xs
xsm
sm
md
lg

“บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา” ชี้ ASTV ตัวอย่างปฏิรูปสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 มกราคม 2554
อดีตคณบดีวารสารศาสตร์และสื่อฯ มธ.ชี้ ASTV เป็นหัวหอกสื่อใหม่ที่อยู่นอกระบบ เทียบชั้นตักศิลาการเมืองไทย เป็นผู้กำหนดคิวทางการเมืองว่าจะเล่นอะไร มองสื่อกระแสหลักทำเป็นขอนอนหลับทับสิทธิ์ เล่นบทเป็นกลางแบบหลวมๆ ไม่มีความลึก ส่วน “นักข่าวพลเมือง-สื่อสังคม” กระตุ้นเปลี่ยนแปลงทางบวกในวงการข่าว ห่วงสื่อสิ่งพิมพ์ตายเจอ “นักบรรทัดเดียว” แบบครึ่งๆ กลางๆ มองการเขียนหนังสือแสดงออกทางปัญญาที่สมบูรณ์ที่สุด

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 มกราคม 2553 ในเซกชั่นจุดประกาย ได้มีการสัมภาษณ์ รศ.ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในห้วข้อ “สื่อ 'ไม่' วิวัฒน์” ซึ่งได้กล่าวถึงการเข้าร่วมกระบวนการทางความคิด ว่าด้วยกระแสปฏิรูปสื่อ และปรากฏการณ์สื่อใหม่ หรือ นิวมีเดีย (New Media) หลังจากเมื่อครั้งวิกฤตทางการเมืองเมื่อปี 2535 เคยปลุกกระแสความคิดปฏิวัติแมลงวัน

รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า ที่มาที่ไปของการปฏิรูปสื่อในยุคปัจจุบันเกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในยุคหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีมานี้ สื่อในกลุ่ม ASTV เป็นผู้กำหนดทิศทางการเมือง ว่า ในแต่ละช่วงจะนำเสนอเรื่องอะไร เริ่มต้นด้วยการคอร์รัปชัน ความจงรักภักดี และเรื่องเขาพระวิหาร ที่มีการเมืองข้ามชาติว่าด้วยขุมทรัพย์พลังงานในน่านน้ำไทยและกัมพูชาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร้อนตามมาอย่างไม่รู้จบ ซึ่งการปฏิรูปสื่อยุคนี้เป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปสื่อในยุคพฤษภาทมิฬที่ตนเคยเรียกว่า “การปฏิวัติแมลงวัน ครั้งที่สอง”

นอกจากเรื่องระบอบทักษิณแล้ว รศ.ดร.บุญรักษ์ เห็นว่า บทบาททางการเมืองของ ASTV ก็คือ “ทีวีดาวเทียม” ซึ่งเป็นหัวหอกของสื่อใหม่ที่อยู่นอกระบบสื่อกระแสหลัก มีสถานภาพลอดรัฐ และต้นทุนในการเผยแพร่ต่ำ เป็นจุดที่ ASTV สามารถทำอะไรแรงๆ แบบ “ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง” ได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะคิดอย่างไร ที่เรียกกันว่า การปฏิรูปสื่อในวันนี้เป็นความปรารถนาของนักการเมืองเป็นหลัก รัฐบาลนี้ตั้งใจขนาดที่จะจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาควบคุมจริยธรรมของสื่อ เป็นประเด็นที่สื่อกระแสหลักดูจะเห็นด้วย เพราะเขาไม่สามารถทำอะไรกับ ASTV ได้ แต่ในสังคมเปิด การควบคุมทางจริยธรรมบังคับไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นจากภายในวิชาชีพนั้นๆ เอง

เมื่อถามถึงการที่ออกมาปกป้องเสรีภาพของสื่อ เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างรัฐกับสื่อ รศ.ดร.บุญรักษ์ เห็นว่า ตนให้น้ำหนักกับเสรีภาพของสื่อและการแสดงออกโดยทั่วไป โดยเชื่อว่า หากใครมีอะไรที่ต้องการพูด ก็ควรจะได้พูด จริงหรือเท็จอย่างไรเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ เสรีภาพที่เต็มที่จะผลักดันให้สังคมเดินไปข้างหน้า เมื่อมีการสื่อสารกันมากๆ ในที่สุด มนุษย์ก็จะพัฒนาภูมิต้านทานที่สามารถแยกแยะว่าอะไรเป็นอะไรได้เอง

ทั้งนี้ เป็นโลกทัศน์เชิงบวกที่มีความเชื่อมั่นในมนุษย์ ซึ่งมีอำนาจแห่งการทรมานที่ทดสอบสติปัญญา และความอดทนสูงมาก แต่มีศักยภาพที่จะทำให้มนุษย์เข้มแข็งจนสามารถเผชิญหน้ากับความจริงได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถูกบีบคั้นโดยความปั่นป่วนจากการสื่อสาร จะบ่มเพาะให้สังคม มีวุฒิภาวะสูงกว่าสังคมในยุคก่อนหน้า การได้มาซึ่งวุฒิภาวะประเภทนี้มันไม่มีทางลัด ต้องเรียนรู้จากความเจ็บปวดเท่านั้น

• ASTV ประกาศ “การเมืองใหม่” จุดแตกหักสำคัญของสื่อ

เมื่อถามถึงความขัดแย้งของสื่อ สมาคมสื่อต่างๆ ดูจะไม่ค่อยมีบทบาทด้านจริยธรรม เห็นว่า ถ้าวิเคราะห์ตามโมเดลระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรมแบบเจมส์ เปตราส นักเศรษฐศาสตร์การเมือง ระดับการพัฒนาทางวิชาชีพสื่อยังไม่ขึ้นถึงจุด Take Off จึงทะเลาะกันเองในหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดในวิชาชีพของตน จิตสำนึกของความเป็นอุตสาหกรรมเดียวกันมันจึงยังไม่เกิดขึ้น อุดมการณ์ทางวิชาชีพยังไม่มีจุดร่วมที่ทรงพลังประสานประโยชน์อย่างเพียงพอ

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนทำสื่อกับนักการเมืองในสังคมประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า ความยุ่งยากในเมืองไทยวันนี้เป็นไปอย่างลึกล้ำ

”จุดแตกหักที่สำคัญ คือ การที่ ASTV ประกาศว่า ต้องปฏิรูปการวางระบบและจริยธรรมทางการเมืองกันอย่างถึงแก่น จนเกิด “การเมืองใหม่” สังคมถึงจะไปรอด ส่วนฝ่ายการเมืองกระแสหลักก็สวนออกมาว่า ต้องปฏิรูปจริยธรรมสื่อขนานใหญ่มากกว่าละกระมัง ไม่เช่นนั้นสังคมคงจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่สงบสุขแน่ๆ” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

และว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสื่อได้แตกหน่อออกไปหลายสาย นอกจากสายเสื้อเหลืองและพันธมิตรฯแล้ว สายเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ใช้สื่อดิ้นรนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาในนามของประชาธิปไตยและประชานิยมของแท้ สายเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งกำลังหาและสร้างอัตลักษณ์ของตน หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 สื่อเสื้อแดงได้พัฒนาจากการระดมมวลชนล้วนๆ เป็นรูปแบบการทำสื่อแบบสื่อกระแสหลัก

“2-3 ช่องในวันนี้ ล้วนเป็นทีวีดาวเทียมทั้งนั้น เพราะสื่อใหม่ชนิดนี้ ต้นทุนในการทำการเมืองด้วยสื่อจึงค่อนข้างต่ำ ตอนนี้ก็แค่รอให้การถ่ายทอดสัญญาณจากทีวีดาวเทียมมันไปได้ไกลและสะดวกขึ้นเท่านั้น เมื่อถึงวันนั้น หากเรายังสร้างสังคมแห่งความสมานฉันท์อย่างแท้จริงไม่ได้ ใครๆ ก็จะหนาวกว่านี้เยอะ” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

• ชี้สื่อป่วย ไม่แน่ใจขอนอนหลับทับสิทธิ์-เล่นบทเป็นกลางหลวมๆ

เมื่อถามถึงบทบาทของสื่อกระแสหลักในสถานการณ์ความขัดแย้ง รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า สื่อในการเมืองไทยยุคปัจจุบันคล้ายกับสมัย 14 ตุลาคม 2516 เมื่อสื่อไม่แน่ใจว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ ก็ทำเป็นขอนอนหลับทับสิทธิ์เอาไว้ก่อน ไม่ยอมเข้าข้างใคร นำเรื่องไม่เป็นเรื่องมาทำเป็นข่าว แต่หลีกเลี่ยงประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆ สื่อที่จงใจใส่เสื้อสีอื่นๆ สลับไปสลับมา ก็เล่นบทเป็นกลางแบบหลวมๆ ไม่มีความลึก ไม่ยอมทำอะไรเข้าประเด็นจริงๆ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่สบาย เพราะสามารถตีกินไปเรื่อยๆ ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง

