ครม.เห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง พร้อมงัด กม.18 ฉบับ มอบอำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของแก๊งเสื้อแดงที่มีแนวโน้มก่อเหตุรุนแรง เผย “กรุงเทพฯ-นนทบุรี” ถูกประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคงทั้งหมด ส่วนปริมณฑลประกาศใช้ 7 จังหวัด 21 อำเภอ “ปณิธาน” ระบุ ครม.ไม่ประกาศเป็นวันหยุด หวั่นตื่นตระหนก
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 11-23 มี.ค.เนื่องจากจะมีสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง ในพื้นที่ กทม.ทั้งหมดและปริมณฑล 7 จังหวัด หรือ 21 อำเภอ คือ นนทบุรีทั้งจังหวัด ปทุมธานี 6 อำเภอ คือ อ.เมือง ธัญญบุรี สามโคก ลำลูกกา คลองหลวง ลาดหลุมแก้ว ส่วนจังหวัดสมุทรสาคร 2 อำเภอ คือ อ.เมือง กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรปราการ 5 อำเภอ คือ อ.เมือง บางพลี บางเสาธง บางบ่อ พระประแดง จังหวัดนครปฐม 3 อำเภอ อ.พุทธมณฑล สามพราน นครชัยศรี จังหวัดฉะเชิงเทรา คือ อ.เมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก 4 อำเภอ คือ อ.บางประอิน บางไทร ลาดบัวหลวง และวังน้อย
นอกจากนี้ ยังประกาศให้เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาสั่งการ อนุญาต หรือช่วยป้องกันแก้ไขปราบปราม ระงับ ยับยั้งสถานการณ์ และช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศ โดยให้ใช้กฎหมายประมาณ 18 ฉบับ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิ 1.พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการ กระทรวงกลาโหม 2551, 2.พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 3.พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 2522, 4.พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ 2530 5.พ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550, 6.พ.ร.บ.การควบคุมการโฆษณา โดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 ,
7.พ.ร.บ.การจราจรทางบก 2522, 8.พ.ร.บ.รถยนต์ 2522, 9.พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535, 10. พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน 2490 11.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 12.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิสมาคม, 13.ประมวลกฎหมายอาญา 14.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ
พร้อมกันนี้ การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จำนวน 18 ฉบับ โดยเพิ่มจากการประกาศในพื้นที่ กทม.ที่ผ่านมา จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานครอบคลุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ประกอบด้วย 15.พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน 2551, 16. พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง 2550, 17. พ.ร.บ.เครื่องวิทยุคมนาคม 2498, และ 18.พ.ร.บ.การเดินเรือในน้ำไทย 2456
นายปณิธาน กล่าวว่า จะมีการออกข้อกำหนดที่จะมาบังคับใช้ หลังจากที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จะประชุมกันในวันเดียวกันนี้ โดยจะเป็นเรื่องของการห้ามบุคคลใดเข้า-ออกจากบริเวณพื้นที่ที่กำหนด การห้ามอาวุธออกนอกเคหสถาน การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ และการปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวกับเครื่องมือ หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ตามชนิดประเภทที่ได้มีการกำหนดไว้
ส่วนวัตถุประสงค์หลักของการใช้ พ.ร.บ.ความรักษาความมั่นคง นั้น นายปณิธาน กล่าวว่า เพื่อดูแลรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มาชุมนุม ประชาชนตามชุมชนต่างๆ ประชาชนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล รวมถึงชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวด้วย โดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่นั้น จะไม่มีอาวุธ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามขั้นตอนกระบวนการที่ทาง กอ.รมน.และศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยจะได้กำหนดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนที่อยู่ในการปฏิบัติงานจะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.และจะทำงานร่วมกับหลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายประชาชนที่จะดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย
ทั้งนี้ ครม.มีความคิดเห็นว่า ในขณะที่มีการชุมนุมทางการเมือง จำเป็นต้องมีการสื่อสารและให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องของการปฏิบัติ ขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลจะได้นำแนวทางนี้ไปใช้ โดยเฉพาะในเรื่องคำพิพากษาของศาลปกครอง และในเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ในการจัดการบริหารการชุมนุม ตามบรรทัดฐานอยู่แล้ว
ส่วนจะให้วันที่ 12 มี.ค.เป็นวันหยุดหรือไม่นั้น นายปณิธาน กล่าวว่า ครม.พิจารณาว่าจะไม่ให้หยุด เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนกับผู้ประกอบการ ประชาชน และเกรงว่า จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นกังวล เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในสภาวะที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่รัฐมนตรีได้ให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาฯไปพิจารณา หากสามารถเลื่อนวันสอบในบางกรณีได้ และบางโรงเรียนก็เริ่มปิดแล้ว ดังนั้น ผู้ปกครองไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกังวล
ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครั้งที่ผ่านมา มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายเพียง 14 ฉบับ แต่ครั้งนี้ขยายเป็น 18 ฉบับ ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงาน ครอบคลุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ กฎหมาย 4 ฉบับที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ 1.พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2451 2.พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 3.พ.ร.บ.ควบคุมเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 4.พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498