xs
xsm
sm
md
lg

แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นสัดส่วน ส.ส.ระเบิดเวลาลูกใหญ่!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผ่าประเด็นร้อน

นาทีนี้ถ้าไม่มีเรื่องเขมรจับกุม 7 คนไทยมาคั่นรายการ รับรองว่ากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนแปรญัตติชั้นกรรมาธิการจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงจนกลายเป็นความขัดแย้งที่น่าจับตามองอย่างแน่นอน

ซึ่งสาเหตุแบบนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาบานปลายได้ทุกเมื่อ หากไม่อาจต่อรองกันได้ลงตัว

เพราะถ้าดูแนวโน้มแล้วความขัดแย้งได้เริ่มขยายออกไปวงนอก นั่นคือ พรรคเพื่อไทยได้ฉวยโอกาสเข้ามาผสมโรงหันมาจับคู่ ถือหางทางฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล เพื่องัดข้อกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ ในลักษณะแสดงหา “จุดร่วม” และ “สงวนจุดต่าง” สรุปก็คือมีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็จับมือกัน

อย่างไรก็ดี ก่อนจะไปข้างหน้าต้องย้อนให้เห็นประเด็นสาเหตุคร่าวๆ เสียก่อนว่ามาจากเรื่องใด ก็ต้องเริ่มมาจากผลสรุปของคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ชุดที่มี สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เป็นประธานได้สรุปตัวเลขสัดส่วน ส.ส.ออกมาเป็น ส.ส.เขต 375 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน โดยอ้างอิงเหตุผลในเรื่องการพัฒนาระบบพรรคการเมือง ยึดถือระบบมากกว่าตัวบุคคล อะไรประมาณนี้แหละ

บังเอิญไปตรงใจพรรคประชาธิปัตย์เข้าจังเบ้อเร่อ จึงออกโรงสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับระบุเพิ่มเติมแบบ “เนียนๆ” เข้าไปอีกว่า เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวเข้ามาพิจารณาศึกษาเมื่อผลสรุปออกมาอย่างก็ต้องให้เกียรติ

ขณะที่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า หากออกมารูปนี้ทำให้ตัวเองเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง เพราะนั่นเท่ากับไปลดจำนวน ส.ส.เขตลง ซึ่งพวกเขาต้องการให้กลับไปใช้แบบที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั่นคือ ส.ส.เขตจำนวน 400 คน แบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่ออีก 100 คน ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน แต่ระบบสัดส่วนมีแค่ 80 คน เท่านั้น

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคขนาดกลางและเล็กต่างต้องการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็ด้วยเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในสนามการเลือกตั้ง โดยให้การแบ่งเขตเล็กลง หรือระบบเขตเดียวเบอร์เดียว จำนวน 400 เขต

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพก็ต้องมาพิจารณาในรายละเอียด โดยต้องชี้ให้เห็นสาเหตุว่าแต่ละพรรคทำไมถึงต้องดึงดันสนับสนุนแนวทางของตัวเองอย่างสุดลิ่มซึ่งล่าสุดมีการโยงข้ามฟากลากเอาพรรคเพื่อไทยมาร่วมผสมโรงด้วย แต่สรุปเป็นคำตอบเอาไว้ก่อนว่า งานเป็นผล “ประโยชน์ส่วนตัว” ล้วนๆ ชาวบ้านไม่เกี่ยว

เริ่มจากพรรคพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยของเนวิน ชิดชอบ หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ของ “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชารวมไปถึงพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ ที่หวังว่าจะเอาตัวรอดมาจากการ “แบ่งเขตเล็ก” ที่มีเสียงกล่าวหาว่า “ซื้อง่าย” ก็ตาม ดังนั้นก็ต้องยืนยันหลักการดังกล่าวอย่างเหนียวแน่น และต้องต่อสู้ให้ได้ตัวเลข 400 เขต โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญปี 2540

นอกเหนือจากนี้ หากไปใช้หลักการที่เสนอโดยคณะกรรมการอิสระชุดสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ที่ใช้สัดส่วน 375 ต่อ 125 นั่นก็ย่อมหมายความว่า ไปลดจำนวนเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ที่กระทบมากที่สุดก็เป็นภาคอีสาน และภาคเหนือ ขณะที่ภาคใต้ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานครกระทบน้อยที่สุด

หากพิจารณาตามตัวเลขก็จะเห็นชัดเจน คือ ภาคอีสาน ส.ส.เขตลดลง 9 คน ภาคเหนือลดลง 7 คน ภาคกลาง 3 คน กรุงเทพฯ 2 คน ขณะที่ภาคใต้ 4 คน เห็นตัวเลขก็น่าจะเห็นภาพได้ดี

ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นตัวเลขแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกระโดดเข้าร่วมแจมด้วย เพราะหากปล่อยให้ผ่านไปแก้ไขสำเร็จตามแนวทาง 375 ต่อ 125 มันก็ย่อมส่งผลสะเทือนต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคในการเลือกตั้งคราวหน้าด้วย ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่เวลานี้มีการส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะเข้ามาโหวต “ขวาง” ในวาระที่สองและสามร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ในประเด็นตัวเลขดังกล่าว

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์หากเดินตามแนวทางของคณะกรรมการชุดสมบัติ ก็เป็นที่แน่นอนว่าตัวเองได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง เพราะในความเป็นจริงรู้กันอยู่แล้วว่ามีความเสียเปรียบในพื้นที่ภาคอีสานกับภาคเหนือหรือแม้แต่ภาคกลางในบางจังหวัดหากเป็นการเลือกตั้งระบบเขต ส่วนพื้นที่ภาคใต้ไม่ต้องพูดถึงรู้กันอยู่แล้ว ขณะที่การเลือกตั้งแบบ “เลือกพรรค” กลับไม่เสียเปรียบ พิสูจน์ได้จากกรณีการเลือกตั้งที่ผ่านมาแทบทุกครั้ง แม้กระทั่งกับพรรคพลังประชาชนเมื่อครั้งที่แล้วก็ไม่ได้พ่ายแพ้ มีคะแนนคู่คี่กัน

ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มตัว โดยยึดโยงไปกับข้อสรุปของคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯชุดของสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เป็นประธานที่อ้างอิงในเรื่องการพัฒนาระบบพรรคการเมือง มากกว่าตัวบุคคล

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขได้เสียดังกล่าวข้างต้นของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว เชื่อว่างานนี้จะต้อง “งัดข้อ” กันดุเดือดแน่ เพราะเบื้องต้นแต่ละฝ่ายยังเดินหน้าตามแนวทางของตัวเอง เพื่อรักษาประโยชน์ให้ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันทางฝ่านพรรคเพื่อไทยก็ได้เห็นช่อง “ผสมโรง” ป่วนเข้ามาอีกแรงมันก็ยิ่งมีแนวโน้มสนุกขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันเป็นเรื่องของพวก “นักเลือกตั้ง” นักซื้อเสียง ขณะที่ชาวบ้านไม่เกี่ยว เพราะงานนี้ นักการเมืองย่อมมาก่อน

แต่ถ้าให้สรุปความก็ต้องเข้าใจว่า นี่คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่หากกู้ไม่ทัน ความหายนะอาจเกินความคาดหมายก็เป็นได้!!
เนวิน ชิดชอบ
บรรหาร ศิลปอาชา
กำลังโหลดความคิดเห็น