“สังเกตไหม สามสี่ปีมานี้ สถานีโทรทัศน์ที่ได้เงินภาษีของเรามาใช้จ่ายอย่างอิสระมากมายบางช่องแทบจะไม่ยอมเล่นข่าวการเมืองอะไรเลย แต่หันไปเอาดีกับการคัดเลือกหนังไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือไม่ก็แปลสารคดีข่าวจากต่างประเทศมาฉายเสียแน่นจอจนเกือบหายใจไม่ออกเลย ว่างๆ ก็ทำรายการสอนวิธีการทำอาหารและรายการสอนภาษาอังกฤษระดับเด็กๆ ด้วย ในทางกลับกัน การทำหน้าที่ด้านข่าวสารและข้อคิดเห็นคุณภาพสูงในประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ ยากๆ ที่ใครๆ คาดหมาย กลับอ่อนปวกเปียก เจ้าหน้าที่ของเขาบางคนออกมาพูดแก้เกี้ยวว่าไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น แต่พอเป็นเรื่องการเมืองของต่างประเทศ บางทีก็ดูแปร่งๆ เพราะถึงกับลงทุนเดินทางไปทำข่าวเอง หรือไม่ก็นำข่าวที่ชาวต่างชาติเป็นคนทำมาเสนอต่อในแบบฉบับที่ใส่อารมณ์ราวกับว่าเป็นประเทศของตัวเอง” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

และว่า “นี่เป็นเรื่องค่อนข้างประหลาด มันเกิดขึ้นจากจิตสำนึกในทำนองคล้ายๆ กับว่า โลกกำลังยุ่งเหยิง ฉันขอแกล้งตายดีกว่า สบายดี ไม่ต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรมบ้าบออะไรหรอก กล้าหาญให้โง่ไปทำไม เราคนฉลาดต้องทำเฉยๆ เอาไว้ ใจเย็นๆ หน่อย ทำบ้าใบ้ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ รอให้เรื่องยุ่งๆ หมดอายุขัยของมันไปเอง เดี๋ยวก็ดีเอง นี่เป็นตลกร้ายของวงการสื่อไทยทีเดียว”

เมื่อถามว่า จะต้องทำอย่างไรให้เกิดความรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น รศ.ดร.บุญรักษ์ เห็นว่า เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าการรรู้หนังสือ การรู้เท่าทันสื่อต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ซับซ้อนหลายๆ ชนิดพร้อมๆ กัน และต้องมีจิตใจที่แสวงหาความรู้และความจริงด้วย อุปสรรคสำคัญคือภาวะที่วัฒนธรรมการเมืองชอบสอนให้เข้าพวก ต้องเลือกเชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ค่อยสอนให้คนของเราคิดด้วยตัวเองเท่าไรนัก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องยากมากที่ใครสักคนจะเห็นด้วยกับฝ่ายใดๆ ทั้งหมด ซึ่งวัฒนธรรมการเมืองที่ “มองข้ามปัจเจกภาพ” จะนำไปสู่ปัญหาการสร้างสรรค์ทางความคิดในบ้านเราค่อนข้างต่ำ

“คนคิดเหมือนๆ กัน พูดเหมือนๆ กันอย่างประหลาด มันน่ากลัวไหมล่ะ พอตกเหว ก็ตกด้วยกันทั้งโขยง ไม่มีใครสามารถดึงใครขึ้นมาจากปากเหวได้ เพราะเราไม่สนับสนุนปัจเจกภาพทางความคิด แต่ให้ความสำคัญกับการคิดแบบทำตามๆ กันไปแบบไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง” รศ.ดร.บุญรักษ์กล่าว

• “นักข่าวพลเมือง-สื่อสังคม” กระตุ้นความเปลี่ยนแปลง “ทักษิณ” ใช้ทวิตเตอร์-วิดีโอลิงก์ได้เปรียบการเมือง

