“อานันท์” ห่วงแก้มาบตาพุดช้า เศรษฐกิจพัง- ตกงานนับหมื่น แนะรัฐสร้างความเชื่อใจกับประชาชน วอนทุกฝ่ายช่วยกันอย่าหวังพึ่งรัฐฝ่ายเดียว ภาคเอกชนต้องลุยเอง ชี้ผู้นำที่ดีต้องทำได้อย่างที่พูด
ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อเวลา 20.30 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมงานวันนักข่าวประจำปี 2553 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดขึ้น โดยโอกาสนี้นายอานันท์ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหาการลงทุนกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า นายอภิสิทธิ์ ถือเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบโดยตรง ดังนั้นค่อนข้างกระดากที่จะเป็นผู้นำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำด้านใดก็ตาม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อื่นๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีวุฒิภาวะด้านใดด้านหนึ่ง การจะเป็นผู้นำที่ดีนอกจากความประพฤติดี มีวิธีคิดดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่พูดเก่งอย่างเดียวหรือมีนโยบายดีอย่างเดียว แต่ต้องจับตามองเรื่องผลงาน ปฏิบัติตามที่ตัวเองพูดและคิดหรือเปล่า
นายอานันท์ กล่าวว่า ผู้นำทางเศรษฐกิจ สังคมการเมืองคงแยกกันไม่ออก เพราะสังคมปัจจุบันแบ่งแยกกันไม่ได้ มีความเกี่ยวพันกันตลอดกาล แต่ต้องคิดอะไรมาก่อนมาหลัง ผู้นำทางการเมือง หัวหน้ารัฐบาลหน้าที่ความรับผิดชอบคืออะไร พูดง่ายต้องเป็นบริกรที่ดี ทั้งด้านการสร้างงานพัฒนาเศรษฐกิจและอีกมากมาย สังคมไทยยังไม่ยอมรับรัฐบาลคือบริกร หน้าที่ของรัฐคือเป็นผู้ให้บริการกับประชาชน อยู่ในสิ่งที่เราจัดทำ จัดสร้าง จัดหา อยู่ที่ว่าสิ่งนั้นถูกใจประชาชนหรือเปล่า ซึ่งจะทำให้สังคมสงบยั่งยืนแค่ไหน อยู่ที่ตรงนั่น สิ่งที่เราทำพูด คิดเป็นประโยชน์กับส่วนรวมหรือเปล่า ปัจจุบันชื่อเสียงการเมืองแทบจะเป็นสูญ ด้านธุรกิจก็ไม่ค่อยดี สภาก็ไม่ดี สุดท้ายความสำเร็จผู้นำอยู่ที่ประชาชนเขาเชื่อใจ ไว้วางใจเท่าใด เราทำให้เขาผิดหวังหรือเปล่า หากเขาไว้ใจการทำงานจะสะดวกขึ้นมาก
นานอานันท์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนักการเมืองไม่น้อยที่เข้ามาทำผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อพรรคการเมือง เพื่อคนใกล้ชิด เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ วันนี้ทุกคนทราบดีมาบตาพุดมีปัญหาอย่างไร คำถามคือเกิดจากไหน จุดเริ่มต้นอยู่ที่ใด และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะคนหรือเหตุผลอื่น ที่มีความสำเร็จในมาบตาพูดถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลชุดนั้น ส่วนใหญ่ข้าราชการสภาพัฒน์เป็นผู้ชงมา แบบแปลนค่อนข้างดี มีการแบ่งชัดเจนโรงงานอยู่ที่ใด ชุมชนอยู่ที่ใด เวลาผ่านไป 20 ปี บางทีวางแผนดี แต่ปฏิบัติแล้วไม่เป็นไปตามแผน ไม่ช้าไม่นานก็มีการขยับขยายสมคบกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รัฐบาล การบุกรุกพื้นที่สีเขียว พื้นที่กันชนวันนี้แทบไม่มี ชุมชนอยู่ติดกับโรงงาน โรงงานไม่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งที่สัญญาโรงงานทำจริงหรือเปล่า รัฐไม่ได้ติดตาม การเฝ้าระวังเฝ้ามองไม่มีระบบ ต่างคนต่างทำ คนในสังคมสูงอาจเป็นผู้ร้ายน้อยที่สุด
“ปัญหามาบตาพุดไม่ได้เกิดเมื่อสามปีที่แล้วแต่เกิดมาสิบปีแล้ว ไม่ว่าการเดินขบวนโดยกลุ่มประชาชน เอ็นจีโอหัวหอกใหญ่ รัฐในอดีตไม่ได้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐานไม่ได้แก้ที่รากเหง้า ส่วนใหญ่ติดพาสเตอร์ ทายาแดง แค่การบรรเทาความทุกข์ ชั่วคราวเท่านั้น”นายอานันท์ กล่าว
