ฟิฟทีนมูฟ เผย ช่วงเขมรแดงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมร ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชากลายเป็นค่ายผู้อพยพ “ประสงค์” เคยลงพื้นที่บ้านหนองจาน ยืนยันไม่มีใครตั้งค่ายในประเทศที่มีสงคราม สระน้ำยูเอ็นตั้งอยู่ในเขตไทย หลังยุคน้าชาติเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เขมรโมเมยึดรั้วลวดหนามเป็นแนวเขตแดน พบปัญหาชาวเขมรทะลัก ต้องงดรับผู้ลี้ภัย แต่ UNHCR ไม่ยอม แถมถูกเวียดนามโจมตีค่ายผู้อพยพ ยันเกิดตลาดมืดจากผู้มีอิทธิพลแต่ละกลุ่มย่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ (15thmove.net) ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่จับตาดูสถานการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “คลิป ๗ คนไทยบอกอะไร-อะไรในโนนหมากมุ่น?” ซึ่งได้ตีพิมพ์ออกเป็น 3 ตอนแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์บทความเป็นตอนที่ 4 ในหัวข้อ “ค่ายอพยพบ้านหนองจาน”
ในบทความระบุว่า ระหว่างสงครามกลางเมืองในกัมพูชาต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนปี 2518 กระทั่งปี 2542 ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นที่ตั้งของศูนย์และค่ายอพยพชาวกัมพูชาทั้งชั่วคราวและถาวร ที่เปิด-ปิด-เคลื่อนย้ายตลอดช่วงเวลาดังกล่าว กระทั่งค่ายผู้อพยพแห่งสุดท้ายปิดตัวลงในปี 2542 เมื่อเขมรแดงกลุ่มสุดท้ายยุติการต่อสู้
จากการสืบค้นข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรบรรเทาทุกข์อื่นๆ พบว่า การหนีภัยสงครามของชาวกัมพูชาเกิดขึ้น 5 ช่วงเวลา มีค่ายผู้อพยพหลักและค่ายย่อยไม่น้อยกว่า 60 แห่งตลอดแนวชายแดนที่อยู่ในดินแดนและลึกเข้ามาในประเทศไทย ค่ายที่เป็นที่กล่าวถึงมากสุดคือ เขาอีด่าง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุด ในครั้งนั้นมีบันทึกในองค์กรบรรเทาทุกข์และข้าหลวงใหญ่ฯ ถึงการเสด็จพระราชทานความช่วยเหลือของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระองค์เอง
การหนีภัยสงครามเข้ามายังประเทศไทยระลอกแรก เกิดในปี 2518 เมื่อเขมรแดงขึ้นครองอำนาจ ต่อเนื่องด้วยการอพยพหนีสภาวะอดอยากและการถูกกองกำลังทหารเวียดนามเข้ารุกรานในปี 2522 ซึ่งเป็นการไหลบ่าของชาวกัมพูชาเข้ามายังประเทศไทย จากนั้นระหว่างปี 2527-2528 เกิดการอพยพเข้ามาอีกระลอกเมื่อทหารเวียดนามเข้าโจมตีตามแนวชายแดนไทย คราวที่สี่ คือ ในปี 2540 เมื่อสมเด็จฯ ฮุนเซน ทำรัฐประหาร และครั้งสุดท้ายเกิดจากการอพยพของเขมรแดงส่วนที่เหลือในปี 2541 ภายหลังนายพล พต ผู้นำเขมรแดงและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสียชีวิต
บ้านหนองจาน เป็นค่ายผู้อพยพขนาดใหญ่ลำดับแรกๆ ในช่วงปี 2522 ที่มีการจัดตั้งและการบริหารจัดการ ค่ายผู้อพยพอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง ได้แก่ โนนหมากมุ่น และหนองเสม็ด รองรับชาวกัมพูชาหนีการอดตายและการรุกรานของกองกำลังเวียดนามที่เข้ารุกรานกัมพูชาธิปไตย ซึ่งเป็นชื่อประเทศในขณะนั้น โดยในเดือนสิงหาคม 2522 ค่ายผู้อพยพหนองจานมีผู้อพยพประมาณ 13,000 คน เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงมากเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับค่ายผู้อพยพหนองจาน คือ Land bridge เป็นเส้นทางการขนส่งอาหาร