เมื่อกล่าวถึงนักข่าวพลเมือง (citizen reporter) กับสื่อสังคม (social media) มากขึ้น จะกลายเป็นจุดคานงัดหรือไม่ รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า สื่อใหม่เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น เพราะในโลกไซเบอร์ ทุกอย่างมีเส้นทางพิเศษ สามารถไปถึงไหนต่อไหนได้ไกลและเร็วมากในโลกปัจจุบัน เรื่องเล็กๆ อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในแบบที่ใครคิดไม่ถึง เพราะมันเชื่อมโยงถึงกันเกือบหมด การแสดงข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างเสรีทางอินเทอร์เน็ตในรอบสิบปีมานี้ ลงท้ายคนไทยเราด่าเก่งขึ้นเยอะ จนวัฒนธรรมแห่งการบริภาษระบาดไปทั่ว สำหรับสื่อสังคม ถ้ามีการใช้สื่อใหม่ในการทำเครือข่ายกว้างขวางขึ้น จะก่อให้เกิดกลุ่มวัฒนธรรมย่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุด จะลดทอนอิทธิพลของวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่สื่อกระแสหลักช่วยกันประกาศอยู่ทุกๆ วันได้

ทั้งนี้ เห็นว่า นักข่าวพลเมืองเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สมควรได้รับการนำไปสานต่ออย่างเป็นระบบ นี่คือ กลุ่มบุคคลที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางบวกแก่วงการข่าวได้มาก นักข่าวพลเมืองหมายถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำและเผยแพร่ข่าวเป็นอาชีพ แต่ก็มีความสนใจ ทักษะ และเทคโนโลยีที่จะทำให้สิ่งที่เขาเองเห็นว่าเป็นข่าว ทั้งคนที่ตั้งใจจัดตั้งขึ้นมาเอง และคนที่ไปอยู่ในสถานการณ์ข่าวโดยบังเอิญ แล้วติดตามถ่ายภาพนิ่งและหรือภาพเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าด้านข่าวมาเผยแพร่ในสื่อใหม่ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้พร้อมๆ กัน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นของจริงที่ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก แต่อยากทำ และทำจากสัญชาติญาณ อาจจะมีความสามารถในเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้มากก็เพราะไม่ได้ทำเป็นอาชีพ

เมื่อถามว่า ปรากฏการณ์ที่นักการเมืองหันมาใช้สื่อใหม่มากขึ้น จนบางคนมีสื่อของตนเองโดยเฉพาะ รศ.ดร.บุญรักษ์ เห็นว่า เป็นภาพสะท้อนอีกด้านหนึ่งของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการสื่อสาร นักการเมืองหัวใหม่สามารถใช้โอกาสนี้ได้ดีเพราะสามารถทำตนเองให้เป็นศูนย์กลางของข่าวได้ง่ายขึ้น หากเขาอยากให้สื่อสนใจอะไรก็เขียนลงเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ของตนเอง ซึ่งสื่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายของเขาได้ในระดับหนึ่ง ถ้ามีทักษะในการสื่อสารสูง โอกาสที่สื่อกระแสหลักจะนำข้อมูลและข้อคิดเห็น ไปพัฒนาและเผยแพร่ต่อก็มีมากขึ้น เป็นข่าวมากขึ้น อิทธิพลก็มากขึ้น

“ดูอย่างคุณทักษิณก็ได้ เขาสามารถปั่นหัววงการเมืองและวงการข่าวด้วยทวิตเตอร์ โทรทัศน์วงจรปิด เทเลคอนเฟอเรนซ์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ทางไกลได้อย่างสนุกสนานใช่ไหม พอทำอะไรก็เป็นข่าว มันก็ได้เปรียบทางการเมืองแล้ว ผิดถูกไม่ค่อยสำคัญ เพราะมีคนน้อยมากที่สามารถแยกผิดแยกถูกได้นะครับ ใครแย่งพื้นที่ข่าวได้มาก มันก็เท่ากับคู่แข่งมีพื้นที่ข่าวน้อยลง ในทางการเมืองถือว่าเป็นชัยชนะชนิดหนึ่งแล้ว” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

• คนข่าวที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย-ชี้ลังเลไม่เลือกข้างไม่ใช่ความเป็นกลาง