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า องค์กรอิสระทำหน้าที่แค่ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ประกอบการพิจารณาของรัฐบาล อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐจัดเวทีให้สองฝ่ายมาตีกัน การมีส่วนร่วมต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกในกระบวนการพิจารณา ส่วนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอันนั้นเป็นปลายทาง แต่เรายังเป็นสังคมที่ยังอยู่ในจังหวะของการเรียนรู้ ทางฝ่ายภาคประชาสังคมบางที่ก็ไม่รู้ต้องการอะไรกันแน่ อันนี้คงเป็นปัญหาที่จะตกไปอยู่ในสังคมไทยไปอีกนาน คณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่นายกฯตั้งขึ้นมาที่ตนเป็นประธานคล้ายกับว่าจ้างให้เราเขียนแบบ แต่เราอาจมีข้อบกพร่องแบบนี้จะสำเร็จผลได้อยู่ที่การปฎิบัติ เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคดี
นายอานันท์ กล่าวว่า ตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่จะต้องมีกลไก 4 ขา 1.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ 2.การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอ ออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ไปแล้ว 3.การรับฟังความคิดเห็น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้ยังมีปัญหาการทำความเข้าใจเท่านั้น และ4.องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เชื่อว่าจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาสมัยนี้ อย่างไรก็ตามต้องใช้เวลา 1 ปี ซึ่งความล่าช้าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทำให้ชะงักงัน ไม่ได้เสียหายทางภาคธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น เพราะจะมีปัญหาการว่างงานเป็นหมื่นคน เสียหายด้านจิตใจ ทุกฝ่ายได้รับความเสียหาย รัฐบาลก็เสียหาย เป็นปัญหาประเทศ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทางคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกำลังเร่งจัดตั้งองค์การอิสระชั่วคราวให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ไปเมื่อกลไกทั้ง 4 เริ่มทำงานถือว่าเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ในการทำงานทั้งภาคราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอุตสาหกรรม
“ผมหวังว่านายกรัฐมนตรี รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ จะสามารถกลับตัวทัน มีทัศนคติในการทำงานแบบกระตือรือร้น เอาใจใส่จริงจัง ไม่คดโกง เมื่อถึงวันนั้นผลงานจะประจักษ์ เมื่อถึงเวลานั้นพวกเราจะนอนตาหลับ เพราะจะเกิดปัญหาอย่างมาบตาพุดเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย จะเป็นจุดเปลี่ยน ประชาชนจะไว้ใจรัฐบาล”นายอานันท์กล่าว
นายอานันท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สิ่งที่ทางรัฐบาลจะต้องดำเนินการไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหามาบตาพุด แต่ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการลดมลภาวะทั้งระบบ ทำตามกฎหมายไม่พอ ต้องทำมากกว่ากฎหมายด้วยความจริงใจ เพื่อให้เกิดความสุข ความจริงใจก็จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้โรงงานหรือบริษัทเอกชนปล่อยมลพิษจะต้องจ่ายภาษี ขณะที่โรงงานหรือบริษัทที่ไม่ปล่อยมลพิษควรได้สิทธิพิเศษเพื่อนำไปสู่การไม่สร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้นแบบมาบตาพุดอีก โรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถ้าตนอยากเห็นภาคเอกชนเอาจริงเอาจัง หากรัฐบาลหน่อมแน้มภาคธุรกิจต้องเป็นฝ่ายบุก อย่าหวังพึงรัฐบาลฝ่ายเดียว ทุกคนต้องตื่นตัว เตรียมตัวทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความรับผิดชอบ