xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชนะแก้รธน. 18 ต่อ 17 ลากเกมกัดกันต่อวาระ2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เป็นแค่ชัยชนะนัดแรกเท่านั้นกับมติ 18 ต่อ 17 เสียง ของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของส.ส. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีมติไปเมื่อวันอังคารที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา เฉือนกันแบบเฉียดฉิวเพียงหนึ่งเสียง

หลังจากที่ประชุมมีการโหวตกันว่า จะยืนยันหลักการเดิมเรื่องที่มาของส.ส.ตามร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระแรกคือให้มีส.ส.ระบบเขตแบบวันแมนวันโหวต หรือเขตเดียวเบอร์เดียว 375 คนและระบบบัญชีรายชื่อ 125 คน ตามร่างที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพและประชาธิปัตย์แสดงท่าทีมาตลอดว่า จะผลักดันร่างนี้ให้ผ่านความเห็นชอบ และมีผลบังคับใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ขณะที่กรรมาธิการจากซีกพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-รวมชาติพัฒนารวมถึงเพื่อแผ่นดิน ซึ่งประกอบด้วย มานิต นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย ภารดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา วินัย ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร พรรครวมชาติพัฒนา นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อแผ่นดิน และรุ่นใหญ่อย่างพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต่างอ้างว่า

ประชาชนต่างสนับสนุนให้มีการแก้ไข โดยให้มีส.ส.เขต 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยเหตุผลว่า การมีส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 400 คนย่อมดีกว่า 375 คน อ้างด้วยว่าการไปลดส.ส.เขตทำให้การเข้าถึงหรือการดูแลปัญหาประชาชนในแต่ละจังหวัดจะหายไปถึง 25 เขตเลือกตั้ง

ในการลงมติ ซึ่งผลการลงมติของคณะกรรมาธิการฯได้คะแนนเสียงเท่ากันคือ 17 ต่อ 17 สุดท้าย “เทอดพงษ์ ไชยอนันต์”ประธานคณะกรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกเสียงชี้ขาด ซึ่งก็เป็นไปตามคาดที่ต้องยึดตามเสียงของกรรมาธิการจากประชาธิปัตย์คนอื่นคือให้ใช้สูตร 375+125

เมื่อผลออกมาแบบนี้ กรรมาธิการจากซีกพรรคร่วมรัฐบาลจึงขอสงวนคำแปรญัตติทั้งหมด เพื่อขอไปใช้สิทธิ์อภิปรายในวาระ 2 ในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

นี่คือสิ่งที่ทำไมถึงบอกว่ามันแค่ชัยชนะยกแรกของประชาธิปัตย์ เพราะดูแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-รวมชาติพัฒนารวมถึงเพื่อแผ่นดิน ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ได้ส่งคนร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย จะไปลุ้นสู้ต่อในยกที่สอง เพื่อหวังจะคว่ำมติ 18 ต่อ 17 ของคณะกรรมาธิการ!

เพราะต้องไม่ลืมว่า ฝ่ายเพื่อไทยเองตอนนี้ ส.ส.หลายคนโดยเฉพาะพวกที่ขอลงส.ส.เขตของเพื่อไทย ต่างก็ต้องการให้พรรคกลับมาร่วมสังฆกรรมในการอภิปรายและโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเหตุผลหลายเรื่อง

เช่น หากใช้สูตร 375 จะทำให้พื้นที่เลือกตั้งภาคอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพรรคเพื่อไทยในตอนนี้หายไปเกิน 10 ที่นั่ง ซึ่งลำพังปัจจุบันพรรคก็มีปัญหาเรื่องผู้สมัครล้นกว่าจำนวนที่จะส่งลงเลือกตั้งระบบเขตได้อยู่แล้วโดยเฉพาะที่อีสานซึ่งต้องเข้าคิวขอลงเลือกตั้ง ดังนั้นหากโควต้าต้องหายไปอีกนับสิบเขตเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทยมีปัญหามากขึ้น คือต้องมาเกลี่ยพื้นที่เกลี่ยตัวคนลงเลือกตั้งกันใหม่แล้ว ยังทำให้ตัวเลขส.ส.อีสานที่เชื่อได้ว่าอย่างน้อย 5 ที่นั่งจากที่จะหายไปซึ่งได้แน่นอน ก็ตีค่าเป็นศูนย์ทันที

อีกทั้งพรรคเพื่อไทยก็รู้ดีว่า การที่ประชาธิปัตย์ผลักดันสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คนเพราะระบบนี้ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ยิ่งตอนนี้กระแสพรรคตกลงแต่กระแสตัวส.ส.เพื่อไทยแต่ละคนยังพอแก้ไขปัญหาเอาตัวรอดได้ มันก็ยิ่งทำให้ประชาธิปัตย์มีสิทธิ์จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ล็อตใหญ่ชนิดมีลุ้นจะชนะเพื่อไทยได้แม้จะเป็นรองที่ภาคอีสานและเหนือแต่ก็ไม่น่าจะห่างแบบถล่มทลายมากนัก

อย่างไรก็ตาม พบว่าเสียงในเพื่อไทย ก็ยังแตกกันอยู่ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็แย้งว่า เพื่อไทยควรรักษาหลักการเดิมคือไม่ร่วมโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆทั้งสิ้น แต่ให้อภิปรายได้

เพราะหากไปร่วมโหวตหนุนแก้ไขให้กลับมาเป็นสูตร 400+100 แม้เพื่อไทยก็จะได้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่ที่เห็นชัดเลยก็คือจะกลายเป็นว่า เพื่อไทยไปเป็น “เครื่องมือ”ให้กับเนวิน ชิดชอบ-บรรหาร ศิลปอาชา แบบนี้มันก็เสียเหลี่ยมทางการเมืองพรรคใหญ่หมด

ดังนั้น เมื่อมีการประชุมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน วาระ 2 และ 3 ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ก็จะทำการอภิปรายยกเหตุผลมาอธิบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้โหวตเสียงเห็นด้วยกับสูตร 400+100

ตัวแปรสำคัญก็คือเสียง “เพื่อไทย”นั่นเอง ว่าจะลงมาเล่นเกมนี้ด้วยหรือไม่ ขณะที่ซีกสว.คงไม่มีผลอะไรมากนัก ในการต่อรองครั้งนี้ของพรรคการเมืองต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น