เมื่อถามถึงกรณีคนในวงการสื่อทะเลาะกันเรื่องโมเดลการทำสื่อแบบกระจกกับตะเกียง ความคิดแตกต่างในเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับความเป็นกลาง และอคติ ของสื่ออย่างไร รศ.ดร.บุญรักษ์ได้ตั้งข้อสังเกตแต่เพียงว่า คนที่ทะเลาะกันเรื่องนี้ดูจะไปตีความเอาเองว่า กระจกคืออะไร ตะเกียงคืออะไร ในแบบฉบับที่ตนเองรู้สึกสะดวกมากกว่า ไม่ใช่กุศโลบายสื่อศึกษาของตนโดยละเอียด ตามบริบทที่ตนนิยามไว้

“ความเป็นกลางนั้นเป็นอะไรที่พูดง่ายแต่ทำยากเหมือนกันนะครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นกลางไม่มีอยู่จริง มีแน่นอน ผมเองเห็นว่าในระดับของการนำเสนอเรื่องราวใดๆ ก็ตาม หากคนข่าวมีความรู้รอบด้านมากหน่อย เขาก็จะมีความเป็นกลางมากขึ้นโดยไม่ต้องตั้งใจอยู่แล้ว เพราะต้องใช้ความรู้ทุกเรื่องที่เขามีอยู่เป็นกรอบแห่งการอ้างอิงอยู่แล้ว” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

และว่า ความที่จุดเด่นของจิตวิญญาณแห่งวิชาชีพข่าว คือ การนำเสนอความจริงที่ครบถ้วนเท่าที่มนุษย์พึงจะทำได้ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยปราศจากความปรารถนาในผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ การเป็นคนข่าวที่ดีจึงไม่ใช่งานง่าย ต้องทำงานหนัก เก่ง ดี และมองการณ์ไกลด้วยจิตสำนึกสาธารณะ ส่วนคนประเภทอื่นๆ มักจะทำงานด้วยความเชื่อ หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นหลัก จึงมักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองไม่ได้เป็นกลาง

“ความเป็นกลางเป็นหลักปรัชญาที่เข้าใจยากเหมือนกัน แต่มันมีอยู่แน่ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงวาทศิลป์หรือการเล่นลิ้นล้วนๆ เพียงแต่ว่ามันทำได้ยากมาก บุคคลนั้นๆ จะต้องมีความรู้และเกียรติศักดิ์ในตัวตนอยู่แล้ว ความเป็นกลางจึงจะเกิดโดยเกือบอัตโนมัติ แต่คนเสพข่าวส่วนมากจับไม่ค่อยถูกว่า อย่างไรจึงเรียกได้ว่าเป็นกลาง จึงมีปัญหาอื่นๆ ตามมามาก” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

รศ.ดร.บุญรักษ์ ได้ยกตัวอย่างว่า ในบางสถานการณ์ สื่อไทยจำนวนมากจะเล่นการเมืองด้วยการไม่ยอมเลือกข้าง ทั้งๆ ที่ในบางกรณีมีหลักฐาน เหตุผล และถึงเวลาที่สมควรเลือกข้างได้แล้ว แต่ก็ยังจงใจที่จะทำสื่อแบบลังเลและรีรอ กล้าๆ กลัวๆ กังวลว่าตนเองจะเลือกผิดข้าง แล้วจะโดนผลกระทบเมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ความเป็นกลาง

• ยก ASTV “ตักศิลาการเมืองไทย” ชี้สื่ออื่นเฉยราวกับสมยอม

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้วงการสื่อดูเหมือนจะมีการตรวจสอบกันเองมากขึ้น รศ.ดร.บุญรักษ์ มองว่า ที่เห็นในช่วงสองสามปีมานี้ ก็คือ สื่อด่ากันเองด้วยวาทศิลป์ว่าใครรับจ้างใคร และบิดเบือนอะไร จุดที่น่าจะสำคัญกว่าคือสื่อต่างๆ ไม่ค่อยสามารถนำเสนอข่าวและข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันในระดับที่สามารถสร้างความเข้าใจในความตื้นลึกหนาบางของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมของเราได้อย่างแท้จริงขึ้น สังคมเต็มไปด้วยวิกฤติ แต่สื่อส่วนมากก็ทำได้แต่การเลือกเข้าร่วมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปตามกระแส แต่ไม่คิดว่าตนควรจะทำสื่ออย่างไรให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้ได้

