ผ่าประเด็นร้อน
ผ่านกันไปแบบฉิวเฉียดและออกมาในลักษณะกินแหนงแคลงใจลึกๆระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กกับพรรคประชาธิปัตย์ กรณีโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 93-98 ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา เนื่องจากเสียงออกมา 18 ต่อ 17 หลังจากในตอนแรกออกมาเท่ากัน คือ 17 ต่อ 17 จนประธานคณะกรรมาธิการฯจากพรรคประชาธิปัตย์คือ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ต้องใช้สิทธิ์ลงคะแนนผลจึงออกมาอย่างที่เห็น
สำหรับการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวก็คือในเรื่องสัดส่วน ส.ส.ที่พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา รวมชาติพัฒนา เพื่อแผ่นดิน เป็นต้น ต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่าต้องใช้สูตร 400-100 เหมือนกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญสมัยปี 2540 นั่นคือสัดส่วนใช้ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
ขณะที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ยืนยันกรานว่าต้องใช้สูตร 475-125 โดยอ้างว่าต้องยึดตามข้อสรุปของคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดที่มี สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เป็นประธาน และให้เหตุผลในเรื่องการพัฒนาระบบพรรคมากกว่าการยึดถือตัวบุคคล อีกทั้งร่างของคณะรัฐมนตรีที่ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในหลักการวาระแรกนั้นก็สนับสนุนตามร่างแบบนี้ไปแล้ว จึงไม่สมควรเปลี่ยนแปลงแก้ไข รวมไปถึงยืนยันว่าไม่มีเรื่องที่ว่าพรรคไหนได้เปรียบเสียเปรียบ
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องพิจารณากันในความเป็นจริงก็คือ มันมีเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างแน่นอน ส่วนจะใครได้ใครเสียก็ต้องมาว่ากันทีละส่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เข้าใจได้ไม่ยาก
เริ่มจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคขนาดเล็กทั้งหมด ที่ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้ก็ด้วยเหตุผลเพื่อความอยู่รอดและได้ประโยชน์ในสนามเลือกตั้งนั่นแหละ เพราะหากไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ ตัวเองก็จะเสียเปรียบ บางพรรคถึงขนาดมีโอกาส “สูญพันธุ์” เอาได้ง่ายๆ แต่หากเปลี่ยนแปลงมาเป็นแบบ “เขตเล็ก” เขตเดียวเบอร์เดียว ก็ใช้ความสามารถเฉพาะตัวเอาตัวรอดเข้ามาได้
ที่สำคัญเมื่อเขตเลือกตั้งเล็กลงมันก็สามารถ “ซื้อ” ได้ง่ายอีกด้วย !!
นอกเหนือจากนี้ หากกลับไปใช้ระบบเดิมที่เป็นเขตใหญ่ทำให้ตัวเองรู้สึกเสียเปรียบ “กระแส” ของพรรคใหญ่ ซึ่งในที่นี้ยังเป็นพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันเมื่อใช้แบบสัดส่วน 475 -125 ก็ต้องไปลดจำนวน ส.ส.เขตลงมา ซึ่งก็กลายเป็นว่าจังหวัดที่ต้องหดหายไปส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นหลักซึ่งเป็นพื้นที่ฐานเสียง หากระบุให้เห็นก็คือพรรคภูมิใจไทย ของ เนวิน ชิดชอบ เพื่อแผ่นดิน รวมชาติพัฒนา ของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ หรือแม้แต่ชาติไทยพัฒนา ของ บรรหาร ศิลปอาชา นั่นแหละ
เมื่อเห็นภาพแบบนี้แล้วมันก็ต้องยืนยันในเรื่องจำนวนตัวเลขสัดส่วนของ ส.ส.เขตให้มากที่สุด ซึ่งเพื่อความสมเหตุสมผลและเคยมีเคยใช้มาแต่เดิมก็คือตัวเลข 400 ต่อ 100 คน
อย่างไรก็ดีเมื่อ “เขี้ยวชนเขี้ยว” มันก็ต้องพิสูจน์ว่าใครเหนือกว่ากัน ซึ่ง “ยกแรก” ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายชนะ
หากพิจารณาจากฝ่ายประชาธิปัตย์บ้างมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าต้องการให้ตัวเอง “ได้ประโยชน์” มากที่สุด
อย่างที่บอกตั้งแต่แรกแล้วว่าหากใช้สูตร 375 ต่อ 125 นั่นย่อมหมายความว่าต้องลดจำนวน ส.ส.เขตลงมา ซึ่งส่วนใหญ่ไปลดในพื้นที่ภาคอีสาน ขณะที่ภาคใต้ ภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานครลดในสัดส่วนที่เล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกัน และไม่ต้องอธิบายมากก็น่าจะหลับตานึกภาพออกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของพรรคไหนและพรรคไหนเสียเปรียบ
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในส่วนของบัญชีรายชื่อหากใช้สัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ก็ต้องบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ชอบใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลสถิติการเลือกตั้งย้อนหลังก็พบทันทีว่า “คะแนนพรรค” ไม่ได้เป็นรองพรรคพลังประชาชนเท่าใดนัก ผลคะแนนออกมาในลักษณะสูสีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนั่นเป็นช่วงที่ “กระแสแม้ว” พุ่งปรี๊ดมากกว่านี้นับสิบเท่า
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่บรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ไล่ลงมาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค สุเทพ เทือกสุบรรณ รวมไปถึงคนอื่นต่างออกมาประสานอ้างความเหมาะสมตามสูตรนี้และยกเอาเหตุผล ข้อสรุปของคณะกรรมการแก้ไขชุดของ สมบัติ มาบังหน้า
อย่างไรก็ดีแม้ว่านาทีนี้ฝ่ายประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะตามต้องการ แต่ในเมื่อคะแนนเฉียดฉิว มันก็ทำให้หวาดเสียวเมื่อต้องโหวตในสภาอีกรอบ ซึ่งต้องรอดูว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่ “กลืนน้ำลาย” หันกลับมาร่วมโหวตป่วนอีกรอบหรือไม่
ขณะที่ประชาธิปัตย์ก็เตรียมแก้เกมเอาไว้พร้อมแล้ว โดยเฉพาะการงัดไม้ตายยกเอาเรื่อง “ยุบสภา” กะทันหันมาข่มขวัญหากร่างแก้ไขไม่ผ่านสภา ดังที่ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ แย้มออกมาให้เห็นแล้ว
นั่นเป็นภาพที่ปรากฏ ซึ่งชาวบ้านคงจะรู้เท่าทัน
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงให้เห็นว่านี่คือเกมต่อรองผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมืองเพื่อ “เอาตัวรอด” เท่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับชาวบ้านทั่วไปเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันแม้ว่าภาพที่ออกมามีลักษณะขัดแย้งจริงจังก็ตาม แต่ในที่สุดเมื่อแต่ละฝ่ายสามารถต่อรองกันได้ลงตัวพวกเขาก็พร้อมจับมือยิ้มแย้มกันได้เสมอ แต่นาทีนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าประชาธิปัตย์กำลังถือไพ่เหนือกว่า ก็ต้องหากำไรให้มากที่สุดเท่านั้นเอง !!