บ้านหนองจานนอกจากเป็นแหล่งที่ตั้งของค่ายผู้อพยพแล้วยังเป็นแหล่งแจกจ่ายอาหารและเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยในปี 2523 องค์กรบรรเทาทุกข์และ CARE ได้จัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าว อุปกรณ์ทำนาและหาปลา ทำให้ผู้อพยพเริ่มทำนาและหาปลาในพื้นที่ดังกล่าว ในเดือนเมษายนปีนั้น ผู้อพยพได้รับอาหาร เมล็ดพันธุ๋และอุปกรณ์ทั้งสิ้น 340,000 รายที่บ้านหนองจาน
• “ประสงค์” ยืนยันบ้านหนองจาน-สระน้ำยูเอ็นเป็นพื้นที่ของไทย
ในบทความดังกล่าว น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้ข้อมูลกับทางเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ระบุว่า การตั้งค่ายผู้อพยพบ้านหนองจานเกิดในช่วงรอยต่อปี 2519-2520 ขณะเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดูแลผู้อพยพหนีภัยสงครามระหว่างรัฐบาล นายพล ลอน นอล กับฝ่ายเขมรแดงของนายพล พต โดยลงพื้นที่พร้อมกับ พันโทสนั่น ขจรกล่ำ (ยศในขณะนั้น)
นายทหารอื่นและผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ได้จัดพื้นที่บ้านหนองจานซึ่งอยู่ลึกเข้ามาในเขตไทยระหว่างหลักเขตที่ 46 และ 47 เป็นที่พักพิงสำหรับผู้อพยพ โดยได้ขอใช้ที่ดินของชาวบ้านคนไทย ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น และได้มีข้อตกลงกับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ว่า ต้องดูแลทั้งผู้อพยพชาวเขมรและ “คนของเรา” ทั้งด้านอาหารและคุ้มครองความปลอดภัย ต่อมาได้มีการจัดทำแนวลวดหนามเพื่อกันไม่ให้ชาวกัมพูชาล้ำเข้ามามากกว่าพื้นที่ที่จัดให้และไม่ให้เข้ามาปะปนกับคนไทย
เมื่อถามถึงหลักเขต น.ต.ประสงค์ กล่าวยืนยันว่า ตนเดินมาแล้วทั้งหมด ตั้งแต่หลักเขตที่ 45 ถึง 48 และยืนยันว่าบ้านหนองจานอยู่ในเขตไทย ซึ่งตรงกับอดีตนายทหารอาวุโสของกองทัพบกที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ว่า ไม่มีใครตั้งค่ายในประเทศที่มีสงครามหรือคู่สงคราม และได้ให้คำยืนยันเกี่ยวกับสระน้ำยูเอ็นท้ายหมู่บ้านตรงกันว่าเป็นสระน้ำที่ยูเอ็นขุดให้และตั้งอยู่ในเขตไทย
• เขมรยึดบ้านหนองจานเป็นของตัวเองหลังยุค “น้าชาติ”
ปลายปี 2522 กลุ่มเขมรเสรีซึ่งมีอิทธิพลมาแต่เดิมเข้าแทรกสอดบ้านหนองจานมีกำลังประมาณ 100 นาย เข้าปล้นคนไทยในพื้นที่หลายครั้ง กระทั่ง พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ยกกำลังทหารไทยเข้าโอบล้อมหมู่บ้าน ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ แคมป์ 511 ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2523 กองกำลังทหารเวียดนามเข้าโจมตีบ้านหนองจานและโนนหมากมุ่น บังคับให้ผู้อพยพกลับไปยังกัมพูชาและฆ่าผู้ต่อต้าน กระทั่งวันถัดมาทหารไทยได้เข้ายึดพื้นที่คืนและขับไล่ทหารเวียดนามออกไป ระหว่างปี 2523-2527 ทหารเวียดนามเข้าโจมตีค่ายผู้อพยพแห่งนี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2529
ผู้อพยพส่วนหนึ่งถูกย้ายไปยังอ่างศิลา (ไซต์ 3) ซึ่งอยู่ตอนใต้ของบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว บางส่วนถูกส่งไปยังค่ายเขาอีด่าง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และค่ายสระแก้ว 2 ในปี 2531 ทิศทางของไทยสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เปลี่ยนแปลงผ่านนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ภายหลังรัฐบาลกัมพูชาที่มีความเข้มแข็งขึ้นได้ยึดเอาแนวรั้วที่ไทยสร้างไว้เป็นแนวเขตแดน พื้นที่บ้านหนองจาน จึงตกอยู่ในความครอบครองของชาวกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม น.ต.ประสงค์ ได้กล่าวกับเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ว่า ประวัติศาสตร์บอกปัจจุบัน และประวัติศาสตร์ระยะใกล้นี้ไม่เคยโกหก ครั้งนั้น ความช่วยเหลือเจือจุนของไทยที่ให้แหล่งพักพิงสำหรับผู้อพยพชาวกัมพูชา รัฐบาลไทยได้ขอใช้พื้นที่ทำกินของคนไทยในบ้านหนองจาน วันนี้คนไทยเหยียบแผ่นดินตัวเองกลับถูกจับและส่งไปดำเนินคดีในประเทศของผู้อพยพ
• เผยเอกสารข้อตกลง UNHCR กับรัฐบาลไทย ให้ที่พักพิงชาวเขมรหนีสงคราม
ล่าสุด วันนี้ (10 ม.ค.) เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟได้ออกบทความในตอนที่ 5 ในหัวข้อ “อดีตบอกปัจจุบัน-เปิดเอกสาร UNHCR” ซึ่งมีการเผยแพร่เอกสาร “ข้อตกลงระหว่างข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ และรัฐบาลไทย 2522” ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวได้สรุปปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาในช่วงสงครามว่า ในช่วงปี 2518 เขมรแดงเข้ายึดอำนาจรัฐบาลนายพลลอน นอล เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นกัมพูชาประชาธิปไตย ช่วงปีนั้นมีการละทิ้งเมืองหลวงและเมืองใหญ่จนกลายเป็นเมืองร้าง ตัดการติดต่อกับโลกภายนอก
รัฐบาลเขมรแดงบังคับทุกภาคส่วนรวมถึงพระ ครู นักวิชาการไปสู่พื้นที่ชนบทเพื่อทำนา โดยตั้งเป้าการผลิตข้าวว่าจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เพื่อหล่อเลี้ยงการปฏิวัติสังคมครั้งนั้น โรงเรียน โรงพยาบาลและวัด ถูกเปลี่ยนเป็นยุ้งฉาง โรงน้ำปลาและคลังอาวุธ คนเขมรที่ถูกเกณฑ์ไปสู่ภาคกสิกรรมถูกใช้งานเยี่ยงสัตว์ แต่ผลผลิตกลับไม่ได้ตามเป้าเกิดสภาวะอดอยากอย่างรุนแรงทั่วประเทศ
เมื่อเหตุการณ์ “ทุ่งสังหาร” เกิดขึ้น ชาวกัมพูชาจำนวนมากหนีตายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ปลายปี 2521 กองทัพเวียดนามโดยการนำพาของ ฮุน เซน ก็เข้าตีจังหวัดทางทิศตะวันออกของกัมพูชาและยึดกัมพูชาได้เบ็ดเสร็จในช่วงเดือนเมษายน 2522 ในช่วงเวลา 4 ปีของยุคเขมรแดง คนเขมรนับล้านล้มตายจากการสภาพทำงานหนัก อดอยาก โรคและการสังหาร
เมื่อกองทัพเวียดนามเข้ายึดครองและตั้งรัฐบาลใหม่ปกครองกัมพูชา คนเขมรทิ้งไซต์งานเข้าเมือง หาข่าว หาของกินและอื่นๆ ปีแรกของรัฐบาลใหม่ภายใต้การควบคุมของเวียดนามคนเขมรยังตกอยู่ในภาวะอดอยาก ไม่มีพืชผลให้เก็บเกี่ยว สินค้าการเกษตรทั้งหมดที่มีถูกขนส่งไปยังเวียดนาม ที่สุดคนเขมรส่วนใหญ่จึงตัดสินใจหนีออกจากกัมพูชาไหลบ่าเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทย
ช่วงครึ่งแรกของปี 2522 คนเขมรไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย ทหารไทยผลักดันกลับไป โดยเฉพาะบริเวณพระวิหารที่ผลักดันไปมากกว่า 43,000 คน เนื่องจากไทยแบกรับปัญหาผู้อพยพลี้ภัยระลอกแรกระหว่างการล้มล้างการปกครองของ นายพลลอน นอล ไว้ 160,000 คนโดยประมาณ ภายใต้การดูและของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ซึ่งสร้างปัญหาตลอดแนวชายแดน
