประเทศมีนักท่องเที่ยวรวมกัน 9 ล้านคน ไทยใหญ่กว่ามาก แต่ปัญหาเรื่องพรมแดนเริ่มส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจการบินแล้ว เพราะขณะนี้กัมพูชาได้ให้สายการบินเวียดนามเข้าไปทำการบินเส้นทางภายในประเทศได้ ส่วนไทยได้แค่การบินเข้าไปเท่านั้น
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือ หาก 4 ประเทศจับมือกันทางการบินจะทำให้สายการบินของทั้ง 4 ประเทศสามารถบินข้ามประเทศโดยไม่ต้องจ่ายค่าบินผ่านน่านฟ้า ในขณะที่สายการบินของไทยต้องจ่าย ต้นทุนก็จะสูงกว่า มีผลกระทบต่อการแข่งขันแน่นอน ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจการบินต้องอยู่ใต้กติกาของรัฐบาล ไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้ แต่เมื่อมีปัญหาจะได้รับความเสียหายก่อน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนถ้าเราสูงกว่าก็แข่งขันยาก

“ที่ผ่านมา ผมพยายามผลักดันเรื่องแม่โขงวีซ่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปใช้วีซ่าใบเดียวเข้าได้ทั้ง 5 ประเทศ แต่รัฐบาลไม่สนใจจึงไม่คืบหน้า ซึ่งหากทำได้จะทำให้เกิดความสะดวกด้านการท่องเที่ยวและสามารถดึงนึกท่องเที่ยวจากอเมริกาและยุโรปเข้ามาได้เพิ่มมากขึ้น แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีปัญหา กับเวียดนามก็ถือเป็นคู่แข่งกัน

กับลาวก็เฉยๆ เราเหมือนไม่มีเพื่อนเลย ถ้า 4 ประเทศจับมือกัน ไทยจะลำบาก ปัญหาพรมแดนหลายประเทศทั่วโลกก็มีปัญหากัน จีน-รัสเซีย ก็มี แต่ไม่กระทบกับการทำธุรกิจ ผมเห็นว่าอินโดไชน่าเป็นหัวใจของภูมิภาค ทั้ง 5 ประเทศจะต้องร่วมมือเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง”นายแพทย์ปราเสริฐกล่าว
ในปี 2554 คาดว่า ผู้โดยสารของบางกอกแอร์เวย์สจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่มีผู้โดยสาร 2.65 ล้านคน อีกประมาณ 10% โดยจะมีการเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-มุมไบ ในเดือนมี.ค.จำนวน 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และปลายเดือนมี.ค.เปิดเส้นทางกรุงเทพฯ-บังคลาเทศ จำนวน 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และปลายปีจะมีเครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 2 ลำ
กำลังโหลดความคิดเห็น