“ไชยวัฒน์” อ้างทูตไทยกีดกันทีมกฎหมายพบ 7 คนไทย หวั่นสู้คดีไม่บรรลุเป้าหมาย ยันเขมรทำขัดกฏหมายสากล ตามสนธิสัญญาเจนีวา จ่อยื่นยูเอ็นเข้าจัดการ
วันนี้ (10 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ แถลงการณ์ดำเนินการช่วยเหลือ 7 คนไทยในประเทศกัมพูชาว่า ประเด็นแรก สถานทูตไทยในพนมเปญกีดกันคณะที่ปรึกษากฎหมายเครือข่ายประชาชนฯ ในการพบพี่น้องคนไทยทั้ง 7 คน รวมทั้งทนาย หลังจากคณะกรรมการเครือข่ายประชาชนมีมติส่งนายการุณ ใสงาม กับนายณฐพร โตประยูร เป็นที่ปรึกษากฎหมายในการสู้คดีให้แก่นายวีระ สมความคิด ในฐานะหนึ่งในกรรมการคณะผู้รับใช้เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยในการเดินทางไปพนมเปญ ในวันที่ 9 ม.ค. แต่ปรากฏว่าคณะที่เดินทางยังไม่ได้พบกับคนไทยทั้ง 7 รวมทั้งทนาย
นายไชยวัฒน์กล่าวต่อว่า ท่าทีของสถานทูตไทยในกัมพูชามีลักษณะกีดกัน ทำให้การทำงานในการต่อสู้คดีอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายของเครือข่ายที่ต้องการให้คนไทยกลับมา และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะแนวทางการต่อสู้คดีของเครือข่ายที่ปฏิเสธอำนาจศาลของกัมพูชาที่จะพิจารณาคดีนี้ เพราะขัดหลักกฎหมายสากลตามสนธิสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 แต่ทางการไทยกลับยอมรับและต้องการให้เร่งพิจารณาคดีเพื่อจะได้ขอประกันตัว หรือขอพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชา
นายไชยวัฒน์แถลงอีกว่า ประเด็นต่อมา คือ การยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติประจำประเทศไทย โดยขอประท้วงอำนาจศาลกัมพูชา กรณี 7 คนไทยที่ถูกลักพาตัวเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประจักษ์ชัดว่าคนไทยทั้ง 7 คนถูกจับตัวโดยทหารกัมพูชา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย และถูกนำตัวไปขึ้นศาลกัมพูชา จึงเข้าข่ายทหารกัมพูชาลักพาตัวคนไทยออกจากดินแดนไทย ซึ่งผิดหลักสนธิสัญญา ฉบับที่ 4 ที่ระบุว่ากรณีเช่นนี้จะต้องใช้องค์การกลาง เช่น คณะกรรมการกลางกาชาดสากล พิจารณาเรื่องเท่านั้น และศาลกัมพูชาจะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกาชาดสากลพิจารณาเท่านั้น ไม่ใช่ศาลกัมพูชาจะพิจารณาเอง
นายไชยวัฒน์แถลงอีกว่า เมื่อทางไทยและกัมพูชาไม่ได้ทำให้การดำเนินการทางคดีเป็นไปตามสนธิสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 และกฎบัตรสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และทางเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติได้เคยยื่นเรื่องประท้วงไปเรียบร้อย เมื่อวันที่ 8 ม.ค.54 ที่ผ่านมา แต่ทั้งการไทยและกัมพูชาไม่ได้ตอบสนอง ประกอบกับพื้นที่ที่เกิดเหตุเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์และค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ทั้งชั่วคราว และถาวร ตั้งแต่ปี 2518 โดยสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และได้ปิดตัวลงในปี 2542 เมื่อเขมรแดงกลุ่มสุดท้ายยุติการต่อสู้ ดังนั้น เครือข่ายคนไทยหัวในรักชาติได้พิจารณาเห็นความจำเป็นจะต้องยื่นเรื่องดังกล่าวต่อสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เพื่อเร่งดำเนินการโดยจะทำการยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการในวันนี้