xs
xsm
sm
md
lg

ไล่อุตสาหกรรมถ่านหิน..พ้นสมุทรสาคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
โดย ...... ศรีสุวรรณ จรรยา 
 นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่แล้ว ชาวบ้านหลายตำบลทั้งเกษตรกร ประมงชายฝั่ง-น้ำจืด และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากถ่านหินชุมนุมหน้าศาลากลาง เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร แก้ไขปัญหาเรือบรรทุกและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่ละเมิดกฎหมายหลายฉบับมาโดยตลอด

ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากการที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการคลังเก็บและคัดแยกถ่านหิน ได้แก่ ชาวประมงปากอ่าวมหาชัย ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก ต.โกรกกราก ต.ท่าฉลอม ต.ท่าจีน ต.ท่าทราย ต.บ้านบ่อ อ.เมืองฯ, ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว, ต.ท่าเสา และ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประมาณเกือบ 1,000 คน รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อร้องเรียนต่อนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เรียกร้องให้บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษจากถ่านหินตลอดระยะเวลา 5 ปี และปัญหามลพิษทางน้ำ

การชุมนุมดังกล่าวสืบเนื่องจาก ประชาชนในสมุทรสาครทั้งภาคประมง ภาคเกษตร ผู้ประกอบการ พ่อค้า และประชาชน ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบการนำเข้าถ่านหินมาจำหน่าย และเก็บกองไว้ในพื้นที่สมุทรสาครเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันนี้ และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ประกอบการนำเข้าถ่านหินรายใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้น มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ สนับสนุน และอนุมัติให้เกิดท่าเทียบเรือเพื่อขนส่งถ่านหินช่วยเหลือในการดำเนินการ แม้ว่าจะมีประชาชนออกมาต่อต้านและคัดค้านจำนวนมากตั้งแต่ปี 2549 แล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังเพิกเฉย ไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของประชาชนแต่อย่างใด

ผู้ประกอบการถ่านหิน ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อชุมชน และมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับในการขนถ่าย เก็บกอง หรือบำบัดของเสียอย่างเคร่งครัดตามกฎกติกาของกฎหมาย แต่กลับเจตนาละเลยประมาท เลินเล่อ มักง่าย ปล่อยทิ้งของเสียลงสู่ดิน แหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ถนนหนทาง โดยไม่มีการลงทุน ปรับปรุง แก้ไข หรือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชุมชนตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่าน โดยไม่มีความรับผิดชอบ และใช้วิธียอมเสียค่าปรับแทนการดำเนินการให้ถูกวิธีหรือกฎกติกา สร้างความเสียหายกับประชาชนและชุมชนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งสร้างมลภาวะที่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมอย่างมากมายมหาศาล หลายประการ

ผลกระทบที่สำคัญ คือ การปล่อยมลพิษลงในน้ำ อาทิ เรือบรรทุกถ่านหินล่มที่ปากอ่าวสมุทรสาคร ทำให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก และสัตว์น้ำบางประเภท เช่น ปลาทู ปลากระบอก กุ้ง หอยพิม ปู ปลา ลดน้อยลงไปจำนวนมากหลายเท่าตัว และสัตว์น้ำบางชนิดหายไปจากทะเลปากอ่าวสมุทรสาคร ทำให้ผู้ประกอบการประมงเดือดร้อน หาสัตว์น้ำได้ลดน้อยลงกว่าเดิมเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งการประมงน้ำจืดก็ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย เช่น ผู้เลี้ยงปลาสลิดเพื่อส่งออก เมื่อนำปลาสลิดมาตากแห้งก็มีผงฝุ่นจากถ่านหินเกาะเปื้อน มีสารพิษตกค้าง เกิดปัญหาในการส่งออกสินค้า แหล่งน้ำคูคลองสกปรก และมีสารพิษตกค้างในแหล่งน้ำมากขึ้น เป็นสาเหตุให้วัฏจักรของสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ทำให้สัตว์น้ำเกิดการสะสมสารพิษมากขึ้น สัตว์น้ำอาจสูญพันธุ์ หรือหากมีผู้บริโภคเข้าไป อาจได้รับอันตรายหรือตายผ่อนส่งได้

นอกจากนั้น มีผลกระทบทางอากาศอีกมากมาย ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของผงฝุ่นละอองถ่านหินจำนวนมาก ประชาชนผู้อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อน รำคาญ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และบ้านเรือนสกปรก สุขอนามัยในการอยู่อาศัยไม่ดีพอ คุณภาพชีวิตตกต่ำ เพิ่มภาระในการเก็บกวาดเช็ดถูทำความสะอาด ไม่สามารถรองน้ำฝนจากหลังคามาดื่มกินได้ดังเดิม ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มมาบริโภค เสียเวลาและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย

ผลกระทบทางอากาศที่สำคัญ คือ ถ่านหินเมื่อโดนความร้อน ก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) หากโรงงานอุตสาหกรรมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงมากเท่าใดก็จะก่อให้เกิดก๊าซนี้ในอากาศมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน เกิดฝนกรด เป็นผลเสียต่อผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องการน้ำและอากาศที่ดีอย่างมาก เพื่อจะได้ผลผลิตที่ออกมามีทั้งคุณภาพและปริมาณที่ดี และมีราคาเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพื่อการส่งออก ดอกมีผงฝุ่นถ่านหินเกาะ หรือเกิดมีฝนกรดจะทำให้เน่าเสียหาย เกิดโรคต่างๆ มากมาย ความต้านทานต่อโรคแมลงลดลง เพราะกล้วยไม้เป็นพืชที่เปราะบางต่อโรคแมลง สภาวะอากาศและน้ำต้องดีมาก จึงจะให้ผลผลิตที่ดี อีกทั้งเป็นพืชที่มีราคาสูง การลงทุนสูง หากเกิดสภาวะสิ่งแวดล้อมเกิดมลภาวะเป็นพิษขึ้นในอนาคต ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ๆ มีโรงงานถ่านหิน ประชาชนผู้อยู่อาศัยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา มีสุขภาพอ่อนแอ ภูมิต้านทานโรคลดลง ในระยะยาวก่อให้โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ ผื่นคัน ไอ จาม โรคปอดเรื้อรัง มะเร็งปอด ฯลฯ เนื่องจากได้รับผงฝุ่นละอองจากถ่านหินเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายสะสมสารพิษ และอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีปริมาณที่มากขึ้นสะสมเป็นประจำเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้อีก

ผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจเมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพ ประมง เกษตร และอื่นๆ ได้ตามปกติสุขได้ ก็จะทำให้รายได้ลดลง หรือไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาภายในครอบครัว สังคม และประเทศชาติอีกมากมายอย่างแน่นอน แหล่งน้ำและแหล่งอาหารมีปัญหา เพราะทำให้น้ำไม่สะอาด สัตว์น้ำไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แหล่งอาหารของมนุษย์ลดน้อยลงไป หรืออาจจะไม่มีอีกต่อไปในอนาคต ผู้บริโภคกลัวและไม่กล้าบริโภคสัตว์น้ำ และจำหน่ายสัตว์น้ำไม่ได้อีก เพราะไม่มีใครซื้อโครงการกินอาหารทะเลที่สมุทรสาครอีกต่อไป ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพค้าอาหารทะเลจำนวนมากอย่างแน่นอน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก จากผงฝุ่นละอองของถ่านหินและมีของเสีย กากสารพิษเป็นเถ้าถ่านเหลือจากการเผาไหม้จากเชื้อเพลิงถ่านหินของโรงงานอุตสาหกรรม ที่กระจายลงสู่แหล่งน้ำ ถนน คู คลอง อากาศ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย นับว่าเป็นพลังงานสกปรกที่สุด ยิ่งกว่าน้ำมัน ก๊าซต่างๆ และฟืน ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้ใช้พลังสะอาด แทนพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษและสภาวะโลกร้อน แสดงให้เห็นว่าหน่วยราชการในสมุทรสาครไม่มีวิสัยทัศน์และไม่เห็นความสำคัญของการช่วยลดภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด ใช้ข้ออ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้เชื้อเพลิงและน้ำมันแพงให้กับโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่ออาชีพ และประชาชนส่วนใหญ่ของสมุทรสาครที่ประกอบอาชีพอื่นๆ เลยถือเป็นข้ออ้างที่เห็นแก่ตัว และมีผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่มีหลักธรรมาภิบาลในการปกครองที่ดีแต่อย่างใด

ปัญหาทั้งปวงดังกล่าว กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มเกษตรกรชาวสวน และไม้ผล ไม้ตัดดอก จึงได้รวมตัวกันออกมาประท้วงแสดงพลังให้หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นและเข้าใจปัญหามากขึ้น และคาดโทษหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่ไม่ยอมรู้ร้อนรู้หนาวไปกับปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าจะต้องถูกเล่นงานจนถึงที่สุด เหมือนกรณีตัวอย่างที่ชาวตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองไปแล้ว เพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องละเว้นเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎหมาย

เรื่องนี้ยังไม่จบง่าย ๆ แน่ ยังมีชาวตำบลสวนส้ม อ.บ้านแพ้ว และชาวประมงพื้นบ้านปากอ่าวในพื้นที่สมุทรสาคร ยังต้องการการคุ้มครองทางอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับคืนมา โดยใช้กระบวนการทางศาลปกครองและศาลอาญา หากหน่วยงานรัฐยังท้าทายกฎหมายอยู่ ไม่นานเกินรอครับ

เผยแพร่ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2011 โดยเวปไซต์ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น