“เมื่อสื่อส่วนมากทำอะไรแบบขอไปที เฝือๆ สื่อที่ขยันคิดขยันพูดอย่าง ASTV ก็เลยกลายเป็นตักศิลาในการเมืองไทยไปเลย เพราะสามารถเปิดประเด็นใหม่ๆ ที่น่าติดตามได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะทำให้เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยสักหน่อยก็ตาม จุดที่น่าสนใจมาก ก็คือ หลายๆ ประเด็นที่ ASTV เปิดออกมาก็เป็นความจริงที่สำคัญมาก เช่น เรื่องหายนภัยของการคอร์รัปชัน การเมืองเก่า/การเมืองใหม่ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครรับลูก สื่ออื่นๆ ก็เฉยกันเกือบหมด ราวกับว่า เป็นผู้สมยอมกับเรื่องเลอะแบบนั้น ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเราจะอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไรเหมือนกัน” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

และว่า จุดที่น่าเสียดาย ก็คือ หากสื่อแต่จะค่ายตั้งใจผลิตข่าวและข้อคิดเห็น ในจุดที่เข้าประเด็นอย่างเป็นกลางจำนวนมากๆ อะไรๆ ในเมืองไทยอาจจะไม่เลวร้ายเท่ากับที่เราเห็นในวันนี้ก็ได้ เพราะความจริงที่แพร่กระจายในสังคมไทยจะมีความสมดุลมากขึ้น โลกทัศน์และจินตนาการของเราคงจะไม่เอียงกะเท่เร่จนคิดไม่ออกบอกไม่ถูกแบบวันนี้

• เตือน “นักบรรทัดเดียว” ระบาด หากสื่อสิ่งพิมพ์หดหาย ชี้ศิลปะการเขียนแสดงออกทางปัญญาสมบูรณ์ที่สุด

เมื่อถามว่า คิดอย่างไรที่สื่อใหม่จะลดบทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ รศ.ดร.บุญรักษ์ เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกสาขาก็ล้วนเป็นพลังที่นิยามอนาคต สื่อสิ่งพิมพ์จะต้องหาสูตรใหม่ๆ ในทำงานให้ตนเองสามารถรักษาและขยับขยายความสามารถในการแข่งขันให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะค่อยๆ ตกเวทีประวัติศาสตร์ไป โดยยกตัวอย่างสื่อในกลุ่มวรรณกรรม พอปรับตัวได้ ก็ต้องยกพื้นที่ให้กับสื่อในกลุ่มที่ฟังด้วยหูดูด้วยตาเกือบจะหมดสิ้น

“การปรับตัวให้เข้ากับกับความเปลี่ยนแปลง คือ กุญแจที่จะไขไปสู่การหาที่ทางในอนาคตใหม่ๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ เราไม่ควรจะนั่งดูดายให้สื่อสิ่งพิมพ์ตายไปต่อหน้าต่อตา เพราะศิลปะแห่งการเขียนหนังสือนั้นเป็นเส้นทางของการแสดงออกทางปัญญาที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มนุษย์เราได้ค้นพบกันมา ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ล้วนถูกค้นพบโดยคนเขียนหนังสือทั้งนั้น ในระหว่างที่เขียนหนังสืออย่างอิสระและโดดเดี่ยว จิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์จึงพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด” รศ.ดร.บุญรักษ์ กล่าว

รศ.ดร.บุญรักษ์ เห็นว่า หากสื่อสิ่งพิมพ์หดหายไปเรื่อยๆ เราก็เจอกับนักบรรทัดเดียว (one liners) ในจอโทรทัศน์ ที่ทรงอิทธิพลในโทรทัศน์และวงการบันเทิงอเมริกันมากขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเห็นว่ารู้อะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ เมือถึงเวลานั้นจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มนุษย์สู้อุตส่าห์สร้างและสะสมเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่คนไทยไม่ชอบเขียนและอ่านหนังสือกันเป็นพิเศษ ถึงตอนนั้นนักบรรทัดเดียวจะออกมายึดพื้นที่ในจิตสำนึกสาธารณะของเราไปจนหมด
 รศ.ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
กำลังโหลดความคิดเห็น