ต่อมาข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ และเลขาธิการยูเอ็นประท้วงไทยที่ปฏิเสธให้ที่พักพิง ในขณะที่ผู้อพยพชาวกัมพูชาไหลบ่าเข้ามายังชายแดนมากยิ่งขึ้น ไทยได้ตัดสินใจส่งความช่วยเหลือทางด้านอาหารและเวชภัณฑ์ กลางเดือนตุลาคม 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางไปพื้นที่ สองวันให้หลังได้อนุญาตให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ตั้งสถานีและค่ายชั่วคราวรองรับผู้อพยพ 40,000 คนที่สระแก้ว และเปิดค่ายผู้อพยพอีกจำนวนมากตลอดแนวชายแดนสระแก้วในเดือนธันวาคม
จนถึงมกราคม 2523 ผู้อพยพชาวกัมพูชาล้นเอ่อเข้ามายังประเทศไทย เฉพาะที่ค่ายผู้ลี้ภัยเขาอีด่างก็รองรับผู้ลี้ภัยเกินกว่า 150,000 คน ส่งผลให้รัฐบาลมีความกังวลว่าประชากรกัมพูชาทั้งหมดจะไหลทะลักเข้ามายังไทย จึงระงับการเปิดรับผู้ลี้ภัยในค่ายซึ่งอยู่ลึกเข้ามาในประเทศไทยเพิ่ม กันผู้อพยพอีกหลายแสนคนที่หลั่งไหลเข้ามาให้อยู่เฉพาะค่ายชั่วคราวริมตะเข็บชายแดน
• เผยต้นตอ “ตลาดมืด” สร้างปัญหาให้กลายเป็น No Man's Land
ค่ายผู้อพยพชั่วคราวเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตไทย โนนหมากมุ่น หนองจาน โนนสูง อ่างศิลา ก็เป็นหนึ่งนั้น ค่ายเหล่านี้ดูแลความปลอดภัยโดยทหารไทย ขณะที่การช่วยเหลือด้านอาหารเวชภัณฑ์ขึ้นกับหน่วยงานอย่าง UNBRO, UNHCR, ICRC ส่วนการบริหารจัดการภายในค่ายขึ้นกับแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร นำโดย นายซอน ซาน ซึ่งแนวร่วมฯ เหล่านี้มีอิทธิพลอยู่ในฝั่งกัมพูชา
สภาพการปกครองภายในค่ายที่เป็นไปอย่างหลวมๆ และเป็นเขตอิทธิพลของแต่ละกลุ่มย่อย ที่นำมาซึ่งปัญหาใหม่ คือ การรั่วไหลของความช่วยเหลือไปยังกองกำลังติดอาวุธเขมรแดงและกลุ่มต่อต้าน การเข้าโจมตีของกองกำลังเวียดนามตามแนวชายแดนไทย ความขัดแย้งและร่วมมือระหว่างกลุ่มอิทธิพลนำไปสู่กิจกรรมในลักษณะ “ตลาดมืด” ขึ้นในพื้นที่ค่ายผู้อพยพเหล่านี้
บทความดังกล่าวระบุว่า ตลาดมืดดังกล่าว เป็นการประสานประโยชน์ระหว่างนักการเมือง ผู้มิอิทธิพล พ่อค้า ฝ่ายความมั่นคงที่ดูและพื้นที่ ที่นอกจากการค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย ยังมีการนำทรัพย์สินของคหบดีในกัมพูชาเข้ามาขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ซึ่งงานศึกษาของ Lindsay Cole French พูดถึงปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน
ในตอนท้ายของบทความ ได้กล่าวถึงเหตุของปัญหาการเป็นเขตอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านในกัมพูชา ความไม่สงบจากการต่อสู้ปะทะตลอดแนวชายแดน การตั้งค่ายผู้อพยพ และกิจกรรมตลาดมืดดังกล่าวข้างต้น เป็นผลสืบเนื่องเป็นลำดับมาถึงปัญหาเขตแดนที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเห็นว่ามีการย้ายหลักเขต และเกิดสภาพ No man’s Land การทับซ้อนในเชิงผลประโยชน์ทั้งระดับนโยบายและฝ่ายความมั่นคง
วิดีโอเผยแพร่ของสภากาชาดสากลเปิดเผยสภาพบ้านเมืองรกร้างของกัมพูชาในปี 2522 เกิดสภาวะอดอยากและหนีภัยสงครามมายังชายแดนประเทศไทย
วีดีโอของสภากาชาดสากลเผยเผยสภาพค่ายผู้อพยพต่าง ๆ ในประเทศไทย (ค่ายผู้อพยพบ้านหนองจานอยู่ในช่วงนาทีที่ 8 ซึ่งถูกโจมตีโดยกองกำลังเวียดนาม)