เป็นเวลาสองเดือนเศษ นับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กว่าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะสรุป และส่งผลการสอบสวนเรื่อง “ความรุนแรงและการสูญเสียจากกรณีการสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 7 ตุลาคม 2551” ให้กับคณะกรรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายสูญเสีย คับแค้น ข้องใจ ทนทรมานทั้งกาย-ใจมานานแล้ว บัดนี้ นักการเมือง-คนสั่งการ-เจ้าหน้าที่ตำรวจและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรถึงเวลาที่พวกเขาจะได้รับผลแห่งการกระทำของตนแล้ว
“การระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการเล็งปืนเข้าสู่เป้าหมายคือประชาชนโดยตรง หรือเป็นการขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง รวมทั้งการลอบยิงออกมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลคือ อาจทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ โดยมีวัตถุพยานที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากซึ่งบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกภาพการสลายการชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน นับเป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ทั้งหมดนี้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,295,297,288,289,83”
คณะกรรมการสิทธิฯ สรุปผลการสอบสวนและชี้ความผิดเอาไว้ชัดเจน!
จากนี้ ซึ่งคงอีกไม่นาน ความกระจ่างชัด ความจริงจะปรากฏขึ้นเรื่อยๆ
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. บอกว่าจะเอาสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสิทธิฯ มารวบรวมกับที่ ป.ป.ช.ที่ทำไว้แล้วคาดว่า กลางเดือนมกราคมนี้จะทราบว่าเอาผิดใครได้
“คณะกรรมการสิทธิฯ มีหลักฐานจากซีดี วีซีดี เป็นจำนวนมากได้มาจากภาคเอกชนที่ถ่ายทำไว้ดีมาก ซึ่งจะถ่ายทุกขั้นตอน ตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ เดินทางมาปิดล้อมบริเวณหน้ารัฐสภา จนถึงช่วงเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผลการสอบสวนของ ป.ป.ช.เป็นอย่างมาก”
ย้อนเวลานึกถึงวันนั้น ใครจะคาดคิดว่าประชาชนที่เรียกร้องต่อสู้เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณเพียงเพื่อคนคนเดียว!
ต้องไม่ลืมว่า เหตุการณ์เช้าตรู่ของวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลัง อาวุธหนัก และแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่เข้าร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถีและถนนอู่ทองในรอบๆ รัฐสภา ลามมาถึงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และ บริเวณถนนศรีอยุธยาด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาลต่อเนื่องบ่ายและค่ำ ตามลำดับ เป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตด้วย เป็นความจริงที่ไม่สามารถพูดอะไรได้มากกว่าความเศร้าสะเทือนใจอย่างที่สุด
ทว่า เพียงวันเดียวหลังจาก 7 ตุลาฯ สิ่งที่ประชาชนทั่วไปได้เห็นและรับรู้ก็คือ รัฐบาล นายตำรวจใหญ่ สื่อมวลชนบางค่ายและคนที่มีอคติต่อพันธมิตรฯ กลับมองและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไม่รู้สึกละอายแก่ใจ
“ผู้ชุมนุมพกระเบิดมาเอง” “คนขาขาดคือขอทานพิการอยู่แล้ว” “แก๊สน้ำตาไม่ได้ทำให้คนเสียชีวิต” และอีกหลายต่อหลายกรณีที่ถูกแต่งเติมออกมาจากสมองของคนบาปพวกนี้
การบิดเบือนเหล่านี้ดำรงคงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการให้สัมภาษณ์ การนำเสนอข่าวหรือการแพร่กระจายข่าวต่อๆ กันไปจากวันนั้นจนถึงวันนี้
นอกจากซีดี วีซีดี ผลสอบของกรรมการสิทธิฯ คือ ข้อมูลสำคัญที่จะตอบโต้ และพิสูจน์ความจริงให้สาธารณะได้รู้ตามที่ท่านกรรมการ ป.ป.ช. ว่าไว้ ต้องนับรวม “คำให้การหรือบอกเล่า” ของผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ
เนื่องเพราะผู้อยู่ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคมคือคนที่จะยืนยันและเห็นในสิ่งซึ่งหลายคนอาจไม่ได้เห็น เมื่อพวกเขาถ่ายทอดเรื่องราวออกมาย่อมน่าสนใจยิ่ง ความบริสุทธิ์และไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรให้เคลือบแคลงสงสัย กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีกว่าการรายงานของสื่อมวลชนด้วยซ้ำ
คนเหล่านี้เลือกจะบันทึกเรื่องราวของตนไว้ตั้งแต่ในสมุดโน้ต ไดอารี่ส่วนตัว หรืออะไรก็ตามที่เทคโนโลยีจะเอื้ออำนวยให้เก็บข้อมูลไว้ได้ ซึ่งก็รวมถึงอินเทอร์เน็ต ในรูปของสิ่งที่เรียกว่า “เว็บล็อก (Weblog)” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า บล็อก (Blog)
ในบล็อก เรามักจะได้อ่านและเห็นคลิปวิดีโอที่ต่างออกไปจากข่าวกระแสหลัก จากการชุมนุมของพันธมิตรฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ASTV ผู้จัดการ” เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงพันธมิตรฯ ได้มากที่สุด
บล็อกของเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ส่วนหนึ่งก็เป็นแหล่งรวมข้อมูลของผู้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาฯ หรือร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ มาอย่างต่อเนื่อง
พวกเขาเขียนบันทึกจากความเป็นจริงที่เห็นและสัมผัส หลายเรื่องสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก คุณค่าความเป็นมนุษย์ การให้ความเคารพ คำสดุดีแด่วีรชนและเรื่องราวมากมายที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริง
ยกตัวอย่างเช่น “…เราเห็นกับตาว่าคนที่แต่งกายแบบตำรวจ ทำร้ายประชาชนบาดเจ็บ มีผู้หญิงตาย 1 คน มีคนขาขาด มีคนแขนขาด เราพยายามโทร.ตามหาเพื่อนๆน้องๆ ที่เป็นทหารด้วยกัน และคุมกำลัง ขอร้องให้ออกไปช่วยประชาชน…”
เมื่อรวมกันหลายๆ คนหลายๆ เรื่อง ผู้อ่านก็จะต่อภาพรวมได้ตามทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
นี่จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรมองข้าม และอาจจะทรงคุณค่าเสียยิ่งกว่าข้อมูลจากสื่อเสียด้วยซ้ำ.