xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส "ไพร่-อำมาตย์" วาทกรรมอำพราง "ทักษิณ" ตีองคมนตรี-ล้มเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตีแผ่ "ทักษิณ" ถอดแบบคำประกาศคณะราษฎร ปี 2475 หวังปลุกไพร่ล้มเจ้า ยกกดขี่สมัยอดีตอ้าง ทั้งที่ร.5 สั่งล้มระบบมูลนาย ชนชั้นต่ำเป็นอิสระ แต่ "แดงตัวพ่อ" บิดเบือน เชื่อคำพูดนักวิชาการคลั่งอดีต หลอกเสื้อแดงทำสงครามชนฟ้า แฉ วาทกรรมพิสูจน์ "แม้ว" เหิมตีกระทบองคมนตรีหมิ่นเบื้องสูง


คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “รู้ทันประเทศไทย”

วานนี้ (22 มี.ค.) “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30-20.00 น. มี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายสันติสุข มะโรงศรี เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญ ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมชำแหละนัยคำว่า "อำมาตย์และไพร่" ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษชายหลบหนีคดี ที่ปัจจุบันเป็นผู้ปลุกม็อบคนเสื้อแดงด้วยวาทกรรมและพิธีกรรมทางไสยศาสตร์

ดร.อนันต์ กล่าวถึงความหมายในประวัติศาสตร์ของคำว่า "ไพร่" ว่า ถ้าเราย้อนไปดูประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ปรากฏคำว่า "ไพร่" รวมอยู่ด้วย ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่า ราษฎรของกษัตริย์ ถือเป็นว่าทาส โดยเรียกว่า "ไพร่" "ข้า" เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่คิดว่าเป็นมนุษย์ ดังนั้น ประกาศฉบับนั้นใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงมาก และมีการใช้คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 7 ว่ากษัตริย์ ไม่ได้ใช้คำว่า พระมหากษัตริย์ ฉะนั้น เมื่อเรามาดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้หลังจนถึงปัจจุบัน ถ้าเราติดตามพวกนักวิชาการที่ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข หรือแม้แต่นักวิชาการอิสระในมหาวิทยาลัยได้พูดถึงว่า การปฏิวัติเมื่อสมัยปี 2475 ยังไม่ได้เสร็จสิ้น จึงมีความพยายามจะทำให้ปฏิวัติเมื่อปี 2475 สมบูรณ์ ซึ่งตนคิดว่าคนกลุ่มนี้จะทำให้สมบูรณ์ในปี 2553 เพราะฉะนั้นคือเหตุผลที่หยิบคำว่าไพร่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วตราหน้าผู้ที่มาชุมนุมว่าไพร่

"ถ้าเราดูข้อมูลทางภาษาและก็ดูมิติทางประวัติศาสตร์ คำว่าไพร่ปรากฏอยู่ในเอกสารลายลักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นภาษาไทย ก็คือในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ไม่ได้ใช้คำว่าไพร่ตัวเดียว ใช้คำว่าไพร่ฝ้า ซึ่งคำว่าฝ้าสอดคล้องกับคำว่าฟ้า เพราะฉะนั้นไพร่ฝ้าก็คือไพร่ฟ้าหน้าใสหรือไพร่ฟ้าหน้าปรก" ดร.อนันต์ กล่าว

ดร.อนันต์ กล่าวอีกว่า ต่อมาสมัยอยุธยา มีระบบมูลนาย ไพร่ คือ ไพร่คือประชาชน แต่ไพร่นั้นต้องสังกัดมูลนาย แล้วจะต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ใช่อิสระชนเหมือนทุกวันนี้ และไพร่จะเป็นกำลังสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับชนชั้นมูลนาย โดยชนชั้นมูลนาย ประกอบด้วย เจ้าและขุนนางชั้นสูง ในส่วนของขุนนางนั้น จะแบ่งได้เป็นสองประเภท ก็คืออำมาตย์และเสนาบดี ซึ่งอำมาตย์คือกลุ่มข้าราชการพลเรือน ส่วนเสนาบดีคือขุนนางฝ่ายทหาร ต่อมาระบบมูลนาย ไพร่ ล้มสลายไปสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2425 ทำให้ไพร่ไม่ต้องสังกัดมูลนาย ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ต้องขึ้นกับใคร เพราะฉะนั้น ไพร่ก็เปรียบสถานะภาพเป็นอิสระชนหรือประชาชนทั่วไปที่มีเสรีภาพในการทำมาหากิน

"จริงๆแล้วไม่มีไพร่ ในความหมายระบบศักดินานับมาตั้งแต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ระบอบที่กษัตริย์ยังครองอำนาจยังคงดำรงอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งถึงปี 2475 ในความรู้สึกของคน โดยเฉพาะในกลุ่มของคณะราษฎร ก็รู้สึกว่าสังคมในขณะนั้นยังมีการแบ่งชนชั้นกันอยู่ ถึงแม้ไพร่ไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกับมูลนาย แต่คณะราษฎรยังคงเล่นกับคำว่าไพร่อยู่" ดร.อนันต์ กล่าว

ดร.อนันต์ กล่าวถึงคำประกาศในคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ว่า มีการใช้คำว่าไพร่ เล่นคู่ตรงข้ามกับกษัตริย์หรือเจ้า อย่างเช่นข้อความ "รัฐบาลใช้ยึดทรัพย์ หรือถ้าไม่มีเงินก็ใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินสุข" ดังนั้น ถ้ากลุ่มปัญญาชนเป็นพลังความคิดในแก่เสื้อแดงตัวพ่อ คือคิดที่จะสืบสานเจตนารมย์ของคณะราษฎรที่จะทำให้เกิดปฏิวัติในปี 2475 อย่างสมบูรณ์แบบ จึงได้เลือกใช้คำว่าไพร่ขึ้นมา

"ผมคิดว่าไม่มีใครคิดจะใช้คำว่าไพร่ตีคู่กับเจ้า ดังนั้น จึงไม่กล้าที่จะพูดขึ้นมาตรงๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าในประกาศคณะราษฎรนั้น ไพร่เป็นคู่ตรงข้ามกับเจ้า เมื่อไม่สามารถใช้คำว่าเจ้าได้ จึงต้องอำพรางไปใช้คำอื่น ก็ใช้คำว่าอำมาตย์" ดร.อนันต์ กล่าว

ดร.อนันต์ กล่าวถึงการบิดเบือนความหมายคำว่า "อำมาตย์" ในปัจจุบันว่า มีความพยายามที่จะบอกว่าอำมาตย์นั้นคือ องคมนตรี มหาอำมาตย์ก็คือประธานองคมนตรี ถ้าจะหมายถึงองคมนตรีจริงๆ ทำไมไม่ใช้คำว่าองคมนตรีไปเลย ทำไมต้องไปหาคำอื่น แสดงให้เห็นว่าคำว่าอำมาตย์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญ ไม่ได้ใช้อำมาตย์ในความหมายดั่งเดิม

"คำว่าอำมาตย์ของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เป็นความหมายที่เลือกใช้รูปของคำนี้ เพื่อที่จะไปสื่อความหมายอีกคำหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถใช้รูปคำของความหมายอีกคำหนึ่งนั้นได้" ดร.อนันต์ กล่าว

ดร.อนันต์ กล่าวถึงคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ชัดเจนในการกระทำและความคิด โดยถ้าหากย้อนกลับไปดูเนื้อหาในการวิดีโอลิงก์ ก็จะทำให้เห็นว่าพูดทำนองเหมือนประกาศคณะราษฎรที่จับคู่ชนระหว่างไพร่กับเจ้า โดยข้อความท่อนหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยโฟนอินคุยกับคนเสื้อแดงว่า "พี่น้องต้องลุกขึ้นสู้ อำมาตย์ไม่อยากเห็นคนหายจน ไม่อยากเห็นลูกหลานฉลาด เพราะอย่างนี้เราถึงต้องพึ่งพาอำมาตย์ตลอดชีวิต ถ้าประชาชนเป็นฝ่ายชนะ เป็นการปลดแอกตนเองให้พ้นจากอำมาตย์ทั้งหลายที่มาบังคับให้เราโง่บังคับให้เราจนต่อ" จะเห็นว่านัยของความหมายไม่แตกต่างกันนัก

"ผมคิดว่าคุณทักษิณ ไม่ได้ทำงานคนเดียว ในการทำงานต้องทำกันอย่างเป็นระบบ แล้วมีกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงที่ร่วมทำงานของกระบวนการที่อยู่ในความคิดนี้ แล้วเป็นความคิดที่นำมา สู่การคิดที่ชัดเจนมากขึ้นถึงกระบวนการต่อสู้ทางชนชั้น" ดร.อนันต์ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น