ญาติวีรชนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติถอดถอน “ชายอำมหิต” ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังมีความพยามล็อบบี้ล้มมติถอดถอน เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่นักการเมือง ไม่ใช่แค่ลาออกแล้วพ้นผิด
วันนี้ (8 มี.ค.) ตัวแทนผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จากการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ ได้ทำหนังสือเรียนสมาชิกวุฒิสภา เรื่องเพิ่มข้อเท็จจริงในการขอความเป็นธรรมอีกครั้ง เพื่อถอดถอน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากประธานวุฒิสภา จะจัดให้มีการประชุมสมาชิกวุฒิสภาเพื่อลงมติถอดถอน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 273 ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2553 นั้น
โดยเนื้อหาระบุว่า ข้าพเจ้าตามที่ปรากฏรายนามด้านล่าง จะเป็นตัวแทนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ พิการ และญาติของวีรชนผู้เสียชีวิต จากการกระทำของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐได้สลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของมาตรฐานสากล อีกทั้งยังได้เจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ทำการยับยั้ง หรือสั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐให้ยุติการกระทำอันรุนแรงเกินกว่าเหตุซ้ำกันหลายครั้งและเป็นเวลาหลายชั่วโมง ตลอดตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงกลางคืน ด้วยการใช้อาวุธและระเบิดแก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ร่างกายผู้ชุมนุมโดยตรง เพื่อสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ขอความวิงวอนต่อท่านสมาชิกวุฒิสภาได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับพวกข้าพเจ้าและครอบครัวตามเหตุผลดังนี้
1.การถอดถอนเป็นมาตรการลงโทษของรัฐสภา เพื่อให้มีผลต่อการหยุดดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และแม้มีการลงโทษด้วยมาตรการดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะเทียบกับความเสียหายจากการสูญเสียอวัยวะ สูญเสียชีวิต และทุพพลภาพ ของพวกข้าพเจ้าได้
2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่ 3 ได้บัญญัติการถอดถอนออกจากตำแหน่งเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นเพียงมาตรการทางการเมืองที่จะกันคนที่ “ส่อว่า” ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็สามารถถอดถอนได้ทันที ซึ่งมีความแตกต่างจากจากความผิดทางอาญาที่จะต้องพิสูจน์จนสิ้นข้อสงสัย
3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ชี้มูลความผิดแล้วว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ชุมนุม ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นผลทำให้มีประชาชน บาดเจ็บ แขนขาขาด ล้มตาย และเมื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ทราบว่าเกิดความรุนแรงจนมีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จนถึงขั้นแขนขาขาด ตั้งแต่เช้ามืด ก็ไม่ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการกระทำ กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำด้วยความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับเป็นเวลานานตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน
4.การที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อ้างว่า ตอนสายวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้เดินทางเข้าไปที่รัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายนั้น ไม่ได้ล่วงรู้ว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 06.15 น.และอ้างว่าไม่ได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีความสอดคล้องกับความเป็นกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จแล้วจะออกจากอาคารรัฐสภา ก็เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะต้องสลายการชุมนุมอีกรอบ จึงอุตส่าห์ใช้วิธีปีนกำแพงหนี พร้อม น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นบุตรสาวของตัวเอง จึงย่อมแสดงว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ทราบอยู่แล้วว่ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนคนไทยเกือบทุกคนได้รู้ว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แม้ในรัฐสภาสมาชิกวุฒิสภา นางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายประสงค์ นุรักษ์ ได้พูดในรัฐสภาอย่างชัดเจนว่ามีคนบาดเจ็บ ล้มตายอยู่ด้านนอก จนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องหยุดอ่านอยู่ชั่วขณะ หลังจากนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ยังคงเร่งรีบอ่านแถลงโนบายต่อรัฐสภาต่อไปจนเสร็จสิ้น ย่อมพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทราบดีอยู่แล้วว่ามีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่ด้านนอกรัฐสภา
5.การที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อ้างว่าได้มอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
และ ผบ.ตร.เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นกัน ตัวเองจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้น ในความเป็นจริง พลเอกชวลิต ได้ลาออกจากรองนายกฯ เมื่อเวลา 09.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แล้ว ความรับผิดชอบจึงกลับคืนไปสู่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และจากข้อเท็จจริงก็ยังพบอีกว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เรียก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มาสั่งการตั้งแต่คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 แล้ว
6.การที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้อ้างว่า ไม่มีสั่งการ เพราะยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น ในความเป็นจริง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ดังจะเห็นได้จากมีการสั่งการให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ให้สลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แม้ในตอนสายของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ภายหลังจากที่ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในช่วงเช้าเสร็จสิ้นแล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ไม่ได้สั่งการให้ยุติความรุนแรงอยู่ดี กลับปล่อยให้เกิดความรุนแรงต่อไปจนถึงกลางคืน จนเกิดความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จึงย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน
7.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อ้างว่า ศพของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ
(น้องโบว์) มีคราบซีโฟร์อยู่ ซึ่งแสดงว่าเสียชีวิตจากอาวุธที่ชุมนุมพกพาไปเองนั้น เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริงก็ปรากฏเป็นหลักฐานและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวช อันได้แก่ พล.ต.อ.นพ.วิชาญ เบี้ยวนิ่ม พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา และ พ.ต.ท.กำธร อุ้มเจริญ ต่างยืนยันว่า สาเหตุการตายของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ คือ แก๊สน้ำตาที่ผลิตในจีน บรรจุวัตถุระเบิดแรงสูง มีสารอาร์ดีเอ็กซ์ และซีโฟร์ ประกอบอยู่ด้วย สภาพบาดแผลของนางสาวอังคณา เกิดจากแรงระเบิดที่ใกล้ตัว แต่ไม่ประชิดตัว การหักของกระดูกซี่โครงยาวตลอด 12 ซม.เป็นลักษณะถูกอัด หรือ แรงกระแทกภายนอก หากเป็นระเบิด ประชิดตัว ซี่โครงจะแตกเป็นชิ้น กระเป๋าสะพายของนางสาวอังคณา ยังคงสภาพดี โทรศัพท์มือถือ ยังคงใช้งานได้ ในขณะตรวจพิสูจน์
ในความเป็นจริงแล้วการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องกระทำในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หรือ ต้องกระทำที่รัฐสภา ดังจะเห็นได้จาก รัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้เลือกที่จะแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศแทนการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาซึ่งไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียและเสียหายแต่ประการใด
ข้าพเจ้าจึงขอวิงวอนอีกครั้งจาก ฯพณฯ ประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา ได้ให้ความเป็นธรรมกับข้าพเจ้าและครอบครัว ขอได้โปรดลงมติเพื่อถอดถอน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพื่อลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างและสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน ตลอดจนสร้างบรรทัดฐานมิให้การกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนทำให้ประชาชนผู้รักชาติต้องสูญเสียอวัยวะและชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้ต้องเกิดขึ้นอีกต่อไปในอนาคต
การถอดถอน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนั้นจำเป็นต้องมีเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 90 คน จากจำนวนทั้งหมด 150 คน แต่พวกข้าพเจ้าและครอบครัวมีความไม่สบายใจ เมื่อได้ทราบข่าวว่ามีการชักจูงหว่านล้อมให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่ถอดถอนโดยเห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าความสำคัญในการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งการถอดถอนครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นการดำเนินการของการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งมีผู้เข้าชื่อถึง 24,489 คน นำโดย รองศาสตราจารย์ จิราภรณ์ ลิ้มประณานนท์ พวกข้าพเจ้าและครอบครัว จึงได้แต่หวังในเกียรติ ศักดิ์ศรี และจิตสำนึกของท่านสมาชิกวุฒิสภาทุกท่านที่จะยืนอยู่บนความถูกต้องชอบธรรมในการลงมติถอดถอนครั้งนี้ ซึ่งจะถูกบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์สืบไป
ขอแสดงความนับถือ
ตัวแทนผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต
จากการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย